เดือด! กมธ.การทหารฯ สว. จัดเสวนาเราจะรักษาแผ่นดินไทยอย่างไร “คำนูณ” ฉะ ICJ เป็นฆาตรกรฆ่าคนกว่าครึ่งศตวรรษ พิพากษาเพี้ยนปิดปากไทย ยันต้องไม่ไปศาลโลกเด็ดขาด โอกาสชนะมีน้อย บอกรัฐบาล ทหารในพื้นที่เจ็บปวด 2 พ่อลูก “ฮุน” พูดทุกวัน แนะ “นายกรัฐมนตรี” ไม่อยากเห็นท่าทีผู้นำอ่อนเกินไป ด้าน “ดุลยภาค” ชี้ช่อง ต้องทำให้คนทั้งโลกเห็น แนวคิด “ฮุน มาเนต-ฮุน เซน” อันตราย ตกขอบโลก ก่อให้เกิดสงคราม แนะรัฐบาลตอบโต้ทุกมิติ
วันที่ 13 มิ.ย.2568 ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การทหารและความมั่นคงของรัฐ วุฒิสภา จัดกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “การถกแถลงเพื่อรักษาแผ่นดินไทย : เราจะรักษาแผ่นดินไทยอย่างไร” โดยเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญร่วม อาทิ นายวีพันธุ์ มาไลยพันธุ์ อดีตคณะบดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านปราสาทต่างๆ นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) นายดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ด้านเอเชียตะวันออกเชียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายวันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นถึงทางออกของสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชาด้วย
โดย พล.อ.สวัสดิ์ ทัศนา สว. ในฐานะประธาน กมธ. กล่าวเปิดกิจกรรมว่า นับตั้งแต่ กมธ.การทหารและความมั่นคงของรัฐ วุฒิสภา ได้ประณามการกระทำอันไร้ความจริงใจในฐานะ เพื่อนบ้านของกัมพูชา และเรียกร้องให้รัฐบาลต้องดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อปกป้องอธิปไตยและ บูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. และต่อมาในวันที่ 9-10 มิ.ย. กมธ.ได้เดินทางไปพื้นที่ปฏิบัติการของกองกำลังสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ที่เคยเกิดกรณีพิพาท ในเขตจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี เพื่อให้ได้เห็นสภาพภูมิประเทศ จริง ๆ และให้กำลังใจแก่พี่น้องทหารหาญที่ปฏิบัติ หน้าที่อย่างเข้มแข็ง อดทน สถานการณ์แนวชายแดนไทย - กัมพูชา มีประเด็นที่ซับซ้อนและสะสมความตึงเครียดมาเป็นระยะเวลายาวนาน กมธ.มีความเห็นว่าการดำเนินการใด ๆ ควรกระทำด้วย ความรอบคอบ
ด้านนายคำนูณ กล่าวว่า ตอนสมัยตนเป็น สว. ช่วงท้ายสมัย ได้ขอเปิดอภิปรายเรื่องข้อพิพาททางทะเล เพื่อบันทึกไว้ว่า สว. เคยอภิปรายในเรื่องนี้ ผ่านไปไม่เท่าไหร่ ก็มีเรื่องทางบกเข้ามาอีกแล้ว ซึ่งในคณะรัฐมนตรี (ครม.) สมัยนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เคยมีมติกำชับให้ทุกหน่วยงาน เวลาติดต่อเรื่องต่างๆ ให้ทำบันทึกสงวนความเห็นไว้ว่าประเทศไทยไม่ยอมรับขอบเขตอำนาจของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) เหตุการณ์เมื่อ 28 พ.ค. ตนเชื่อว่าเป็นมุกเดิมของกัมพูชาที่เขากระทำมาโดยตลอด อาจจะถือได้ว่าเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศก็ได้ คือการโต้แย้งเรื่องเขตแดนกับไทย แล้วเกิดเป็นเหตุกระทบกระทั่งกัน จะเป็นเหตุธรรมชาติหรือไม่ธรรมชาติก็แล้วแต่ สุดท้ายคุยกันไม่รู้เรื่อง กัมพูชาก็พาไปศาล ICJ
“พอศึกษาไปในประวัติศาสตร์ ขอเรียนกับทุกท่านจริงๆ ว่ามันเจ็บปวด เรามีอะไรหลายๆอย่าง ที่ผ่านมาจำเป็นจะต้องพูดว่าพวกเรา ประเทศไทยโดยรวมมีบทเรียน แต่ไม่ค่อยเรียนรู้ และไม่เคยจดจำอาจจะก่อให้เกิดความผิดพลาดซ้ำซากขึ้นมา ผมจึงพยายามเตือนความทรงจำว่าไทยไม่รับอำนาจศาล ICJ” นายคำนูณ กล่าว
นายคำนูณ กล่าวต่อว่า เป็นเรื่องตลกร้ายมากที่ประเทศไทยไม่เคยได้รับอำนาจศาล ICJ นับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2489 แล้วทำไมเราต้องแพ้ถึง 2 ครั้ง โดยก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง มีองค์การสันนิบาตชาติ หรือศาลโลกเก่า (PCIJ) ซึ่งประเทศไทยประกาศรับอำนาจศาลโลกเก่านี้ โดยการรับอำนาจจะทำได้คราวละ 10 ปี และต่ออายุ ประเทศไทยต่ออายุไป 2 ครั้ง ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ศาลโลกเก่าก็หายไปและเกิดศาล ICJ ขึ้น ซึ่งมันเกิดความพิสดารมากในปี 2493 รัฐบาลไทยในขณะนั้นประกาศทำหนังสือไปถึงเลขาธิการสหประชาชาติว่าต่ออายุศาลโลกเก่า PCIJ อีก ตนไม่รู้ว่ารัฐบาลในขณะนั้นคิดอะไร ทำไมเขียนผิดขนาดนี้ ตกข่าวอะไรหรือไม่ จากนั้น 11 ปีต่อมา จึงนำความเจ็บปวดมาสู่ประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2502 กัมพูชาฟ้องไทยต่อศาล ICJ ในประเด็นปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งมีการตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทย พอกัมพูชาฟ้อง ประเทศไทยก็ไปต่อสู้เพื่อไม่ให้กัมพูชาฟ้องว่าไทยไม่เคยรับอำนาจศาล ICJ ดังนั้น จะพิจารณาคดีนี้ไม่ได้ จากนั้นศาลก็พิจารณาในปี 2504 ว่าประเทศไทยพูดแบบนั้นไม่ได้ เพราะเคยยอมรับอำนาจศาลโลกเก่า PCIJ ต่อไปอีก 10 ปี ซึ่งในขณะนั้นยังอยู่ในช่วง 10 ปี
“ถึงประเทศไทยจะบอกว่ารับอำนาจศาล PCIJ แต่ไม่ได้รับศาล ICJ แต่เขาก็เขียนไว้เจ็บปวด ลองไปอ่านดู เราสมควรอายอย่างยิ่ง เขาบอกว่า ในขณะนั้นไม่มีศาล PCIJ แล้ว เป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลไทยจะไม่รู้ จึงเป็นไปตามกฏหมาย ที่มีความซับซ้อนทางเทคนิค ซึ่งเรื่องการยอมรับอำนาจศาลนี้ ไปหมดลงปี 2503 แต่กัมพูชาฟ้องเราก่อนที่จะหมดอายุ 7 เดือน ถ้าปี 2493 รัฐบาลไทยในขณะนั้นไม่เพี้ยนไปต่ออายุการรับอำนาจศาล PCIJ ที่ไม่มีอยู่แล้ว ก็ไม่มีการพิจารณาคดีของพระวิหารหลังจากนั้น ไทยกับศาลโลกขาดจากกัน ตนมองว่าคำพิพากษาในคดีนั้นไม่ก่อให้เกิดผลดีกับใครเลย เพราะมีความก้ำกึ่งขาดความชัดเจนในหลายประเด็น ทำให้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นหลายครั้ง และเมื่อเกิดเหตุการณ์ปะทะกันเมื่อปี 2554 กัมพูชาก็ยื่นคำร้องให้ศาล ICJ ตีความอีกครั้ง เหตุการณ์นี้จะพูดว่าแพ้ก็ไม่ตรงความจริงนัก แต่เอาเป็นว่าไม่ชนะก็แล้วกัน และกัมพูชาก็ไม่ชนะ แต่เราเสียดินแดนเพิ่มขึ้น จึงเป็น 2 เหตุการณ์ที่เราไม่สามารถไปศาล ICJ ได้ ถ้าไปอีกตนก็เชื่อมั่นว่า โอกาสชนะมีน้อย”นายคำนูณ กล่าว
นายคำนูณ ยังกล่าวว่า ตนข้อสังเกตอยู่ 5 ข้อ ประกอบด้วย 1.ศาล ICJ ใช้หลักกฏหมายปิดปากไทยใน 2 กรณี คือระบุว่าไทยยอมรับแผนที่ที่ฝรั่งเศสทำขึ้นและกรณีที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ชักธงชาติฝรั่งเศสขึ้นบริเวณปราสาทเขาพระวิหาร 2.ศาล ICJ ให้ถือว่าการแสดงเจตนารมย์ของไทยในฐานะคู่สัญญาสำคัญกว่าเนื้อหาหลักของสนธิสัญญา มันชัดเจนว่าแผนที่ระหว่างระวางพนมดงรัก ไม่สัมพันธ์กับสันปันน้ำเลย แต่ศาลถือว่าการแสดงออกของไทยเราสำคัญกว่าเนื้อหาหลัก 3.การที่ศาล ICJ พิพากษาให้ไทยต้องสูญเสียอธิปไตยในพื้นที่พิพาท ถ้าเราบกพร่องจริงแต่โทษที่เราได้รับต้องสูญเสียธิปไตย ในทางกฎหมายต้องตั้งคำถามว่าให้สัดส่วนกันหรือไม่ 4. ศาล ICJ เลือกให้น้ำหนักกับปัจจัยอื่นมากกว่าเนื้อหาหลัก โดยเฉพาะที่เป็นโทษกับประเทศไทยด้านเดียว โดยไม่ได้ชั่งน้ำหนักให้ปัจจัยอื่น ที่อาจจะเป็นคุณกับฝ่ายไทย และ 5.ตลอดเวลาที่ผ่านมาพิสูจน์ให้แล้วว่าคำพิพากษาของศาล ICJ ไม่ส่งผลดีกับใครเลย
“ถ้าผมจะพูดว่าคำวินิจฉัยศาล ICJ เปรียบเสมือนฆาตกรที่ฆ่าคนมาอย่างเลือดเย็นเกือบครึ่งศตวรรษ ผมพูดแรงหรือไม่ครับ” นายคำนูณ กล่าว
ขณะที่ นายดุลยภาค กล่าวถึงพฤติกรรมของกัมพูชา ว่า กัมพูชาเตรียมการมานาน และใช้ยุทธศาสตร์หลายขาในการกดดันประเทศไทยหลายมิติเขาเตรียมการมาอย่างดีในเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศการเคลมมรดกทางวัฒนธรรม หรือการใช้การเมืองภายในประเทศมาสัมพันธ์กับการเมืองระหว่างประเทศเพื่อสร้างความได้เปรียบในระบอบฮุน มาเนตหรือความได้เปรียบของกัมพูชาโดยรวม ซึ่งเป้าหมายสูงสุดคือทำทุกวิถีทางเพื่อให้รัฐกัมพูชามีอาณาเขตเพิ่ม ซึ่งตนคิดว่าเป็นยอดความปรารถนาอันสุดๆ ของรัฐ และสังคมกัมพูชา เมื่อมาดูวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ เล่ห์กล ลักษณะนโยบายต่างประเทศ ท่าทีระหว่างประเทศของกัมพูชา มาประกอบกันตนคิดว่าสิ่งที่ที่ประเทศไทยและสังคม โลกจะต้องเห็นคือพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องตามจริยธรรมของกัมพูชา โดยในวันที่ 29 นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนตโพสต์เฟซบุ๊ค ว่า"กัมพูชาขอสงวนสิทธิ์ในการปกป้องอัตลักษณ์อาณาเขต และสามารถใช้กองกำลังเข้าไปพิทักษ์อัตลักษณ์เชิงพื้นที่ของกัมพูชาด้วย" ตนคิดว่าคำนี้เป็นดาบสองคมและเป็นอันตรายต่อ มวลมนุษยชาติ คำว่า"อัตลักษณ์เชิงอาณาเขต" หมายถึงการขยายอาณาเขตโดยการเอาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมใส่เข้าไป คือ รับชุมชนสังคมใดสังคมหนึ่ง ถ้ารู้สึกว่า มีดินแดนหนึ่งน่าจะเป็นของเขา จะใส่อารมณ์ความรู้สึก ใส่อัตลักษณ์ที่คิดว่าเป็นของเขา เข้าไปผูกติดพันธนาการกับพื้นที่เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของในดินแดน ดังนั้นปฏิบัติการของกัมพูชามีการเตรียมการมาเป็นอย่างดี และความเข้มข้นของอัตลักษณ์อาณาเขตรุนแรงมาก ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เช่นกระแสการพูดถึงเครมโบเดีย การที่คนเขมรอ้างมรดกทางวัฒนธรรม เป็นของตนเองจากฝ่ายเดียว ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องเขตแดนอย่างเดียวแต่เข้าไปบงการในเรือนร่างของมนุษย์ เช่นคนไทยใส่ชุดไทยหรือเล่นโขน คนเขมรก็จะบอกทันทีว่าเป็นของเขมร ประเทศไทยขโมยมรดกทางวัฒนธรรม ของเขมรไปใช่หรือไม่ นี่เป็นการจู่โจมที่เข้าถึงเรือนร่างของมนุษย์ ซึ่งเรื่องนี้อันตราย ขณะเดียวกันก็ใช้ในการอ้างเขตแดนได้ ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ปรากฏอยู่ในเฟซบุ๊คของฮุน มาเนต ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสันติภาพเลย เพราะแนวคิดอัตลักษณ์เชิงอาณาเขตมีข้อดีคือประชาชนในชาติที่อ้างสิทธิ์เหล่านี้จะมีความสามัคคีมากขึ้นกัมพูชาได้ประโยชน์กับชาตินิยมประเภทนี้มาก แต่ข้อเสียคือ นำไปสู่ความเกลียดชังในหมู่ชนชาติต่างๆ เป็นมูลเชื้อที่จะทำให้เกิดลัทธิเกลียดชังระแวงชาวต่างชาติ เป็นมูลเสือที่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศ
“ดังนั้น สังคมไทย หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะหยิบสิ่งนี้ของฮุน มาเนต ที่มีการพูดเองในเรื่องของอัตลักษณ์ เชิงอาณาเขตแล้วชี้แจงว่าแนวคิดแบบนี้ ไม่เป็นผลดีต่อการบูรณาการอาเซียนหรือขัดต่อหลักการอยู่ร่วมกันโดยสันติของเพื่อนบ้าน และถ้าคนกัมพูชายังคิดที่จะเคลมอาณาเขต โดยใช้วัฒนธรรมเป็นเกณฑ์ ผมคิดว่าสุ่มเสี่ยงเหมือนกันที่จะกระตุ้นทำให้เกิดชาตินิยม แบบขวาของประเทศที่ถูกกัมพูชาโจมตี เราต้องโน้มน้าวอาเซียนให้เห็นอันตรายตรงนี้ แต่ก็ต้องเตือนด้วยว่าถ้าไม่มีกลไกเข้ามาแก้ไขประเทศที่ถูกคุกคามด้วยลัทธิแบบนี้ก็จะต้องมีการโต้คืนหรือชิงดินแดนกลับ เป็นชาตินิยมอีกแบบเพื่อตอบโต้กัมพูชา”นายดุลยภาค กล่าว
นายดุลยภาค กล่าวต่อว่า สำหรับการเมืองในกัมพูชา ในหนังสือเล่มหนึ่งที่เขียนเกี่ยวกับการเมืองในกัมพูชาได้เขียนยกย่องฮุน มาเนต และฮุน เซน ว่าฮุน เซน เป็นสถาปนิกสำหรับสันติภาพ และความปรองดองสำหรับกัมพูชา เมื่อดูในเนื้อหาพบว่ามีบทบาทในการทุเลาสงครามกลางเมืองในกัมพูชา มีบทบาทในการปลดอาวุธกองกำลังเขมรแดง ทำให้ ได้รับรางวัลและได้รับการยกย่อง แต่ถ้าพิจารณา ความเป็นจริงทุกครั้งที่เกิดปัญหาที่บริเวณเขตแดนแล้วมีความตึงเครียดระหว่างประเทศฮุน เซนจะออกโรงมาอย่างชัดเจน และไม่ได้มีความอดทนอดกลั้นให้เห็นว่าเคารพสันติภาพใช้เกมยั่วยุ และมีการนำชาตินิยมที่มองเพื่อนบ้านเป็นศัตรู ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างไทยกัมพูชา มาเป็นผลดีต่อคะแนนนิยมของระบอบตนเอง ฉะนั้น จึงขอตั้งคำถามว่าการกระทำแบบนี้คู่ควรกับรางวัลที่เขาได้มาหรือไม่ หรืออาจจะคู่ควรแค่ภายในประเทศเขาอย่างเดียว
“ในกลไกของอาเซียน เรามีกลไกที่จะยับยั้งความขัดแย้งได้โดยไม่ต้องเร่งรัดไปถึงศาลโลกหรือวงระหว่างประเทศที่อยู่นอกอาเซียนได้ ซึ่งระบุไว้เลยว่าประเทศต่างๆจะต้องแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี และแก้ไขข้อพิพาทโดยสันติวิธี เป็นต้น แต่สิ่งที่กัมพูชาทำคือให้น้ำหนักเบากับอาเซียนและไปสู่ศาลโลกเลยหรือไปหาฝรั่งเศส ดังนั้น ประเทศไทยน่าจะลากกัมพูชามาพูดกันก่อนว่า MOU 43 ที่กัมพูชาเข้าไปขุดคูเลต และฝังกลบเรียบร้อยแล้วการพูดคุยใน JBC หรือในเวทีอื่น เพื่อวางการบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เกิด การเผชิญหน้าทางทหารและเคารพกรอบ MOU 43 ซึ่งภาพที่กัมพูชาเข้าไปขุดคูเลตและฝังกลบเป็นภาพฟ้องอยู่แล้ว ว่ากัมพูชามีอะไรบางอย่างที่ละเมิดหลักข้อตกลง”นายดุลยภาค กล่าว
นายดุลยภาพ ยังแนะนำว่าให้นำเรื่องของ อัตลักษณ์เชิงอาณาเขต เข้าไปพูดคุยในชุมชนระหว่างประเทศและประณามกัมพูชา ว่าคิดแบบนี้อันตรายเพราะในโลกทุกวันนี้ไม่มีประเทศไหนคิดแบบนี้กันแล้ว ซึ่งทำให้เห็นว่ากัมพูชากำลังตกขอบโลก ในมุมคิดของระเบียบสากล และถ้ามุ่งกดดันประเทศกัมพูชาโดยรวมอย่างเดียวก็ต้องเป็นตามครรลอง แต่อยากให้แยกระบอบการเมืองหรือผู้นำกัมพูชาให้ออกมาจากประชาชนกัมพูชาด้วย ซึ่งการแยกแบบนี้จะทำให้เห็นพฤติกรรมของฮุน เซน ,ฮุน มาเน็ตอย่างชัดเจน อย่างน้อยคือ 2 คนนี้ขาดความอดทนอดกลั้นที่จะแก้ปัญหากับไทยด้วยสันติวิธี แต่มีการยั่วยุผ่าน เฟซบุ๊กอยู่ตลอด
“ผมขอฝากรัฐบาลวุฒิสภาหรือรัฐสภา ว่าเราจะต้องร่วมมือกันตอบโต้กัมพูชาเท่าที่ทรัพยากรของเราและความตั้งใจของเราที่มีอยู่อำนวยไปได้เพราะโจทก์ทุกวันนี้คือกัมพูชาใช้ยุทธศาสตร์กดดันไทยในหลายมิติ แนวรบการต่อสู้ไม่ใช่สถานที่เพียงอย่างเดียวแต่คือ การปฏิบัติการทางวัฒนธรรมการช่วงชิงความหมายเชิงสัญลักษณ์ความเป็นชาตินิยมที่เข้มข้นเกินไปของกัมพูชา อย่างวุฒิสภาก็จะต้องมีวุฒิสภาการทูตที่จะตอบโต้กับวุฒิสภาของกัมพูชาด้วย เพื่อให้ต่างประเทศเข้าใจและทบทวนพฤติกรรมของกัมพูชา แต่เหนือสิ่งอื่นใดรัฐบาลควรต้องมีคณะกรรมการเฉพาะกิจว่าด้วยการวางยุทธศาสตร์ไทยกับกัมพูชาได้แล้ว และแยกเป็นหลายด้าน”นายดุลยภาค กล่าว
ทั้งนี้ในช่วงท้าย นายคำนูณ ยังกล่าวถึงความสัมพันธ์ของ 2 ครอบครัวชินวัตรและฮุนเซนด้วยว่า การเมืองภายในประเทศและการเมืองระหว่างประเทศในตอนนี้แทบไม่เหลื่อมกันแล้ว และเชื่อว่ารัฐบาลดำเนินนโยบายด้วยความยากลำบาก เพราะต้องยอมรับว่าประชาชนส่วนหนึ่งไม่เชื่อรัฐบาล เพราะความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างผู้นำรัฐบาลด้วยกัน มองในข้อดีก็มี ถ้ามองในข้อเสียก็มี และท่าทีของรัฐบาลกัมพูชาและไทยต่างกันตั้งแต่ต้น จนตอนนี้ รัฐบาลกัมพูชา
“พ่อลูกฮุน พูดแรงทุกวันจนถึงวันนี้ แต่ของเรารัฐบาลพูดน้อยมาก บอกว่าพูดมากไปไม่ดี แต่คนนอกรัฐบาลที่ออกมาพูด บางทีก็ทำให้ดูแย่ ผมเขื่อว่าทหารในพื้นที่เจ็บปวดที่มาบอกว่าเอาพื้นที่ตรงนั้นมาทำสนามตะกร้อ แต่ยังมีทหารเสียชีวิต ผมว่าไม่ค่อยเหมาะ” นายคำนูณ กล่าว และว่า สิ่งที่ทางการกัมพูชาบอกว่าไม่ต้องพึ่งพาไฟและอินเตอร์เน็ตจากไทย เพราะมีพร้อมแล้ว เขาทำก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมชายแดนไทย-กัมพูชา (JBC) เราจะเดินอย่างไรต่อ เข้าใจว่าเขาพยายามยั่วยุ แต่เราจะตอบอย่างไร เพราะไม่อยากเห็นท่าทีของผู้นำประเทศอ่อนเกินไป แต่ขณะเดียวกันก็ต้องระวังไม่ให้เป็นชนวนทำให้เกิดการปะทะให้เสียเลือดเสียเนื้อขึ้นมา เพราะจะเป็นสิ่งที่เขาจะลากเอาศาลโลกหรือสหประชาชาติเข้ามา ประชาชนจึงอยากให้รัฐบาลแข็งขึ้นมาบ้าง เพราะกระแสชาตินิยมขึ้นแล้วลงยาก ขอชื่นชมกองทัพยุคนี้ที่มีความเป็นผู้ใหญ่สูง มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถหน้างาน