สว.สีน้ำเงินรอสัญญาณโหวต 2 ตุลาการศาลรธน.อังคารนี้ ”อจ.มหิดล”ลุ้นผ่านหรือโดนตีตก หลังพบกรอกประวัติเป็นคณะที่ปรึกษาฯ ”ทวี รมว.ยุติธรรม”คู่แค้น สีน้ำเงิน ส่วนอดีตอธิบดีกรมทางหลวง ลูกน้องเก่า”ศักดิ์สยาม-น้องเนวิน”สมัยนั่งรมว.คมนาคม หากฉลุย ทันเข้าไปลงมติถอดถอนคดีนายกฯอิ๊งค์
20 ก.ค.2568 – ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมวุฒิสภาสัปดาห์นี้ คือวันอังคารที่ 22 ก.ค.มีวาระที่น่าสนใจคือการที่ สมาชิกวุฒิสภา จะมีการประชุมเพื่อลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คนและกรรมการการเลือกตั้ง 1 คน ซึ่งการลงมติจะเป็นการประชุมลับ หลังจากที่คณะกรรมาธิการสามัญทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) วุฒิสภา ได้เสนอรายงานผลการตรวจสอบประวัติฯ ทั้งรายงานแบบเปิดเผยและรายงานลับ ต่อที่ประชุมเสร็จสิ้น จากนั้น สว.จะมีการอภิปรายและลงมติทันที
ในส่วนของ ตุลาการศาลรธน. จะเป็นการลงมติสองรายชื่อ ที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาฯ ที่มีประธานศาลฎีกาเป็นประธาน แยกเป็น ในส่วนของรายชื่อที่สมัครเข้ารับการสรรหาในสาขา ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ซึ่งดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี ฯ ที่จะมาแทน ศ.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรธน. ที่ก็คือ ศาสตราจารย์ ร้อยตำรวจเอก สุธรรม เชื้อประกอบกิจ อาจารย์สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ สังกัดคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาฯ ที่มีการลงมติสองรอบ
และอีกหนึ่งคน คือ นายสราวุธ ทรงศิวิไล อดีตอธิบดีกรมการขนส่งทางราง และอดีตอธิบดีกรมทางหลวง ที่ผ่านการคัดเลือกในสาขา ผู้ทรงคุณวุฒิที่รับหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า หรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี เพื่อมาแทน นายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่พ้นจากตำแหน่งเพราะอยู่ครบวาระเช่นเดียวกับนายนครินทร์ ที่พบว่ากรรมการสรรหาฯ ลงคะแนนกันสามรอบ ชื่อของนายสราวุธ ถึงผ่านเข้ามาได้
สำหรับนายสราวุธ เป็นชื่อที่ถูกจับตามองไม่น้อยเพราะพบว่า ก่อนหน้านี้สมัยยังรับราชการอยู่ก.คมนาคม ได้ขยับจากผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรกระทรวงคมนาคม มารับตำแหน่ง อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เมื่อ มิถุนายน 2562 โดยอยู่ในตำแหน่งเพียงแค่สีเดือน คือถึงเดือนกันยายน 2562 ก็มีมติครม.ที่เสนอโดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมในสมัยนั้น ดันให้ไปเป็น อธิบดีกรมทางหลวง ที่เป็นกรมใหญ่ของกระทรวงคมนาคม หลังโยก นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ จากอธิบดีกรมทางหลวง ไปแขวนไว้ในตำแหน่งรองปลัดกระทรวงคมนาคม โดยนายสราวุธ อยู่ในตำแหน่งอธิบดีกรมทางหลวง ยาวนานถึง กันยายน 2567 จนเกษียณ ซึ่งในช่วงที่เป็นอธิบดีกรมทางรางกับอธิบดีกรมทางหลวง เป็นช่วงที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีตเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย น้องชายนายเนวิน เป็นรมว.คมนาคม และแม้หลังการเลือกตั้งปี 2566 จบสิ้นลง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำพรรคเพื่อไทยเข้ามาเป็นรมว.คมนาคมโดยมีพรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ก็ปรากฏว่านายสราวุธ ก็ยังอยู่ในตำแหน่งเดิมจนเกษียณ ไม่ได้ถูกย้ายแต่อย่างใด จึงทำให้ที่ผ่านมา หลังมีชื่อนายสราวุธ ถูกเสนอชื่อเป็นตุลาการศาลรธน. กลุ่มสว.มองกันว่า กลุ่มสว.สีน้ำเงิน ที่คุมเสียงข้างมากในวุฒิสภา อาจจะโหวตให้ความเห็นชอบให้นายสราวุธเข้าไปเป็นตุลาการศาลรธน.หากไม่มีอะไรพลิกโผ
ขณะที่ ศ.ร.ต.อ.สุธรรม พบว่าโปร์ไฟล์ไม่ธรรมดา โดยเป็นอดีตนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 39 และเตรียมทหารรุ่น 23 ซึ่งวงการสีกากี เพื่อนร่วมรุ่นมีอาทิพล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง รองผบ.ตร.และพล.ต.อ.ประจวบ วงศ์สุข รองผบ.ตร. ที่จะเกษียณปีนี้ ส่วนตท.รุ่น 23 เช่นพล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ผบ.ทร.ที่เกษียณปีนี้ -พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ อดีตผบ.ทบ. -พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม อดีตผบ.ทร. โดยประวัติการทำงาน เช่น อดีตผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า กระทรวงพาณิชย์ ในช่วงปี.2559-2560
แต่ที่น่าสนใจคือ ในใบสมัครที่ศ.ร.ต.อ.สุธรรม ยื่นเข้ารับการสรรหาเป็นตุลาการศาลรธน.ปรากฏว่ามีการเขียนในช่องประวัติการเป็นกรรมการ ที่ปรึกษา หรือผู้ทรงคุณวุฒิที่สำคัญ พบว่า มีการกรอกไว้ว่าเป็น “คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม” ตั้งแต่ 28 ก.ย. 2566 จนถึงปัจจุบัน(วันที่ยื่นใบสมัครเข้ารับการสรรหา) รวม 1 ปี 6 เดือน ในสังกัดหน่วยงาน กระทรวงยุติธรรม และยังกรอกประวัติว่าเป็น ที่ปรึกษาในคณะทำงานกำหนดนโยบาย เพื่อยกระดับและขับเคลื่อนภารกิจกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในหน่วยงาน กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยเริ่มเป็นตั้งแต่ 8 มกราคม 2567 จนถึงปัจจุบัน (วันที่ยื่นใบสมัคร)รวมเวลา 1 ปี 3 เดือน
สำหรับ รมว.ยุติธรรม ก็คือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ซึ่งปัจจุบัน กลุ่มสว.สายสีน้ำเงิน ได้ร่วมกันลงชื่อยื่นคำร้องถอดถอน พ.ต.อ.ทวี ออกจากตำแหน่งรมว.ยุติธรรม ต่อศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมกับ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ โดยสว. ยื่นคำร้องว่าทั้งสองคนเข้าแทรกแซงการทำงานของ ดีเอสไอในการสอบสวนคดีฮั้วสว. ซึ่งศาลรธน.มีคำสั่งไม่ให้พ.ต.อ.ทวี รับผิดชอบงานดีเอสไอและเข้าประชุมบอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษ จนกว่าศาลรธน.จะมีคำวินิจฉัย รวมถึงสว.ยังยื่นเรื่องเอาผิด นายภูมิธรรม พ.ต.อ.ทวี และพ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีดีเอสไอต่อคณะกรรมการป.ป.ช.ด้วยในความผิดเดียวกัน
แหล่งข่าวจากสว. ระบุว่า คงต้องรอดูกันว่า ในการประชุมลับของสว.ตอนช่วงก่อนโหวตตุลาการศาลรธน. จะมีสว.โดยเฉพาะสว.สีน้ำเงิน ซักถาม กมธ.ฯสอบประวัติฯ ว่าตอนที่เชิญศ.ร.ต.อ..สุธรรมมาสัมภาษณ์ ได้มีการซักถามถึงเรื่องที่ กรอกประวัติว่าเป็นคณะที่ปรึกษารมว.ยุติธรรม หรือไม่ ซึ่งหากไม่มีสว.คนใดติดใจประเด็นนี้ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องของการไปช่วยงานด้านวิชาการให้กับกระทรวงยุติธรรม ไม่ได้เป็นทีมงานหรือคณะทำงานทางการเมืองของพ.ต.อ.ทวี ก็อาจไม่มีผลจนทำให้ไม่โหวตเห็นชอบ ร.ต.อ.สุธรรมเป็นตุลาการศาลรธน.คนใหม่
และนอกจากการโหวตให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบ 2 รายชื่อตุลาการศาลรธน.แล้ว ที่ประชุมวุฒิสภา วันเดียวกัน ยังต้องลงมติว่าจะให้ความเห็นชอบ ให้นายณรงค์ กลั่นวารินทร์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ให้เข้าไปเป็น กกต.คนใหม่ หรือไม่ หลังนายณรงค์ ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ให้ถูกเสนอชื่อเป็นกกต.คนใหม่แทนนายปกรณ์ มหรรณพ ที่พ้นจากตำแหน่ง
พบว่า นายณรงค์ ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ด้วยคะแนนเสียง 134 คะแนน จากผู้เข้าประชุม 190 คน ขณะที่ นายภัฏ วิภูมิรพี ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกาได้ 55 คะแนน ทำให้ศาลฎีกาส่งชื่อนายณรงค์ มาให้วุฒิสภาลงมติให้ความเห็นชอบ
โดยคาดว่า กลุ่มสว.สีน้ำเงิน จะมีการหารือกันภายในและรอสัญญาณการเมืองบางอย่าง ถึงจะมีความชัดเจนว่า จะลงมติผ่านทั้งสามชื่อ หรือไม่ ที่คาดว่า จะมีความชัดเจนในช่วงเย็นวันจันทร์ที่ 21 ก.ค.นี้ ก่อนที่จะมีการโหวตในวันที่ 22 ก.ค.
สำหรับคดีสำคัญๆ ที่อยู่ในการพิจารณาของศาลรธน.ที่หาก นายสราวุธ และศ.ร.ต.อ.สุธรรม ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาในวันอังคารนี้ ก็สามารถเข้าไปร่วมวินิจฉัยคดีได้ทัน ก็มีเช่น คดีถอดถอน แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกรณีคลิปเสียงฮุน เซน -คดีกลุ่มสว.ยื่นถอดถอน นายภูมิธรรม และพ.ต.อ.ทวี กรณีข้อกล่าวหาเข้าแทรกแซงการทำคดีฮั้วสว. เป็นต้น
อนึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ประชุมวุฒิสภา ไม่ให้ความเห็นชอบ ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนายชาตรี อรรจนานันท์ อดีตอธิบดีกรมการกงสุล เข้าไปเป็นตุลาการศาลรธน.ทั้งสองคน เพราะคะแนนเสียงโหวตเห็นชอบไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนเสียง สว. ที่ปฏิบัติหน้าที่ทำให้ ต้องมีการเปิดรับสมัครใหม่ จนได้ชื่อ นายสราวุธและศ.ร.ต.อ. สุธรรม ในรอบล่าสุด.