ณ วินาทีนี้ สินทรัพย์ที่ถือว่าร้อนแรงที่สุดคงหนีไม่พ้น “ทองคำ” เพราะราคาทองคำได้ไต่ขึ้นไปสูงเกิน 3,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ สูงสุดนับตั้งแต่มีการซื้อขายทองกันมา เมื่อผมย้อนกลับไปคิด ตอนทำงานแบงก์ชาติใหม่ ๆ ราคายังต่ำติดดินระดับ 400 ดอลลาร์สหรัฐอยู่เลย
และช่วงนั้นไม่เคยคิดที่จะซื้อทองคำ ไม่ใช่ด้วยเหตุที่ว่า ไม่ใช่คนเชื้อสายจีนที่มักได้รับกันในช่วงเทศกาลตรุษจีน แต่คิดว่าทองไม่ได้ดอกไม่ได้ผลอะไร ซื้อมาต้องหาที่เก็บ วันดีคืนดีอาจจะจำไม่ได้ว่าเก็บไว้ที่ไหน และจะถือว่าได้กำไรจริง ๆ ก็ต่อเมื่อได้ขายทิ้งแล้ว ไม่เช่นนั้นก็เพียงแต่เป็นกำไรแบบทดไว้ในใจ คอยไว้อวดคนรอบข้าง มาวันนี้จึงไม่ได้ถือครอบครองทองแม้แต่สลึงเดียว นึกคิดไปแล้วไม่ทราบว่าคิดถูกหรือผิด แต่ตอบได้เพียงคำเดียวว่า “เสียดาย”
ทองคำ หรือ Aurum ในภาษาละติน และเป็นที่มาของสัญลักษณ์ AU ธาตุลำดับที่ 79 ในตารางเคมี ที่เราร่ำเรียนกันมา ทองคำถือเป็นโลหะธรรมชาติที่มีลักษณะโดดเด่นไม่เหมือนใคร เป็นหนึ่งในโลหะที่หายากที่สุดในโลก หายากกว่าทองแดงถึง 15,000 เท่า มีความทนทาน แม้ว่าจะมีจุดหลอมเหลวต่ำกว่าโลหะมีค่าอื่น ๆ แต่ไม่เป็นสนิม ไม่สึกกร่อน ไม่มัวหมอง หรือสลายตัวเมื่อวันเวลาผ่านไป คุณสมบัติเหล่านี้จึงช่วยให้วัตถุทองคำไม่บุบสลาย
นอกจากคุณสมบัติทางเศรษฐกิจและผลกระทบต่อศิลปะ วัฒนธรรม และศาสนาแล้ว ทองคำยังเป็นวัตถุที่มีเสน่ห์ด้วยเหตุผลหลายประการ ประการแรก ทองคำหาได้ยากตามธรรมชาติ มนุษย์มักจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่หายากและไม่เหมือนใคร ประการที่สอง ทองคำสกัดได้ยาก แม้ว่าเราจะพบทองคำ แต่เราต้องมีอุปกรณ์และเทคนิคเฉพาะ เพื่อสกัดทองคำแยกออกจากแร่ธาตุอื่น ๆ และ
ประการสุดท้าย ทองคำบริสุทธิ์มีความโดดเด่นทางสายตา สีทองสะท้อนแสงและเปล่งประกายภายใต้แสงอย่างมีเอกลักษณ์ ทำให้มีเสน่ห์อย่างเป็นธรรมชาติ และดวงตาของมนุษย์ถูกดึงดูด
ในยุโรปยุคกลาง ทองคำถูกใช้เป็นรูปแบบหนึ่งของสกุลเงิน และเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจ กษัตริย์และขุนนางประดับตัวเองด้วยเครื่องประดับทองคำและมงกุฎ เพื่อแสดงสถานะของพวกเขา ในขณะที่คนจีนถือว่าทองคำเป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่ง ความร่ำรวย ความโชคดี ความเป็นอมตะ จนกลายเป็นเครื่องรางของขลัง
ทั้งนี้ นักลงทุนยอมรับว่าทองคำเป็นแหล่งเก็บมูลค่าสากลมานานแล้ว และเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนทางการค้าทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ตลอดศตวรรษที่ 19 และ 20 หลายประเทศดำเนินการภายใต้มาตรฐานทองคำ ซึ่งตรึงมูลค่าสกุลเงินของตนไว้กับทองคำในปริมาณคงที่ แม้ว่าจะไม่ได้ใช้งานอีกต่อไปในปัจจุบัน แต่ทองคำยังคงเป็นส่วนหนึ่งของเงินสำรองระหว่างประเทศที่ธนาคารกลางทั่วโลกถือครองอยู่
การค้นพบทองคำต้องย้อนไปมากกว่า 3,000 ปีก่อนคริสตกาล โดยชาวอียิปต์ซึ่งเชื่อว่าเป็นเนื้อของเทพเจ้า พวกเขาใช้ทองคำไม่เพียงแต่เพื่อการตกแต่งเท่านั้น แต่ยังใช้สำหรับพิธีกรรมทางศาสนา และเป็นสกุลเงินรูปแบบหนึ่งด้วย การขุดทองคำแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของโลก รวมถึงยุโรป ตะวันออกกลาง เอเชีย และแอฟริกา นอกจากนั้น ชาวกรีกและโรมันยังให้ความสำคัญกับทองคำในด้านความงามและความทนทาน พวกเขาใช้มันเป็นเครื่องประดับ เหรียญ และสินค้าฟุ่มเฟือยอื่น ๆ
แต่การค้นพบทองคำก้อนในแคลิฟอร์เนียในปี ค.ศ. 1848 น่าจะเป็นเหตุการณ์ที่พลิกโฉมประวัติศาสตร์โลก จากการที่ เจมส์ มาร์แชลล์ (James W. Marchall) ค้นพบด้วยความบังเอิญจากการทำงานที่เหมืองแร่ในแคลิฟอร์เนีย จุดประกายให้เกิดปรากฏการณ์ “ตื่นทอง” (California Gold Rush) ดึงดูดให้ผู้คนย้ายถิ่นฐานไปเสี่ยงดวงขุดหาทองกันในแถบตะวันตกของสหรัฐ เปลี่ยนโฉมเมืองที่ทุรกันดารให้กลายเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐ เช่น ซานฟรานซิสโก
นอกจากนั้น หนึ่งในช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นที่สุดสำหรับนักสำรวจ คือการค้นพบทองคำเป็นก้อนใหญ่ (Gold Nugget) ในประเทศออสเตรเลียเมื่อปี ค.ศ. 1869 มีน้ำหนักถึง 230 ปอนด์ ได้รับการขนานนามว่า “Welcome Stranger”
ประวัติความเป็นมาของการค้นพบทองคำเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความเฉลียวฉลาด ความทะเยอทะยาน และความอุตสาหะของมนุษย์ ตั้งแต่อารยธรรมโบราณของอียิปต์ ไปจนถึงเศรษฐกิจสมัยใหม่ ในศตวรรษที่ 21 ทองคำเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่ง อำนาจ และความงามมานานนับพันปี ผลกระทบของทองคำต่อชีวิตของผู้คนและประวัติศาสตร์ของโลกไม่สามารถมองข้ามได้ และมรดกทองคำยังคงสะท้อนมาจนถึงทุกวันนี้