อินเดีย ระมัดระวังเกี่ยวกับการโดนทุ่มตลาดจากจีน ประกาศชัดเจนไม่รับบีวายดี แต่เล็งดึงเทสลาเข้ามาลงทุนในประเทศแทน ด้านผู้ผลิตในประเทศค้านทุกมาตรการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า อินเดียยังจำกัดการเข้าถึงตลาดของ บีวายดี (BYD) บริษัทยานยนต์ไฟฟ้า (EV) สัญชาติจีน แต่กำลังตามจีบบริษัทคู่แข่งจากสหรัฐอย่าง เทสลา (Tesla) ให้เข้ามาร่วมลงทุน แสดงให้เห็นถึงความหวาดระแวงที่มีต่อจีน แม้จะมีสัญญาณที่ผ่อนคลายลงในช่วงไม่นานมานี้ก็ตาม
ไพยุช โกยาล รัฐมนตรีพาณิชย์อินเดีย กล่าวกับทางบลูมเบิร์กที่งานอินเดีย โกลบอล ฟอรัม (India Global Forum) ว่า อินเดียจำเป็นต้องพิจารณาผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบคอบว่าบริษัทใดควรได้รับอนุญาตเข้ามาลงทุนบ้าง ซึ่งขณะนี้ บีวายดียังไม่ได้รับอนุญาต
ปีก่อน รัฐบาลอินเดียปฏิเสธข้อเสนอลงทุนมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 34,600 ล้านบาท) ของบีวายดีกับหุ้นส่วนในอินเดีย ขณะที่ เกรท วอลล์ มอเตอร์ (Great Wall Motor) บริษัทยานยนต์สัญชาติจีนอีกรายก็ขออนุญาตขึ้นทะเบียน (Regulatory Clearance) ไม่ผ่านเช่นกัน
แถลงการณ์ของไพยุช โกยาล รัฐมนตรีพาณิชย์อินเดียเกิดขึ้นหลัง โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ประธานาธิบดีสหรัฐขู่ว่าจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มอีก 50% หลังจีนไม่ยกเลิกแผนการขึ้นภาษีตอบโตในวันที่ 8 เมษายน
นอกจากนี้ อินเดียยังมีมาตรการคุ้มครองการค้าอันแข็งกร้าวกว่าที่ใด ๆ กับอัตราภาษีศุลกากร 100% สำหรับรถยนต์นำเข้าทั้งคัน (CBU) ซึ่งสูงสุดในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ด้วยกัน อย่างไรก็ตาม แม้อินเดียจะคุ้มครองผู้ผลิตในประเทศมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ด้วยการเจรจาการค้าเสรีกับสหรัฐและสหภาพยุโรป (EU) ที่คืบหน้ามากขึ้น ได้สร้างแรงกดดันให้อินเดียต้องเปิดตลาดรถยนต์ในประเทศ ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกให้แก่ต่างชาติมากขึ้น
ไพยุช โกยาล กล่าวว่า อินเดียพร้อมเจรจากับประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งยังเสริมด้วยว่า อินเดียจะระมัดระวังการทุ่มตลาดจากจีนเช่นกัน
อินเดียต้องการเป็นฮับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลก แต้ด้วยอุปสรรคในการเข้าถึงตลาด (Entry Barriers) ที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับ 2.5% ในสหรัฐ 10% ในเยอรมนี และ 25% ในจีน ทำให้เทสลาเลือกที่จะถอยห่างเพราะกำแพงภาษีสูงเกินไป ขณะที่บีวายดีกลับขออนุญาตขึ้นทะเบียนไม่ผ่าน แม้ว่าอุปสงค์ยานยนต์ไฟฟ้าราคาประหยัดจะสูงมากก็ตาม
ด้านผู้ผลิตในประเทศอย่าง ทาทา มอเตอร์ (Tata Motors) และ มหินทราแอนด์มหินทรา (Mahindra & Mahindra) ยืนกรานต่อต้านการผ่อนคลายมาตรการภาษีอย่างหนักแน่น เพราะเกรงว่าบริษัทคู่แข่งจากต่างชาติจะเข้ามาตัดราคาได้ จากการเสนอมาตรการจูงใจของภาครัฐ