3ยูนิคอร์น ดันอันดับนวัตกรรมไทยขยับ ดีสุดใน 10 ปี
GH News December 15, 2024 11:11 AM

นับเป็นข่าวดีของวงการนวัตกรรมไทยที่ผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก ประจำปี 2567 หรือ Global Innovation Index 2024 (GII 2024) ซึ่งจัดโดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (WIPO) ประเทศไทยขยับดีขึ้นมาอยู่อันดับ 41 ด้วยคะแนน 36.9 (เดิมอันดับ 43) ดีที่สุดในรอบ 10 ปี อันดับดีขึ้นจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะปัจจัยการลงทุนด้าน R&D ของภาคเอกชนที่ครองอันดับ 1 ต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 5 ปี สัดส่วนการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ จำนวนสิทธิบัตรที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ประเทศไทยยังจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่สามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีกว่าความคาดหวังตามระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และมีพัฒนาการด้านนวัตกรรมดีกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มรายได้ปานกลางระดับบน (Upper middle-income economies) อีกด้วย

อันดับนวัตกรรมไทยที่ดีขึ้นในรอบ 10 ปี เป็นผลจากการมีอยู่ของ “ยูนิคอร์น” ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) หรือ NIA เผยว่า หากย้อนดูผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลกของประเทศไทยตั้งแต่ ปี 2013 – 2024 พบว่าปีนี้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ดีที่สุดในรอบ 10 ปี ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่มีผลคือ “จำนวนของยูนิคอร์น” จากรีพอร์ตประเทศไทยมียูนิคอร์นจำนวน 3 ราย คือ แฟลช เอ็กเพรสด้านขนส่งโลจิสติกส์ แอสเซนด์ มันนี่ ของกลุ่มทรู คือฟินเทค และวงในไลน์แมน ขนส่งโลจิสติกส์ฟู้ด ซึ่งยังมีโอกาสที่จะผลักดันให้เพิ่มขึ้น ควบคู่กับการปรับแนวทางการดำเนินงานที่ส่งเสริมและสอดคล้องกับมิติตัวชี้วัดต่างๆ ให้อันดับ GII ดีขึ้น เพื่อสะท้อนความพร้อมของประเทศไทยที่จะก้าวไปเป็น “ชาตินวัตกรรม” ซึ่งการขับเคลื่อนดังกล่าว NIA จำเป็นต้องมีเครือข่ายพันธมิตรร่วมเดินทางไปด้วยกัน

เส้นทางนวัตกรรมของประเทศไทย นับเป็นโอกาส และอนาคตของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  องค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (WIPO) โดย ดอกเตอร์ซาชา วุนช์วินเซนต์ หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจและวิเคราะห์ข้อมูล และบรรณาธิการร่วมรายงานดัชนีนวัตกรรมโลก กล่าวว่า สิ่งสำคัญสำหรับการยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศอย่างยั่งยืน นั่นคือ ความร่วมมือและความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบนวัตกรรม เพราะจำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการจากทุกภาคส่วน จะเห็นได้จากดัชนี GII ที่ครอบคลุมปัจจัยทางเข้าและปัจจัยผลผลิตที่หลากหลาย ซึ่งต้องมีการขับเคลื่อนทั้งองคาพยพและเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้  การสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบอย่างยั่งยืนต้องอาศัยเวลาและการขับเคลื่อนที่ต่อเนื่อง

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าการที่ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ 41 ของดัชนีนวัตกรรมโลก 2024 และอันดับที่ 5 ในกลุ่มเศรษฐกิจที่มีรายได้ปานกลางสูง สะท้อนถึงความก้าวหน้าและการเติบโตที่มั่นคงในด้านนวัตกรรมของภูมิภาคนี้ ด้วยการส่งออกเทคโนโลยีขั้นสูงที่จัดอยู่ในอันดับที่ 8 และภาคอุตสาหกรรมที่มีความแข็งแกร่ง เช่น การผลิตและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประเทศไทยกำลังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่แข็งแกร่งในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีเอกชนขนาดใหญ่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาในขณะเดียวกันระบบนิเวศของเงินทุนร่วมลงทุนก็กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ 15 ของโลกในตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับจำนวนการร่วมลงทุน (VC recipients) แต่ยังคงมีความท้าทายโดยเฉพาะอุปสรรคในการพัฒนาวัฒนธรรมนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยการวิจัย

เมื่อพิจารณาภาพรวมความสามารถทางด้านนวัตกรรมของประเทศไทยทั้ง 7 ปัจจัย พบว่าประเทศไทยมีพัฒนาการและอันดับความสามารถด้านนวัตกรรมเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วในหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยทางเข้านวัตกรรม (Innovation input sub-index) เช่น สถาบัน ทุนมนุษย์และการวิจัย โครงสร้างพื้นฐาน ระบบตลาด และระบบธุรกิจ และปัจจัยผลผลิตทางนวัตกรรม (Innovation output sub-index) เช่น ผลผลิตจากองค์ความรู้และเทคโนโลยี และผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความสามารถด้านนวัตกรรมที่ไทยมีความโดดเด่น โดยเฉพาะตัวชี้วัดสัดส่วนค่าใช้จ่ายมวลรวมภายในประเทศสำหรับการวิจัยและพัฒนาที่ลงทุนโดยองค์กรธุรกิจ (GERD financed by business) ที่ยังครองแชมป์อันดับ 1 ของโลกติดต่อกันเป็นปีที่ 5 ซึ่งสะท้อนให้เห็นการลงทุนของภาคเอกชนภายในประเทศที่มุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรมด้วยการดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ยังมีองค์ประกอบตัวชี้วัดที่ต้องเร่งพัฒนา เพื่อเสริมให้อันดับดัชนีนวัตกรรมไทยก้าวไปข้างหน้าสู่การเป็นชาตินวัตกรรมที่แข็งแกร่งมากขึ้น ได้แก่ ปัจจัยด้านการส่งออกบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารต่อการค้ารวม (ICT services exports, % total trade) สัดส่วนงบประมาณด้านการศึกษาต่อ GDP (Expenditure on education, % GDP) โดยมีปัจจัยอัตราของคุณครูในโรงเรียน (Pupil–teacher ratio, secondary) ซึ่งเป็นปัจจัยที่อยู่ในตัวชี้วัดด้าน Human capital and research ที่ประเทศไทยต้องแก้ไขอย่างจริงจัง และอีกปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาคโรงงานอุตสาหกรรม คือสัดส่วนการใช้พลังงานที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ (Low-carbon energy use, %) เพราะเห็นว่า Climate Tech กำลังมีบทบาทอย่างมากในปัจจุบันและอนาคต

“สิงคโปร์” ต้นแบบใกล้บ้านที่ไทยตามรอยความสำเร็จได้ โดย“ดัชนีนวัตกรรมโลก” เป็นตัวชี้วัดความสามารถทางด้านนวัตกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงผลผลิตด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ การวิจัยและพัฒนา ของ 133 ประเทศทั่วโลก ซึ่งจัดโดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก หรือ WIPO สำหรับประเทศที่มีอันดับดัชนีนวัตกรรมโลกสูงสุดเป็นอันดับที่ 1 ในปีนี้ ยังคงเป็นสวิตเซอร์แลนด์ (แชมป์ 14 สมัยติดต่อกัน จากปี 2012-24) และหากเจาะดูความสามารถทางด้านนวัตกรรมของกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเห็นว่าเกือบทุกประเทศมีอันดับดัชนี GII ดีขึ้น โดยเฉพาะอินโดนีเซียที่ก้าวกระโดดสูงขึ้น 7 อันดับ อยู่อันดับที่ 54 เวียดนามดีขึ้น 2 อันดับ อยู่อันดับที่ 44 และมาเลเซียดีขึ้น 3 อันดับ อยู่อันดับที่ 33 ส่วนสิงคโปร์ อันดับ 4 ซึ่งเป็นอันดับที่ดีที่สุดตั้งแต่จัดตั้งประเทศขึ้นมา เนื่องจากนายกรัฐมนตรีคนใหม่ มีนโยบายและเป้าหมายชัดเจนด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม ขีดความสามารถด้านของกําลังคน งานวิจัยและพัฒนา และคาดว่าจะสามารถขยับอันดับได้ดีขึ้นอีกในอนาคต เพราะห่างจากอเมริกาอยู่ที่ 1.2% เท่านั้น

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง

ดร.กริชผกา มองว่า หากประเทศไทยต้องการขับเคลื่อนนวัตกรรมให้ขึ้นมาทัดเทียมกับกลุ่มประเทศชั้นนำ นอกจากสวิตเซอร์แลนด์แล้ว นโยบายและแนวทางการดำเนินงานของสิงคโปร์ ถือเป็นโมเดลที่น่าสนใจสำหรับนำมาปรับใช้กับประเทศไทย เพราะว่าสิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่ขยับจากอันดับ 8 มาเป็นอันดับ 5 แล้วปีนี้ขยับขึ้นไปอันดับ 4 เพราะมีการพัฒนาด้านกำลังคนตั้งแต่เยาวชนจนเป็นแมนพาวเวอร์ มีการจัดตั้งกระทรวงแรงงานสิงคโปร์ เพราะต้องการทรัพยากรมนุษย์ และในด้านอุตสาหกรรม สิงคโปร์มีพื้นที่ไม่มากจึงเน้นไปทางอุตสาหกรรมไฮเทคโนโลยีและไบโอเทคโนโลยี ซึ่งประเทศไทยเองก็มีความพยายามในการส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเชิงลึกมากขึ้นทั้งในกลุ่มเกษตรอาหาร การแพทย์ และการท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพและโอกาสการเติบโตสูง ซึ่งจะต้องเพิ่มความเข้มข้นในระดับชาติมากขึ้น

น.ส. นุสรา กาญจนกูล อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา มองว่า การจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก มีเรื่องระบบธุรกิจ และการลงทุนด้านทรัพย์สินทางปัญญา เป็นตัวชี้วัดสำคัญที่จะช่วยวิเคราะห์ว่าแต่ละประเทศควรอยู่ลำดับเท่าไหร่ ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์จึงมีบทบาทสำคัญทั้งการเชื่อมโยงตลาด บ่มเพาะกลุ่มผู้สร้างสรรค์ นักประดิษฐ์  เพื่อนำนวัตกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ และดิจิทัล เข้าไปประกบและผลักดันสินค้า/บริการ จากภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ของไทย เช่น ภาพยนตร์ ซีรีส์ อาหาร ฯลฯ ให้มียอดการเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นจนกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่คนทั่วโลกชื่นชม

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้มีการจัดทำฐานข้อมูลที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและตลาดจากหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ ทั้งกรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเพื่อใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์แนวโน้มรสนิยมของตลาดด้วย “MOC Application Portal” ซึ่งอัพเดทข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน เพื่อที่ภาคเอกชนจะสามารถใช้ประโยชน์ได้

นายวริทธี ตีรประเสริฐ

นายวริทธี ตีรประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนากลยุทธ์ธุรกิจและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) เผยมุมมองการผลักดัน GII index ในมิติสินค้าสร้างสรรค์และบริการ (creative good and service) ว่า CEA ให้ความสำคัญทั้งในแง่ของเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการออกแบบ เพื่อยกระดับความเป็นนวัตกรรม และความสร้างสรรค์ของประเทศไทย โดยมีประเด็นเร่งด่วน คือการพัฒนาคน โดยเน้นสร้างการรับรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อซอฟต์พาวเวอร์ ความคิดสร้างสรรค์ กระบวนการออกแบบ การคิดเชิงออกแบบผ่านโครงการต่างๆ หรือออนไลน์เลิร์นนิ่ง การพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรม โดยการจับคู่นักออกแบบหรือนักสร้างสรรค์กับนักธุรกิจ เพื่อบูรณาการสิ่งที่เรียกว่า creative sector กับ real sector เข้าด้วยกัน เช่น เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ Bangkok Design Week หรือ Chiang Mai Design Week

รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล

 รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล อดีตผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้ให้ข้อมูลเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา สกสว. ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนงบประมาณและจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ให้ความสำคัญกับการทำให้อันดับนวัตกรรมของประเทศไทยดีขึ้นด้วย 3 หลักการ คือ 1. การวางเป้าหมายและกลยุทธ์การดำเนินงานต้องชัดเจน เพราะงบประมาณสนับสนุนจากรัฐมีจำกัด ดังนั้น จึงต้องโฟกัสและมองหาพื้นที่แห่งโอกาสให้กับไทย เช่น Climate Tech ที่ สกสว. กำลังพยายามขับเคลื่อนสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน และการเพิ่มจำนวนสตาร์ทอัพ 2. สร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่แข็งแกร่งด้วยโมเดลการทำงานที่หลากหลาย เพื่อให้สตาร์ทอัพสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนทั้งในตลาดไทยและระดับโกลบอล ผ่านการสนับสนุนเงินทุนจากกองทุน ววน.ความร่วมมือกับภาคเอกชน เช่น กองทุน innovation one ที่ สกสว. ทำร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือการช่วยผลักดันให้นวัตกรรมด้านสุขภาพได้นำไปใช้งานในระบบบริการสาธารณสุขของรัฐมากขึ้น และ 3. สนับสนุนนักวิจัยให้ขยายผลนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นสู่การใช้งานจริง โดยการปลดล็อกให้นักวิจัยเป็นเจ้าของผลงานด้วย “พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 หรือTRIUP ACT”

© Copyright @2024 LIDEA. All Rights Reserved.