รายงานพิเศษ - ‘ชัชชาติ’สร้างเมืองน่าอยู่ ของขวัญคนกรุงปี 68
ข่าวสด December 29, 2024 03:40 PM

“ทำงานหนักทุกวัน เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. พ่อเมืองหลวงของประเทศไทย ให้คำมั่นเป็นของขวัญสำหรับคนกรุงเทพฯ ประจำปี 68

ผ่านไปอีก 1 ปีแล้ว สำหรับการทำงานของผู้ว่าฯ ที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี เจ้าตัวยังคงยืนยันวิสัยทัศน์เดิม คือ การทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน โดยการขับเคลื่อนจากนโยบาย 9 ดี 9 ด้าน

ท่ามกลางมุมมอง 2 ฝ่าย บ้างก็ชมเพราะเห็นได้ชัดว่ากรุงเทพฯ เปลี่ยนไปหลายอย่าง บ้างก็ยังค้างคาใจ ว่าอะไรๆ ยังเหมือนเดิม ไม่มีความเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ?

นายชัชชาติ เปิดเผยว่า ทำงานมา 2 ปีกับอีก 6 เดือน เหลืออีกปีครึ่ง เวลาผ่านไปเร็วเหมือนกัน สิ่งที่ทำมาหลายอย่างเห็นผลลัพธ์ที่ดี บางอย่างเป็นสิ่งที่ต้องลงทุนระยะยาว กทม.ไม่มีวันแชมเปี้ยนโปรเจ็กต์ ไม่มีโปรเจ็กต์เดียวที่จะสร้างคุณภาพชีวิตคนให้ดีขึ้นได้ มีเป็นร้อยพันโปรเจ็กต์ที่ต้องทำไปพร้อมกัน จึงจะผลิดอกออกผล อะไรคือความเร่งด่วนที่สุด กทม.มีงานหลายหน้า ทุกเรื่องสำคัญทั้งหมด ทุกคนต้องเดินหน้าในหน้าที่ของตัวเอง โดยเฉพาะโครงการที่ไม่เป็นไปตามเป้า เช่น โครงการมอเตอร์ไซค์กู้ชีพ กทม. (Motorlance) ให้ครบ 50 เขต โครงการก่อสร้างและปรับปรุงสถานีดับเพลิง โครงการก่อสร้างเขื่อนคลองเปรมประชากร เป็นต้น ต้องทำสำเร็จให้ได้ ขณะเดียวกันเรื่องการศึกษาและสาธารณสุขจะต้องขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า ประชากรกรุงเทพฯ มีจำนวนมาก แต่ละคนมีปัญหาแตกต่าง จึงต้องทำให้ครบทุกมิติถึงจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ การทำงานที่ผ่านมา 2 ปีครึ่ง ไม่ได้เลวร้าย เมื่อดูจากกลุ่มคนในกรุงเทพฯ มี 2 กลุ่ม จะมีกลุ่มคนที่ยังต้องการรับบริการ เช่น ใช้ฟุตปาธทางเท้า หรือ ไปร.พ.กทม. รู้สึกว่าชีวิตดีขึ้น แต่กลุ่มที่ไม่ได้ใช้บริการกทม. จึงไม่รู้สึกว่า กทม.ทำอะไร ดังนั้นจึงต้องมีการสื่อสารให้ชัดเจนขึ้น ขณะเดียวกันถ้าคนไม่รู้สึกว่าดีขึ้นแสดงว่าเรายังทำไม่ดีพอ

สำหรับนโยบาย 9 ดี 9 ด้าน ได้แก่ 1.นโยบายโปร่งใสดี ถ้าไม่พูดเรื่องนี้อยู่รอดไม่ได้ เป็นเรื่องสำคัญและกทม.ได้ผลตอบรับความโปร่งใสจากประชาชนดีที่สุด จะเห็นได้จากการร้องเรียนความเดือดร้อนผ่าน Traffy Fondue ที่เปิดมา 2 ปีกว่า มีการร้องเรียนเข้ามาทั้งหมด 772,912 เรื่องแก้ไขเสร็จ 616,321 เรื่อง ส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 53,573 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการ 68,955 เรื่อง ใช้ระยะเวลาแก้ไขปัญหาเพียง 2 วัน จากเดิมใช้เวลาประมาณ 2 เดือน แสดงให้เห็นว่าประชาชนเกิดความไว้ใจ ดังนั้น กทม. จึงมุ่งมั่นในการแก้ไขทุกๆ ปัญหาที่ประชาชนแจ้งเข้ามาอย่างเต็มที่ และเชิญชวนชาว กทม. ทุกคนเพิ่ม Line OA “@TraffyFondue” ไว้เป็นเพื่อน

นอกจากนี้ยังเปิดขออนุญาตก่อสร้างออนไลน์ ขนาดบ้านไม่เกิน 1,000 ตารางเมตร รู้ผลภายใน 14 วัน เพื่อลดขั้นตอนการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน แก้ปัญหาเรียกรับเงินและช่องโหว่ในการทุจริต ปัจจุบันอนุญาตแล้ว 12 เคส และเตรียมทยอยขยายขนาดอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน

รวมทั้งสร้างความโปร่งใสในการประมูลการกำจัดขยะมูลฝอยโดยวิธีฝังกลบ หรือโครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอย จำนวน 16 โครงการ ประหยัดงบ 3,572.83 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับสัญญาที่ทำก่อนปี 2566 เช่น เดิมกทม.เสียค่าการกำจัดขยะมูลฝอยโดยวิธีฝังกลบ 700 บาทต่อตัน เหลือ 500-600 บาทต่อตัน ประหยัดงบประมาณ 20% หรือ วันละ 500,000 บาท

2.นโยบายเดินทางดี นับตั้งแต่มีการถอดบทเรียนและรวบรวมข้อมูลจุดน้ำท่วมทั่วกรุงเทพฯ ในปี 2565 พบจุดเสี่ยงน้ำท่วม 737 จุด แก้ไขแล้วเสร็จ 115 จุด แก้ไขเสร็จบางส่วน 165 จุด อยู่ระหว่างแก้ไข 323 จุด การเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วม จะมีทั้งการลดระดับน้ำในคลอง เพื่อรับสถานการณ์ฝน การเตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำ โดยสถานีสูบน้ำ 195 แห่ง บ่อสูบน้ำ 376 แห่ง ประตูระบายน้ำ 248 แห่ง อุโมงค์ระบายน้ำยักษ์ 4 แห่ง การขุดลอกคูคลอง การล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ การเตรียมความพร้อมอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่ ซึ่งในส่วนนี้สามารถทำได้ดีจนประชาชนตอบกลับไปในทิศทางที่ดี จากการรับมือทำฝน

โครงการ Bike Sharing หรือจักรยานสาธารณะ ปัจจุบันเปิดให้บริการกว่า 200 แห่ง มีจักรยานให้บริการ 1,200 คัน และจะเพิ่มเป็น 2,000 คัน ในปี 2568 ส่วนการพัฒนาทางเท้ามาตรฐานใหม่ คงทน คุ้มค่า คิดถึงทุกคน ได้ปรับปรุงทางเท้าไป 800 ก.ม. การผายปากทาง เพิ่มความคล่องตัวการจราจร ทำเสร็จแล้ว 33 จุด จาก 187 จุด โครงการแก้ไขปัญหาการจราจรด้วยการติดตั้งระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรเป็นพื้นที่ หรือ Area Traffic Control (ATC) อยู่ระหว่างติดตั้ง 72 จุด และอยู่ระหว่างของบประมาณติดตั้งอีก 200 จุด ทำให้ตำรวจไม่ต้องมานั่งกดปุ่มสัญญาณไฟจราจร

3.นโยบายสิ่งแวดล้อมดี ปัจจุบันโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น ทะลุไปถึง 1,225,336 ต้นแล้วและยังมียอดจองปลูกต้นไม้อีก 1,641,310 ต้น โครงการสวน 15 นาที ปัจจุบันมีสวน 15 นาที 179 สวน ในปี 68 ตั้งเป้า 357 สวน การกำหนด Low Emission Zone (LEZ) หรือมาตรการเขตมลพิษต่ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะรถบรรทุกเข้าพื้นที่ด้านในวงแหวนรัชดาภิเษก เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในช่วงที่ฝุ่นสูงอยู่ในขั้นวิกฤต โครงการรณรงค์คัดแยกขยะก่อนทิ้ง สามารถลดปริมาณขยะได้มากกว่า 10% ประหยัดงบประมาณมากกว่าปีละ 140 ล้านบาท

4.นโยบายสังคมดี โครงการ BKK Food Bank เป็นการรวบรวมส่งต่ออาหารจาก “ผู้บริจาค” สู่ “ผู้รับ” อย่างเป็นระบบ ปัจจุบันส่งต่ออาหารให้ผู้ที่ต้องการแล้ว 104,514 คน คิดเป็น 3,532,185 มื้อ การเปิดบ้านอิ่มใจ ที่ประปาแม้นศรี เพื่อเป็นสถานที่พักชั่วคราวสำหรับคนไร้บ้าน การปรับปรุงศูนย์กีฬาแบบใหม่ครบวงจร ที่มีกิจกรรมหลากหลายและประเภทกีฬาใหม่ๆ อาทิ พิกเคิลบอล เทกบอล ปิงปอง บาสเกตบอล โดยที่สวนเบญจกิติ จะเป็นต้นแบบขยายศูนย์กีฬาไปยังสวนอื่นๆ ทั่วกรุงเทพฯ

5.นโยบายสุขภาพดี ปีนี้เดินหน้าก่อสร้างและปรับปรุงศูนย์บริการสาธารณสุขไปแล้ว 18 แห่ง ปี 68 22 แห่ง ปี 69 แห่ง ปี 70 13 แห่ง รวมทั้งเพิ่ม โรงพยาบาลในสังกัดกทม.อีก 3 แห่ง ในปี 68 ได้แก่ 1.ร.พ.พระมงคลเทพมุนี เขตภาษีเจริญ 2.ร.พ.บุษราคัมจิตการุณย์ เขตสายไหม และ 3.ร.พ.ทุ่งครุ เขตทุ่งครุ ตลอดจนเปิดศูนย์เทคโนโลยีสุขภาพ Health Tech ให้บริการคัดกรองสุขภาพ และรักษาเบื้องต้นผ่านระบบ Telemed ไปแล้ว 7 แห่ง การบริการสุขภาพ ตามโครงการตรวจสุขภาพ 1,000,000 คน การตรวจคัดกรองมากกว่า 14 รายการพื้นฐาน เพื่อรู้สัญญาณของโรคก่อนที่จะเป็นอันตราย มีเพิ่มเจาะเลือดส่งตรวจแล็บ เอกซเรย์ปอด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และภาวะแทรกซ้อนทางตา ประชาชนสามารถตรวจสอบปฏิทินตรวจสุขภาพของแต่ละเดือน และเลือกวันเวลาและสถานที่ที่สะดวกไปรับบริการได้ ซึ่งประชาชนที่ไปรับบริการมีความพึงพอใจที่ไม่ต้องรอคิว ไม่ต้องเดินทางไกล และลดภาระค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกันยังดูแลไปถึงหมาแมว ในโครงการทำหมันหมาแมวฟรีให้กับบรรดาทาสด้วย

6.เศรษฐกิจดี ปี 67 จัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่แผงลอยนอกจุดผ่อนผันไปมากกว่า 350 จุด ทำให้มีผู้ค้าลดลงกว่า 5,300 ราย พร้อมทั้งหาพื้นที่ทดแทนให้กับผู้ค้า ตลอดจนใช้หลักเกณฑ์ใหม่ ผู้ค้า หาบเร่-แผงลอย กทม. ต้องเป็นคนไทยเท่านั้น 4 คุณสมบัติที่ต้องมีข้อใดข้อหนึ่ง ทั้ง ถือบัตรสวัสดิการ หรือ รายได้ไม่เกิน 3 แสนต่อปี นอกจากนี้ยังจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับพัฒนาเป็นศูนย์อาหาร Hawker Center การทำถนนคนเดินในหลายพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย

7.ปลอดภัยดี ได้เดินหน้าเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าแสงสว่างให้เป็นหลอด LED ที่มีอายุการใช้งานยาวกว่า เชื่อมระบบ IOT สามารถตรวจสอบหลอดไฟดวงที่เสียได้อัตโนมัติและแก้ไขได้รวดเร็ว ให้คนกรุงเทพฯ เแล้ว 85,000 ดวง ตั้งเป้าเปลี่ยนอีก 41,000 ดวงในปี 68 การติดตั้งกล้องซีซีทีวี เพื่อจับรถจักรยานยนต์วิ่งบนทางเท้า 100 จุด การใช้กล้อง AI ตรวจจับพฤติกรรมการขับขี่ การปรับปรุงทางม้าลายมาตรฐานใหม่ ซึ่งที่ดำเนินการมาสามารถลดอุบัติเหตุทางถนนระดับประเทศ 1% จาก 677 เคส เหลือ 616 เคส นอกจากนี้ยังตรวจจับปรับรถบรรทุกน้ำหนักเกินไปแล้ว 49 คัน ขณะเดียวกันจะก่อสร้างและปรับปรุงสถานีดับเพลิงในปี 68 อีก 17 แห่ง พร้อมแจกถังดับเพลิงมือถือ 36,000 ถังตามชุมชนต่างๆ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

8.นโยบายเรียนดี กทม.ได้จัดทำห้องเรียนดิจิทัล (Digital Classroom) สามารถช่วยเพิ่มคะแนนในทุกวิชาสูงถึง 28%การเปิดให้เด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไปเข้าเรียน ระดับชั้นอนุบาล เปิดแล้ว 300 ห้องเรียน มีนักเรียน 5,576 คน

นอกจากนี้ยังได้ปรับปรุงศูนย์พัฒนาเด็กอ่อนก่อนวัยเรียนทั้งด้านกายภาพ ทรัพยากรและหลักสูตร ไปพร้อมกันด้วย

และ 9.บริหารจัดการดี ด้วยการส่งเสริมโครงการชุมชนเข้มแข็งพัฒนาตนเอง ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีงบประมาณลงไปยังชุมชน 200,000 บาท/ชุมชน ปัจจุบันมีชุมชนเข้าร่วมโครงการแล้ว 300 ชุมชน จาก 2,007 ชุมชน เบิกจ่ายงบประมาณไปแล้ว 50% ปี 68 จะเร่งประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ชุมชนเข้าร่วมโครงการดังกล่าว นอกจากนี้จะเดินหน้ามาตรการจัดเก็บภาษี ซึ่งปี 67 สามารถจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเกินเป้าหมายกำหนด เพราะกทม.ทำฐานข้อมูลที่ครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ และปี 68 จะผลักดันให้จัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียม 3 ประเภท ประกอบด้วย 1.ภาษีบำรุงกรุงเทพมหานครสำหรับน้ำมัน 2.ภาษีบำรุงกรุงเทพมหานครสำหรับยาสูบ 3.ของค่าเช่าห้องพักโรงแรม

นอกจากนี้มีการมอบเป้าหมายการทำงานให้กับเขต เพื่อที่จะได้รู้ว่า 1 ปีต่อจากนี้เราคาดหวังอะไร ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมากเพราะเมื่อมอบเป้าหมายไปแล้ว ผู้อำนวยการเขตจะมีจุดมุ่งหมายว่าแต่ละวันต้องคิดและทำอะไร เพื่อให้ได้ผลงานที่เป็นรูปธรรม ปี 67 แล้วมี 22 เป้าหมาย ปี 68 เพิ่มเป็น 34+ เป้าหมาย เป้าหมายทั้งหมดนี้จะเป็นตัวสำคัญในการขับเคลื่อนงานให้เป็นรูปธรรม สิ่งที่เห็นการเปลี่ยนแปลงในกรุงเทพฯ มาจากการกำหนดเป้าหมาย เพื่อให้ทุกเขตเดินหน้าไปด้วยกัน

นายชัชชาติกล่าวด้วยว่า ในปี 68 สิ่งที่คนกรุงเทพฯ จะต้องเจอคือการจ่ายค่าธรรมเนียมอัตราใหม่ หากบ้านไหนไม่คัดแยกขยะจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น 3 เท่า รวมทั้งจัดเก็บค่าธรรมเนียมการบำบัดน้ำเสีย

อย่างไรก็ตามการทำงาน 2 ปี 6 เดือนที่ผ่านมา หากให้คะแนนตัวเอง จาก 10 เต็ม 5 ส่วนทีมงานให้เต็ม 10 ทุกคน ในอนาคตจะลงรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.อีกสมัยหรือไม่นั้น สามารถตัดสินใจได้ง่าย เพราะไม่ต้องใช้เงินทุนหาเสียง และไม่มีแผนไปลงสนามใหญ่

“Passion ของผมคือ เห็นคนชีวิตดีขึ้น จึงต้องทำงานให้หนักทุกวัน เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ สำหรับทุกคน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.