เนสท์เล่ เดินหน้าขาย ‘เนสกาแฟ’ จ้างบริษัทไทยช่วยผลิต-นำเข้าชั่วคราว พร้อมเปิดให้ ‘ร้านค้า’ สั่งซื้อได้แล้ว
เมื่อวันที่ 17 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลแพ่งมีนบุรียังไม่มีคำตัดสินออกมากรณี เฉลิมชัย มหากิจศิริ หนึ่งในผู้ถือหุ้น บริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) ฟ้องดำเนินคดี เนสท์เล่
และศาลได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 ห้ามมิให้ “เนสท์เล่” ผู้เป็นเจ้าของแบรนด์ เนสกาแฟ ดำเนินการผลิต ว่าจ้างผลิต จำหน่าย และนำเข้าผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป โดยใช้เครื่องหมายการค้า Nescafé ในประเทศไทย
ทว่าเมื่อวันที่ 8 เมษายน “เนสท์เล่” ได้ยื่นขอเพิกถอนคำสั่งชั่วคราว และศาลนัดไต่สวนวันที่ 17 เมษายน ในขณะที่ในวันเดียวกัน “เนสท์เล่” ยื่นคำร้องต่อศาลเพิ่มอีกฉบับ ขอให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ วินิจฉัยข้อโต้แย้งอำนาจการพิจารณาคดีของศาลแพ่งมีนบุรี พร้อมกับขอให้ส่งคดีไปให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเป็นผู้พิจารณา
เนื่องจาก “เนสท์เล่” ได้ยึดตามคำตัดสินล่าสุดจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ที่ได้มีคำสั่งวันที่ 11 เมษายน 2568 ยืนยันว่าบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด เป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้า “Nescafé” ในประเทศไทย
ด้าน “มหากิจศิริ” ขอยื่นคำแถลงโต้แย้งคัดค้าน ซึ่งศาลให้ยื่นในวันที่ 23 เมษายนนี้ และนัดฟังคำสั่งวันที่ 20 มิถุนายน พร้อมกับคำสั่งคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว
ทั้งนี้ ในระหว่างนี้ “เนสท์เล่” ได้กลับมาเดินหน้าขาย “เนสกาแฟ” ต่อ หลังศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง มีคำสั่งว่า บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด เป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้า “Nescafé” ในประเทศไทย ซึ่งมีผลให้ “เนสท์เล่” สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจเนสกาแฟในประเทศได้ตามปกติตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2568
ขณะที่ร้านค้าก็เริ่มสั่งซื้อสินค้าแล้ว โดย นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ จำกัด ผู้ประกอบการค้าปลีกและค้าส่ง จ.อุดรธานี กล่าวว่า เนสท์เล่ติดต่อมาทางร้านเพื่อรับคำสั่งซื้อเนสกาแฟล็อตใหม่เพิ่ม โดยร้านได้สั่งซื้อเพิ่มประมาณ 2,000 ลัง จากเดิมเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้สั่งซื้อไปแล้ว 4,000 ลัง ซึ่งจะจัดส่งให้พรุ่งนี้ (18 เม.ย.) ส่วนข้อพิพาทที่เกิดขึ้นก็คงต้องรอฟังคำตัดสินของศาลต่อไป
ส่วนการผลิตนั้น “เนสท์เล่” ระบุว่า หลังสัญญาระหว่าง เนสท์เล่กับบริษัท QCP สิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2567 โดยมีผลสมบูรณ์ทางกฎหมายตามคำตัดสินจากศาลอนุญาโตตุลาการสากล ดังนั้น บริษัท QCP จึงไม่มีสิทธิในการผลิตผลิตภัณฑ์เนสกาแฟอีกต่อไป
โดย “เนสท์เล่” ได้จัดหาผลิตภัณฑ์เนสกาแฟเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคคนไทย ด้วยการว่าจ้างบริษัทในประเทศไทยให้ช่วยผลิตผลิตภัณฑ์เนสกาแฟ พร้อมทั้งนำเข้าผลิตภัณฑ์บางส่วนจากประเทศอื่นเป็นการชั่วคราว จนกว่า “เนสท์เล่” จะสามารถกลับมาดำเนินการผลิตเนสกาแฟในประเทศได้อีกครั้ง