ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดค่าใช้จ่ายเปิดเทอม 2568 สะพัด 6.2 หมื่นล้าน
นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายและผลกระทบของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอมปีการศึกษา 2568 จำนวน 1,250 ตัวอย่างระหว่าง 1-6 พฤษภาคมนั้น ประเมินว่าจะมีมูลค่าการใช้จ่ายรวม 62,615 ล้านบาท เติบโตกว่าปีก่อน 3.80%
ซึ่งในแง่มูลค่าถือว่าสูงสุดจากที่ได้ทำการสำรวจตั้งแต่ปี 2553 โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยโดยรวม 26,039 บาท/เทอม ซึ่งหากเรียนในโรงเรียนรัฐบาล อยู่ที่ 15,771 บาท/เทอม หากเป็นภาคพิเศษอยู่ที่ 41,723 บาทต่อเทอม ส่วนโรงเรียนเอกชน ภาคปกติ 35,627 บาท ภาค 2 ภาษา 59,157 บาท
โดยส่วนใหญ่ 95% ระบุว่าต้องเตรียมจ่ายค่าบำรุงโรงเรียน (แป๊ยะเจี๊ยะกรณีย้ายโรงเรียน) เพิ่มขึ้น หรือเฉลี่ยใช้เงิน 8,786 บาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านค่าเทอม ค่าบำรุงโรงเรียน (ที่เดิม) ค่าหนังสือ ค่าอุปกรณ์การเรียน และค่าบริหารจัดการพิเศษ เช่น ค่าประกันชีวิต ยังไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อน แต่ชุดนักเรียน-รองเท้าสูงขึ้น
ทั้งนี้ 34.7% ระบุมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม จากราคาสินค้าแพงขึ้น ส่วนที่ใช้จ่ายได้เท่าเดิมถึงลดลง 65.3% มาจากสาเหตุราคาของแพงทำให้ต้องประหยัด ไม่มั่นใจต่อเศรษฐกิจไทย ขาดสภาพคล่อง และมีภาระหนี้มาก ซึ่ง 56.6% โดย 33.4% ระบุแก้ปัญหาโดย 40.4% ระบุจำเป็นต้องหารายได้เสริม และ 53.2% ระบุต้องมีรายได้อีกเฉลี่ย 5,000-10,000 บาท ส่วน 23.3% ลดค่าใช้จ่ายส่วนอื่น ๆ เช่น ใช้ชุดนักเรียนเดิมเท่าที่จำเป็น ลดซื้อใหม่ เพราะใช้เงินกับตำราเรียนและอุปกรณ์การศึกษา
สำหรับความคิดเห็นประเด็นอื่น ๆ เกี่ยวกับการศึกษา สะท้อนดังนี้ 41% ระบุกังวลการคบเพื่อนของบุตรหลาน ตามด้วยกังวลความรุนแรงในสังคมโรงเรียน และไม่มีงานทำในอนาคต อีกทั้งห่วงเด็กไทยค้นพบความถนัดของตนเองช้าเกินไป และความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเด็กในเมืองหรือเด็กฐานะดี ในแง่การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 44.6% มองเป็นผลเสียมากกว่าดี เพราะเป็นต้นเหตุการควบคุมอารมณ์ไม่ได้ และขาดการปฎิสัมพันธ์ในครอบครัว
ส่วนอีก 37.7% มองว่าดีกว่าไม่ดี เพราะจะช่วยเพิ่มทักษะด้านภาษี และสร้างทักษะการตัดสินใจ ดังนั้น 40.6% แนะใช้การแนะนำถึงข้อดีข้อเสีย และอีก 47.8% ระบุควรใช้การกำหนดให้เห็นเฉพาะวันหยุดและจำกัดเวลาเล่น
อย่างไรก็ตาม ยังมองว่าเทคโนโลยีและการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญต่อบุตรหลานในอนาคต จึงเห็นด้วยที่รัฐมีการสนับสนุนทางการศึกษา ผ่านกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ในทุกระดับการศึกษา โดยเสนอสิ่งที่รัฐต้องปรับปรุง คือ ระบบการประเมินผลนักเรียนที่วัดในหลายมิติ ลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาในแต่ละโรงเรียน เพิ่มการสนับสนุนทุนการศึกษาผู้ขาดแคลน พัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ทัดเทียมระดับสากลทั้งภาครัฐและเอกชน ปรับการสอนและเพิ่มบุคลากร