ถอดรหัสความเบื่อหน่าย : ทำไมนักเรียนจำนวนมากจึงขาดแรงจูงใจในการเรียน
SUB_BUA May 15, 2025 02:22 PM
คอลัมน์ : SD Talkผู้เขียน : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สหวรัชญ์ พลหาญ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ลูกไม่สนใจเรียน” “เด็กยุคนี้ไม่มีความอดทน”-เสียงบ่นคุ้นหูจากผู้ปกครองสะท้อนปรากฏการณ์ “Student Disengagement” หรือภาวะที่นักเรียนถอยห่างจากการเรียนรู้

งานวิจัยล่าสุดชี้ว่า ปัญหานี้ไม่ได้เกิดจาก “เด็กเปลี่ยน” แต่เกิดจาก “โลกเปลี่ยน” ในขณะที่ “โรงเรียนไม่เปลี่ยน” โดยเฉพาะหลังวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของเยาวชนอย่างมาก

ในบริบทไทย สถานการณ์อาจรุนแรงยิ่งกว่าเนื่องจากการศึกษาแบบเน้นการท่องจำและการสอบยังคงมีอิทธิพล ในขณะที่โลกภายนอกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดคำถาม “เรียนไปเพื่ออะไร ?” ในใจเด็กไทยจำนวนมาก

ศาสตราจารย์ลอเรนซ์ สตีนเบิร์ก จากมหาวิทยาลัยเทมเปิล อธิบายว่า วัยรุ่นมีความต้องการพื้นฐานสามประการ คือ ความเป็นอิสระ (Autonomy) ความรู้สึกว่าตนเองมีความสามารถ (Competence) และความรู้สึกเชื่อมโยงกับผู้อื่น (Relatedness) ซึ่งระบบการศึกษาแบบเดิมมักไม่ตอบสนองความต้องการเหล่านี้

ในโรงเรียนไทยส่วนใหญ่ นักเรียนแทบไม่มีอิสระในการเลือกสิ่งที่อยากเรียนรู้ และมักถูกประเมินด้วยมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ไม่น่าแปลกใจที่พวกเขาจะหันไปหาความพึงพอใจจากโลกออนไลน์ที่ตอบสนองความต้องการเหล่านี้ได้ดีกว่า

โรงเรียนที่มีแนวคิดก้าวหน้าเริ่มปรับตัว ด้วยการให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนรู้เชื่อมโยงเนื้อหาวิชากับประเด็นที่เด็กสนใจ และสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กได้ลองผิดลองถูก ผลลัพธ์คือนักเรียนกลับมามีแรงจูงใจในการเรียนรู้อีกครั้ง

สำหรับผู้ปกครองและครู แนวทางปฏิบัติเบื้องต้นคือ การสร้างพื้นที่ให้เด็กได้เลือกและตัดสินใจการตั้งคำถามปลายเปิด และการเชื่อมโยงการเรียนกับความสนใจของเด็ก เช่น หากลูกชอบเกม อาจชวนวิเคราะห์กลไกเกมผ่านมุมมองคณิตศาสตร์หรือฟิสิกส์

การแก้ปัญหา “เด็กไม่สนใจเรียน” จึงไม่ใช่การบังคับให้เด็กปรับตัวเข้าหาระบบที่ไม่สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน แต่เป็นการปรับระบบให้สอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้และความต้องการของเด็ก

เมื่อการศึกษาตอบโจทย์ชีวิตจริง ไฟแห่งการเรียนรู้ก็จะกลับมาลุกโชนอีกครั้ง ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนจะร่วมกันออกแบบการศึกษา ที่ไม่เพียงเตรียมเด็กเพื่ออนาคต แต่ยังทำให้พวกเขามีความสุขกับการเรียนรู้ในปัจจุบัน เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวเด็ก แต่อยู่ที่ระบบที่เราสามารถร่วมกันเปลี่ยนแปลงได้

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.