ศิริกัญญา จี้รัฐบาลเปิดแผนกู้เงินแก้ ‘วิกฤตทรัมป์’ ค้านกู้มาแจก เย้ย‘นายกฯอิ๊งค์’ไม่กล้ายุบสภาเหตุคะแนนนิยมต่ำ พร้อมรับสภาพคดี 44 สส.ผิดจริยธรรม เปลี่ยนคณิตศาสตร์การเมือง ยันเตรียมรับทุกสถานการณ์ เชื่อในความบริสุทธิ์
เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2568 ที่รัฐสภา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีรัฐบาลเตรียมกู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาสู้กำแพงภาษีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ว่า จริงๆ รัฐบาลน่าจะยังไม่ได้ระบุแหล่งที่มาของเงิน 5 แสนล้านบาทว่าจะมาจากการกู้หรือไม่
เพราะหลังจากนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ออกมาพูดเรื่องตัวเลข 5 แสนล้านบาท ที่จะเป็นแพ็กเกจกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน ก็มีความเห็นจากนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ว่าอาจจะใช้เม็ดเงินที่อยู่ในปีงบประมาณ 2568 ที่เตรียมไว้สำหรับทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1.5 แสนล้านบาทด้วย ซึ่งอาจทำให้หากต้องกู้จริงๆ กู้น้อยลง หรืออาจไม่จำเป็นต้องกู้เลย เพราะเรามีเม็ดเงินเหลือจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอยู่
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า หากมีการจัดงบในปี 68 ใหม่อีกสักรอบ ก็อาจจะได้มา 5 หมื่นล้าน-1 แสนล้านบาท แต่งบประมาณก้อนใหญ่ที่จะดใหม่ได้เลยตอนนี้ คืองบประมาณปี 69 และเตรียมเม็ดเงินที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะถดถอย และชะลอตัวในช่วงสงครามทางการค้า
ทั้งนี้ หากสามารถจัดใหม่ จะได้เพิ่มประมาณ 3 แสนล้านบาท ก็ไม่จำเป็นต้องกู้ แต่แม้จะได้ไม่ถึง เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลเอางบประมาณปี 69 กลับไปปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป หากจะนำเข้าสภาฯ ช้าไปอีก 1-2 สัปดาห์ ก็คิดว่าสภาฯ ไม่มีปัญหาที่จะต้องใช้เวลาลดลงในการพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการ
เมื่อถามว่าเงิน 5 แสนล้านบาทที่รัฐบาลจะกู้นั้น จะสามารถแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ยากที่จะบอก เพราะเขายังไม่ได้ระบุรายละเอียดอะไรเลย เช่น จะนำไปใช้ทำอะไร ที่ต้องบอกเช่นนี้ เพราะเรามีประสบการณ์มาแล้ว หากเลือกวิธีการกระตุ้นผิด ผลก็จะไม่เกิด เช่น กรณีแจกเงินหมื่นครั้งแรกที่ใช้เม็ดเงิน 1.45 แสนล้านบาท แต่เราไม่เห็นว่าจะทำให้จีดีพีโตขึ้น ตามที่รัฐบาลเคยให้สัญญาไว้
ดังนั้น วิธีการจึงสำคัญมาก ว่าเงิน 5 แสนล้านบาทจะไปทำอะไร ด้วยวิธีการไหน จะกระตุ้นด้วยวิธีการใด ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ และรัฐบาลยังบอกด้วยว่าอยากกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับไปเป็นตามเป้าคือ 3% ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก จากที่ไอเอ็มเอฟประเมินว่าอยู่ที่ 1.8% แล้วจะให้ขึ้นไปเป็น 3% มันต้องใช้เม็ดเงินมากกว่า 5 แสนล้านบาท แต่หากจะประคองไม่ให้ตกมากเกินไป อยู่ที่ 2% นิดๆ ตนคิดว่า 5 แสนล้านบาทนั้น ทำได้แน่นอน
เมื่อถามว่จะเชื่อมือรัฐบาลได้อย่างไรว่าการกู้มาจะมีประสิทธิภาพ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เชื่อไม่ได้ เราไม่สามารถเชื่อใจรัฐบาลได้เลยว่า หากกู้มาแล้วจะไม่นำมาแจกเหมือนเดิมหรือไม่ ต้องใช้พลังจากประชาชนและฝ่ายค้านที่จะกระตุ้นเตือนรัฐบาลว่า ก่อนที่จะคิดกู้เงินใหม่หรือขยายเพดานหนี้สาธารณะนั้น ช่วยประกาศแผนที่ชัดเจนกับพวกเราก่อนว่าตอนนี้รัฐบาลมีความจำเป็นที่ต้องใช้เงินในเรื่องใด จะนำไปใช้อะไรบ้าง
หากเป็นเรื่องการเยียวยา จะเยียวยาใครบ้าง ด้วยวิธีการใดหรือหากเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจจะกระตุ้นประเด็นใด จะกระตุ้นการบริโภคหรือการลงทุน และด้วยวิธีการใด สุดท้ายเราเชียร์เต็มที่ หากรัฐบาลอยากได้งบประมาณไปใช้ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งอยากได้แผนเช่นเดียวกันว่ารัฐบาลมีแผนในใจอย่างไร ต้องทำเช่นนี้เท่านั้น เราจึงจะไว้วางใจรัฐบาล ให้กู้เงินเพิ่มหรือขยายเพดานหนี้สาธารณะ
เมื่อถามถึงกระแสข่าวการเลื่อนเจรจาภาษีกับทรัมป์ของรัฐบาล ฝ่ายค้านมีข้อสังเกตอย่างไรบ้าง น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เราได้ติดตามอย่างใกล้ชิดเช่นกัน รวมถึงติดตามความคืบหน้าในการเจรจาของหลายประเทศ แต่เมื่อมาดูของไทย เราพบว่ายังมีความสับสนอยู่ตลอดเวลา ในเรื่องกำหนดการที่จะไปเจรจา
แต่ที่เลวร้ายกว่านั้นคือ การที่นายกฯและรมว.คลัง ยังพูดขัดกันเอง เพราะนายกฯ ระบุว่าที่ต้องเลื่อนเจรจา เพราะมีเอกสารข้อมูลบางอย่างที่ต้องเตรียมเพิ่มเติม แต่รมว.คลัง บอกว่าเราไม่รีบ เราจะรอเป็นคิวกลางๆ เพื่อดูการต่อรองของการเจรจาของประเทศอื่นก่อน
หากนายกฯ ไม่พูดอะไรก่อนหน้านั้น รมว.คลังพูดคนเดียวเราก็อาจเชื่อว่าการเจรจามีการวางยุทธศาสตร์เช่นนั้นจริงๆ และจะเชื่อมากกว่านี้จริงๆ หากรมว.คลังบอกมาเลยว่าจะเจรจาวันไหน อาจจะเป็นเดือนพ.ค. หรือเดือนมิ.ย.ก็ได้ แต่ขอให้บอกมาเลยว่ามีการวางแผนไว้แล้วจริงๆ หรือรอดูท่าทีของประเทศอื่นก่อน
“เมื่อนายกฯ พูดอย่าง รมว.คลังพูดอย่าง และยังไม่มีการกำหนดแผนที่ชัดเจนออกมา ดิฉันก็มั่นใจแล้วว่าเอาเข้าจริงแล้วรัฐบาลยังไม่ได้คอนเฟิร์มวันนัดกับทางสหรัฐฯ และเมื่อนัดไปแล้วแต่เขายังไม่ตอบรับ เมื่อใกล้วันแล้วจึงจำเป็นต้องเลื่อนกำหนดการออกไป จนกว่าสหรัฐฯ จะตอบกลับมาอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่” น.ส. ศิริกัญญา กล่าว
จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลสื่อสารกับเราอย่างตรงไปตรงมาว่าจริงๆ แล้วติดปัญหาอะไร ทำไมสหรัฐฯ จึงยังไม่ตอบรับเราเพราะประเทศรอบบ้านเราก็ไปเจรจากันหมดแล้ว ได้คุยหมดแล้ว บางเจ้าก็ได้เจรจาเข้ารอบ 2 ไปแล้ว เราไม่ได้บอกว่าต้องรีบ เรายังเชื่อกลยุทธ์ของรัฐบาล เพียงแค่ต้องทำให้เรามั่นใจว่าอะไรที่ติดขัดจะสามารถแก้ไขได้ และยืนยันกับเราได้ว่าสรุปแล้วกำหนดการที่แท้จริงควรเป็นเมื่อไรกันแน่ สหรัฐฯ มีปัญหากับเราหรือไม่ เพื่อทำให้เราเข้าสู่การเจรจาได้อย่างราบรื่น
ต่อข้อถามว่ามีนักวิชาการประเมินว่าการที่สหรัฐฯ ไม่ยอมตอบรับเป็นเรื่องปัญหาทางการเมือง เช่นกรณีการส่งตัวชาวอุยกูร์กลับจีน หรือการจับกุมนักวิชาการชาวสหรัฐฯ ซึ่งรัฐบาลยังไม่มีการชี้แจงเรื่องนี้อย่างชัดเจน น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ตนคิดว่าสิ่งที่นักวิชาการคาดการณ์ก็เป็นไปได้ ที่ทำให้สหรัฐฯ มีท่าทีกับเราเช่นนี้
อย่าลืมว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็มีผลกระทบต่อด้านเศรษฐกิจได้เช่นกัน เพราะมีรัฐมนตรีของสหรัฐฯ หลายคนแสดงท่าทีไม่พอใจหลังการส่งชาวอุยกูร์กลับจีน จึงคิดว่านี่เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สหรัฐฯ ยังไม่เดินหน้าเจรจากับเรา จนกว่าจะได้รับคำอธิบายจากประเทศไทยก่อน
เมื่อถามว่าสังคมจะยังมีความเชื่อมั่นต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจอยู่หรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เมื่อบอกว่ายอมให้รัฐบาลกู้เงิน ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจและความเชื่อมือว่าปล่อยให้รัฐบาลทำแล้วจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่อยากได้ ทั้งนี้ ได้แต่ปลอบใจตนเองว่าไม่มีทางเลือกมากนัก
แม้จะคิดอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ยุบสภา แต่เชื่อว่านายกฯ คงไม่ประกาศยุบสภาเร็วๆ นี้และไม่ทำแน่นอนเพราะระดับความนิยมยังต่ำ และแม้ว่าพรรคร่วมรัฐบาลต้องการให้เปลี่ยนตัวนายกฯ แต่คงไม่เกิดขึ้นง่าย ดังนั้น ทางเลือกมีน้อย จึงจำเป็นต้องพึ่งพารัฐบาลปัจจุบันให้แก้ปัญหาให้ได้
“พยายามเปิดใจให้กว้าง เปิดทางให้รัฐบาลทำงานได้ และฝ่ายค้านให้ความเห็นที่รัฐบาลนำไปใช้เพื่อนำประเทศออกจากวิกฤต โดยจะให้ความร่วมมือเต็มที่ หากอยากได้ความเห็นหรือความร่วมมือในสภาฯ ฝ่ายค้านพร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่ ขณะเดียวกันฝ่านค้านจะต้องตรวจสอบเต็มที่เมื่อให้รัฐบาลกู้เงิน ทั้งนี้ต้องให้รัฐบาลนี้ทำงานเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจเรื้อรังที่แก้ไม่ได้ง่าย” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
เมื่อถามว่ามองอย่างไรที่รัฐบาลมีภาพการทำงานไม่เป็นทีมเวิร์กและเหมือนกับรอฟังคำสั่งจากผู้มากบารมีเท่านั้น น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า รัฐบาลปัจจุบันบริหารเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันยาก การประสานงานกันเอง แม้เป็นรัฐมนตรีจากพรรคเดียวกันยังมีปัญหาติดขัด ดังนั้น บทบาทของฝ่ายค้านช่วงนี้ไม่ใช่การสู้กันแบบค้านหัวชนฝา แต่เปิดทางให้รัฐบาลมีทางเลือกให้มากที่สุด โดยฝ่ายค้านจะไม่เป็นก้างขวางคอทุกเรื่องแต่ยังคงตรวจสอบเข้มข้น และให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์
เมื่อถามย้ำว่ามองว่าการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังไม่ใช่ประเด็นในขณะนี้ใช่หรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า “การปรับครม.เป็นสิ่งนายกฯ ตัดสินใจ ปรับดีก็ดี แต่หากปรับแล้วต้องฝึกงาน รอผ่านการทดลองงาน อย่าเพิ่งปรับดีกว่า”
เมื่อถามถึงการวิเคราะห์ว่าจะมีการปรับครม.ช่วงตัดสินคดีฝ่าฝืนจริยธรรมของ 25 สส.พรรคประชาชน หรือคดี 44 สส. น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ได้ข่าวเช่นกัน รวมถึงการปรับพรรคร่วมรัฐบาลออก หาก สส.ของพรรคประชาชนถูกตัดสินให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งจะทำให้สมการ และคณิตศาสตร์ทางการเมืองเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม ตนในฐานะ 1 ใน 25 สส. คิดว่าไม่น่าจะมีความผิดและไม่หยุดการปฏิบัติหน้าที่ แต่หากเข้าเงื่อนไขอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
เมื่อถามถึงความคืบหน้าของคดี 44 สส.นั้น น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า อยู่ระหว่างการยื่นเอกสารหลักฐานเพื่อแก้ข้อกล่าวหากับป.ป.ช.
ต่อข้อถามว่าหาก 25 สส.ถูกสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ อาจเป็นเหตุให้ปรับครม. โดยเอาพรรคภูมิใจไทยออกจากพรรคร่วมรัฐบาล น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า อาจเป็นไปได้หากมีการปรับพรรคร่วมรัฐบาล คะแนนความได้เปรียบเสียเปรียบของฝั่งรัฐบาลก็จะต่างจากฝ่ายค้าน แต่จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อ 44 สส.ถูกตัดสินว่าผิด
เมื่อถามว่าเตรียมแผนสำรองไว้อย่างไรบ้าง น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เรายังเชื่อในความบริสุทธิ์ของเราอย่างเต็มที่ ย้ำว่าเราเตรียมพยานหลักฐานและเอกสารไว้อย่างเต็มที่ในเรื่องคดีดังกล่าว ซึ่งเราคาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ก็เตรียมพร้อมรับมือไว้กับทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
เมื่อถามว่าพร้อมอยู่ร่วมกับพรรคภูมิใจไทยใช่หรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา ยิ้มพร้อมตอบว่า อยู่ได้ กับลุงก็อยู่มาแล้ว นิยามของฝ่ายค้านถ้าตามที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เคยพูดไว้ว่าการที่คนโสดมาอยู่รวมกัน แต่ฝั่งรัฐบาลเขาแต่งงานกันแล้ว เขาส่งใครมาเราก็อยู่ได้ทั้งนั้น