เปิดงานด้วยความสนุกสนานกับการแสดงทางวัฒนธรรมที่หาชมได้ยาก ชุด “เรือมอันเร” จากจังหวัดสุรินทร์ เมืองแห่งอีสานใต้ การละเล่นพื้นบ้านของชาวไทยเชื้อสายเขมรที่สร้างสรรค์ สั่งสมและสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น กลายเป็นอัตลักษณ์ชุมชนทรงคุณค่า โดดเด่นด้วยชายหญิงร่ายรำอ่อนช้อย แต่จังหวะครื้นเครง ท่วงท่าเข้ากับจังหวะการกระทบสากตำข้าว เรือนอัมเรเป็นหนึ่งในรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีระดับชาติในปี พ.ศ. 2567 ซึ่งมีการประกาศขึ้นบัญชีทั้งหมด 10 รายการ เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมจากทั่วทุกภาคของประเทศไทย พิธีประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประจำปี 2567 จัดขึ้น โดยกระทรวงวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยมีนายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน พร้อมด้วย นางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัด วธ. (รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม) รองอธิบดี สวธ. ผู้ว่าราชการจังหวัด และชุมชนผู้สืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมจาก 9 จังหวัด 10 ชุมชน เข้าร่วมงาน
สำหรับปี 2567 คณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมมีมติประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 10 รายการ ดั้งนี้ ประเภทรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ต้องได้รับการส่งเสริมและรักษาอย่างเร่งด่วน สาขาวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา ได้แก่ ตำนานสุบินกุมาร จ.นครปฐม สาขาศิลปะการแสดง ได้แก่ เพลงทรงเครื่อง จ.ชัยนาท สาขางานช่างฝีมือดั้งเดิม ได้แก่ ผ้าเกาะโส้ จ.นครพนม สาขาการเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้าน และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว ได้แก่ ยิงคันกระสุน จ.อุทัยธานี
ประเภทรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เป็นรายการที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นและยังปฏิบัติสืบทอดทั่วไป สาขาวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา ได้แก่ ตำนานพระนางสร้อยดอกหมาก จ.พระนครศรีอยุธยา และตำนานเขานางหงส์ จ.พังงา สาขาศิลปะการแสดง ได้แก่ เรือมอันเร จ.สุรินทร์ สาขาแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาล ได้แก่ บุญเดือน 3 นมัสการ พระธาตุพนม จ.นครพนม สาขางานช่างฝีมือดั้งเดิม ได้แก่ เสื่อกกจันทบูร จ.จันทบุรี และผ้าหม้อห้อม จ.แพร่ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติเหล่านี้เป็นประจักษ์พยานเอกลักษณ์ไทยที่มีคุณค่า ที่คนไทยต้องร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาต่อยอดอย่างยั่งยืน
นายประสพ เรียงเงิน กล่าวว่า มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมถือเป็นสมบัติของชาติที่สะท้อนให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ วิถีชีวิต ความเชื่อและภูมิปัญญาที่ได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น จนหล่อหลอมเป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่งดงามและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ทั้งนี้ การอนุรักษ์และส่งเสริมมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเป็นส่วนสำคัญขับเคลื่อน Soft Power ของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล พร้อมทั้งเป็นกลไกในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ สวธ. ได้ดำเนินการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการบันทึกองค์ความรู้และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่า สร้างความภาคภูมิใจให้กับชุมชน และส่งเสริมความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการอนุรักษ์และสืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน
“ การขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมและคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ กระทรวงวัฒนธรรมขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นรากฐานในการเสริมสร้างความภาคภูมิใจของชาติและส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทยในอนาคต “ นายประสพ กล่าว
ด้าน นางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา กล่าวว่า การประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมครั้งนี้ นับเป็นมาตรการสำคัญที่ช่วยบันทึกหลักฐานและสาระสำคัญของมรดกภูมิปัญญาไทย เพื่อสร้างความตระหนักรู้และความภาคภูมิใจแก่ชุมชน องค์กร และหน่วยงานที่มีบทบาทในการสืบทอดภูมิปัญญาเหล่านี้ นอกจากนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ยังได้จัดกิจกรรมเผยแพร่ข้อมูล อาทิ นิทรรศการ การแสดง และการสาธิตทางวัฒนธรรม ซึ่งครอบคลุมทั้งวรรณกรรมพื้นบ้าน ศิลปะการแสดง งานช่างฝีมือดั้งเดิม ตลอดจนพิธีกรรมและเทศกาลที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ จะเป็นการส่งเสริมให้มรดกภูมิปัญญาของชาติได้รับการอนุรักษ์และถ่ายทอดไปยังคนรุ่นต่อไปอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ภายในมีการจัดฉายวีดิทัศน์การประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ.2567 จำนวน 9จังหวัด 10 ชุมชน ตลอดจนนิทรรศการและการสาธิตทางวัฒนธรรม “รายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมทั้ง 10 รายการ ซึ่งแต่ละชุมชนได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานและต่างภาคภูมิใจที่ได้เผยแพร่มรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมในจังหวัดตนเองสู่สายตาชาวไทยและชาวต่างประเทศ ที่สำคัญเป็นพลังในการอนุรักษ์วัฒนธรรมของชาติ