ยิ่งชีพ อาลัยจอน ยกเป็นคนแก่ ไม่หมดไฟ เผยสิ่งสุดท้าย ที่ฝากไว้ ให้กำลังใจ DSI หลังรับทำคดีฮั้ว ส.ว.
เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม นายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw และผู้ร่วมก่อตั้งสำนักข่าวประชาไท เสียชีวิตอย่างสงบที่บ้านพัก ในวัย 77 ปี
ด้าน นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผอ.โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กถึงนายจอน ระบุว่า เดินมาสมัครงาน iLaw วันแรกโดยเห็น อ.จอนมานำเสนอกองค์กรที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ล่าสุด ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มจากชายแก่ที่มีอาวุโสมากที่สุดในที่นั้น เดินมาสัมภาษณ์งาน คำถามแรกเขาถามว่า “คุณคิดยังไงกับ อ.ใจ…” เป็นคำถามสัมภาษณ์งานคำถามแรกที่แปลกมาก แต่ผมดันทราบข่าวนี้มาบ้างและตอบได้ เลยได้งาน
แน่นอนว่าในการทำงานด้วยกันหลายปี ก็มีหลายครั้งที่รู้สึกโกรธและอึดอัดกับตำแหน่งและบทบาทของ อ.จอน แต่ก็ต้องพบว่าเป็นความอึดอัดจากการที่เราคิดไปเองว่า เจ้านายที่เป็นคนแก่จะต้องไม่เข้าใจ ไม่รับฟัง ไม่ให้โอกาสเด็กอย่างเราทำงานในมุมของเรา ซึ่งทุกครั้งพบว่าเป็นความเข้าใจที่ผิด
สิ่งที่ อ.จอนสอนไว้โดยการกระทำไม่ใช่คำพูด คือ ทุกครั้งที่ อ.จอน คัดค้าน ทักท้วง หรือพยายามจะลากเราไปในเส้นทางที่เห็นแตกต่างกัน มันจะไปจบตรงที่ว่าคุยกันตรงๆ แกจะเรียกไปนั่งคุย หรือพอเริ่มอึดอัดแล้วแกก็จะโทรมาใส่ตรงๆ เลย ถ้าเราจิตอ่อนคงช็อกตาย แต่ถ้าเราได้ตั้งหลักและอธิบายเหตุผลไปแล้ว เราจะพบว่ามันจะจบได้ เราจะตัดสินเรื่องที่เห็นต่างกันด้วยเหตุผลที่พูดออกมา โดยไม่มีอารมณ์ความรู้สึก หรืออีโก้ส่วนตัว สุดท้ายถ้าเห็นไม่ตรงกัน อ.จอนจะบอกว่า “ผมก็เห็นของผมอย่างนี้ ถ้าเป๋าจะทำอย่างนั้นก็ทำไป…”
คนแก่ที่อายุมากกว่าผมเกือบ 40 ปี อายุงานมากกว่าผม 30 ปี ไม่เคยถือสา หรือไม่เคยส่งมวลความคิดว่า ไอ้เด็กนี่มาจากไหน ทำไมถึงไม่ฟังคนที่ผ่านประสบการณ์มาก่อน อ.จอนส่งมาแต่ความรู้สึกท้าทาย สนุกสนาน ที่จะโต้เถียงกัน แบบเท่ากัน ในบรรดาหลายๆ อย่าง นี่เป็นสิ่งที่เลียนแบบไม่ได้ เอาอย่างไม่ได้
และใช่ นี่คือ คนแก่ที่ไม่เคยหมดไฟ ยังคงรู้สึกโกรธแค้นกับความไม่เป็นธรรม ติดตามทุกเรื่องและตั้งคำถามใหม่ๆ ทุกวันว่าเราจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนและประชาธิปไตย ซึ่งก็น่าจะเลียนแบบไม่ได้ในวันที่เราอายุเท่าๆ กัน
เรื่องใหญ่ๆ ที่เราเห็นไม่ตรงกันเมื่อ 3-4 ปีก่อน คือ ในการประชุมงานทุกครั้งแกจะชวนมองไปในอนาคตให้เรามีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการทำงาน ชวนฝันให้ไกลกว่าจุดที่ยืนอยู่ ขณะที่ผมรู้สึกว่าเป็นการคุยที่เสียเวลา ผมอยากคุยเรื่องวันนี้ ผมอยากคุยว่าพรุ่งนี้ต้องทำงานอะไร จัดกิจกรรมอะไร จะเขียนงานยังไง จะโพสต์ตอนกี่โมง จะมีเงินเพียงพอสำหรับการจ่ายค่าอะไรได้บ้าง อ.จอนเลยสั่งให้ผมไปเดินวนรอบสระน้ำ โดยก้มหน้ามองเท้า แล้วถามว่าจะรู้หรือไม่ว่าต้องเดินไปทางไหน หรือจะตกน้ำ ถ้าจะเดินก็ต้องมองไปข้างหน้าไม่ใช่มองแต่เท้าอย่างเดียว
เรื่องใหญ่ต่อมาที่เราเห็นไม่ตรงกันเมื่อ 2 ปีก่อน คือ ตอนที่ผมอยากจะระดมทุนซื้อตึก อ.จอนคงไม่พร้อมที่จะแบกรับหนี้สิน และไม่รู้ว่าจะหาเงินจากไหนมาให้มากพอ แต่ อ.จอนก็คงเข้าใจความจำเป็น และความทะเยอทะยานนี้ สิ่งที่แกมอบให้เราสิ่งสำคัญที่สุดในวันนั้น คือ แกลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการ แล้วเปิดโอกาสให้ผมเลือกเอง ตัดสินใจเอง เรียนรู้และแบกรับความเสี่ยงเอง
เพียงแค่ประมาณสองปีต่อมา ผมก็เลิกถามว่าพรุ่งนี้จะประชุมอะไร และเริ่มรำคาญนิดหน่อยเวลาน้องๆ ถามว่าอันนี้จ่ายได้ไหม เพราะผมสนใจอยากรู้แต่ว่าข้างหน้าเราจะทำอะไร และจะเป็นอะไรท่ามกลางความท้าทายของสังคมการเมืองที่เป็นอยู่ และเมื่อวานนี้เองผมก็เพิ่งนัดหมายทีมงานทั้งหมดเพื่อจะไปสัมมนาภาพใหญ่ของ iLaw โดยประกาศไว้แล้วว่า เราจะต้องช่วยกันตอบคำถามว่า “อีกสิบปีข้างหน้า เราต้องมีอะไรพร้อมบ้าง…”
เมื่อไรก็ตามที่ผู้คนล้อมวงเล่าถึง อ.จอน มีแต่มุมที่สนุกสนาน เมาธ์มอย ตลกขบขัน และมีความหวัง ไม่เห็นมีมุมเศร้าสร้อยและหดหู่เมื่อนึกถึง คนแบบนี้หาได้ยาก หรือไม่ต้องหาก็ได้ แค่จดจำภาพในวันที่เราเคยสนุกสนานและมีความหวังร่วมกัน ก็มีคุณค่ามากเกินพอ
อ.จอน อึ๊งภากรณ์ ต่อสู้กับโรคประจำตัวมานาน มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ ช่วงหลายปีหลังออกจากบ้านได้น้อยมาก เช้ามืดของวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 แกจากไประหว่างหลับอยู่ที่บ้าน สิ่งที่แกฝากตอนที่เจอกันครั้งสุดท้ายคือ อยากให้พวกเราไปให้กำลังใจดีเอสไอ รับทำคดีฮั้ว ส.ว. ซึ่งผมยังไม่ได้ทำ และสิ่งที่แกยังจำได้แต่ติดค้างกับเราไว้ คือ ยังไม่ได้มาดูออฟฟิศของ iLaw ที่ซื้อมาได้ด้วยเงินบริจาคและเงินยืมจากผู้ที่เชื่อในการทำงานของเรา