‘นลินี’ คุย ‘แทมมี ดักเวิร์ธ’ ส.ว.สหรัฐ-ภาคเอกชน ย้ำไทยพร้อมเพิ่มการค้า-การลงทุนกับสหรัฐ
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา นางนลินี ทวีสิน ประธานผู้แทนการค้าไทย หารือกับวุฒิสมาชิก แทมมี ดักเวิร์ธ จากรัฐอิลลินอยส์ และวุฒิสมาชิก เอลิสซา สล็อตคิน จากรัฐมิชิแกน และภาคเอกชนรายสำคัญในพื้นที่ เมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อหารือถึงบทบาทของไทยในฐานะหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่มีศักยภาพและการขยายการลงทุนของภาคเอกชนไทยในสหรัฐ
นางนลินีกล่าวว่า ภาคเอกชนไทยมีการลงทุนในสหรัฐรวมมูลค่ากว่า 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สร้างการจ้างงานไม่น้อยกว่า 15,000 ตำแหน่ง สะท้อนถึงความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐ และเจตนารมณ์ของไทยในการเป็นหุ้นส่วนที่เชื่อถือได้ พร้อมย้ำว่าประเทศไทยคือพันธมิตรที่ใกล้ชิดของสหรัฐในทุกมิติ และพร้อมสร้างความสมดุลในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ทั้งนี้ ทุกบริษัทของไทยแสดงความประสงค์ที่จะเพิ่มการลงทุนในสหรัฐ
นางนลินีกล่าวว่า แทมมี ดักเวิร์ธ แสดงความพร้อมในการสนับสนุนการลงทุนของไทย และพร้อมเชื่อมการประสานงานในทุกประเด็นที่บริษัทไทยต้องการรับ ขณะที่การหารือได้พูดถึงข้อเสนอการร่วมผลิต (joint manufacturing) เช่น การผลิตแผงโซลาร์ ชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทย ในฐานะมิตรประเทศที่ยาวนานของสหรัฐเพื่อส่งไปประกอบขั้นสุดท้ายในสหรัฐ เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าและการสร้างงานในทั้งสองประเทศ
นอกจากนั้น ได้หารือกับ Ms.Pamela Phan จากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ โดยย้ำถึงความพร้อมของไทยในการลงทุนเพิ่มเติมในสาขาสำคัญ อาทิ เกษตร พลังงาน อาหารและเครื่องดื่ม และยินดีที่ นายสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา กล่าวในการประชุมเวทีการลงทุน ซาอุดี-สหรัฐกรุงริยาด เมื่อวันที่ 13 พ.ค. ว่าไทยได้นำเสนอแนวคิดริเริ่มที่ยอดเยี่ยม ซึ่งตนเห็นพ้องว่าไทยสามารถเป็น quick win ของสหรัฐได้ทั้งในแง่ของความสามารถในการขยายการลงทุน และการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐเพิ่มเติม
โดยช่วงค่ำ นางนลินีเป็นประธานกล่าวเปิดงาน “U.S.-Thailand Collaboration : Networking for Future Business Opportunities” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อเป็นเวทีเชื่อมโยงภาคเอกชนไทย-สหรัฐ และกระชับความร่วมมือระหว่างสองประเทศ โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 50 ราย จากภาคธุรกิจชั้นนำของไทย อาทิ Indorama Ventures, Thai Union, ไทยซัมมิก, บ้านปู และกลุ่ม ปตท.
รวมถึงบริษัทสหรัฐในหลากหลายสาขา เช่น กลุ่มเทคโนโลยี ดิจิทัล ความมั่นคงไซเบอร์ กลุ่มการแพทย์ เทคโนโลยีชีวภาพ และกลุ่มที่ปรึกษา เป็นต้น ซึ่งความร่วมมือระหว่างไทยและสหรัฐ รวมถึงการเชื่อมโยงของผู้คน ความคิด และแรงบันดาลใจ ซึ่งถือเป็นรากฐานของอนาคตที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น และความร่วมมือกับความท้าทาย และปลดล็อกโอกาสใหม่ที่จะเกิดขึ้นร่วมกัน