โรคไต เป็นปัญหาสาธารณสุขระดับประเทศของทุกประเทศ ผู้ป่วย โรคไตเรื้อรัง (CKD – Chronic Kidney Disease) มีอัตราเพิ่มขึ้นทุกปี
สถานการณ์ โรคไต ในประเทศไทยยิ่งน่าเป็นห่วง ติดอันดับ 1 ใน 5 ที่มีอัตราผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังสูงที่สุด ขณะนี้มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังขึ้นทะเบียนถึง 11.6 ล้านคน เกือบ 9 หมื่นคนต้องฟอกเลือดทุกปี
อย่างไรก็ดี ป้องกันไว้ก่อนด้วย 10 อาหารดูแลไต กินให้ถูกป้องกันโรคไต เพื่อสุขภาพไตแข็งแรง และช่วยสุขภาพหัวใจ ความดัน เบาหวาน ป้องกันโรค NCDs อื่น ๆ อีกด้วย
กินให้ถูกป้องกันโรคไต (Cr.premiermedicalhv.com)
หน้าที่ของไต : ขจัดของเสียและน้ำส่วนเกินออกจากเลือด และออกไปเป็นน้ำปัสสาวะ ของเสียเช่น ยูเรีย ครีเอตรีนีน กรดยูริค ยาและสารแปลกปลอมอื่น ๆ นอกจากนี้ยังสามารถดูดกลับสารที่เป็นประโยชน์ไว้กับร่างกาย เช่น โปรตีน น้ำตาล
และรักษาสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนหลายชนิด เช่น สารที่ช่วยกระตุ้นให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดง สารที่เสริมสร้างกระดูก เช่นวิตามินดี และสารที่ควบคุมความดันโลหิต
ไตคืออวัยวะสำคัญ ถ้าคนเราไม่มีไต หรือเกิด ภาวะไตวาย หยุดทำงาน ของเสียเหล่านี้จะคั่งค้างอยู่ในกระแสเลือดและในร่างกาย ร่างกายก็จะเป็นพิษ ระบบการทำงานภายในหยุดทำงานและเสียชีวิตได้ในที่สุด
โรคไตเป็น 1 ใน 4 โรคซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย ส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารและไลฟ์สไตล์ยุคปัจจุบัน กินอย่างเร่งรีบ กินอาหารสำเร็จรูปเยอะ เป็นสาเหตุของ โรคไตเรื้อรัง เริ่มแรกอย่างไม่รู้ตัว
ในอเมริกา คนวัยผู้ใหญ่ 1 ใน 7 คนเป็น CKD และอัตราเสี่ยงในวัยผู้ใหญ่สูงมากคือ 1 ใน 3 คน (สถิติเมื่อปี 2023) ที่สำคัญคือ คนวัยนี้ 90% ไม่รู้ว่าตัวเองเป็น CKD
การป้องกันโรคไต ยากกว่าป้องกัน ภาวะก่อนเกิดเบาหวาน (Prediabates) และป้องกัน ภาวะก่อนเกิดโรคอ้วน (Preclinical obesity) ยกตัวอย่าง ภาวะก่อนเป็นเบาหวาน แสดงออกด้วยระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ หรือเมื่อเริ่มอ้วนก็น้ำหนักเพิ่ม ค่า BMI สูงเกินขีด มีข้อบ่งชี้ทางร่างกายเห็นชัดกว่าโรคไต
อย่างไรก็ดี สัญญาณเตือนโรคไต เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด, ฟอง, ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร บวมหน้า-เท้า การกินมากเกินไป ดื่มน้ำน้อย กินโซเดียมสูง และผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานและความดันสูงอยู่แล้ว มีอัตราเสี่ยงเป็นโรค CKD
แนวทางดูแล ป้องกันก่อนเกิดโรคไต คือการควบคุมอาหาร หมายถึงช่วยให้ไตทำงานง่ายขึ้นจะได้เสื่อมช้าลง
10 อาหารดูแลไต + วิธีเลือกและปรุงอาหารเพื่อสุขภาพไต ป้องกันโรคไต
1 ลดเกลือและโซเดียม แต่ละวันควรกินโซเดียมไม่เกิน 2,300 มิลลิกรัม หรือดูที่ฉลากข้างบรรจุภัณฑ์ คำแนะนำสำหรับบริโภคไม่เกินวันละ 20% วิธีนี้ช่วยสำรวจปริมาณไขมันทราส์และไขมันอิ่มตัวไปด้วย
2 ซื้ออาหารสดเพื่อปรุงเอง (บ่อย ๆ) เพราะอาหารปรุงสำเร็จส่วนใหญ่ในซูเปอร์, ร้านสะดวกซื้อ หรือร้านอาหารทั่วไปมักเติมโซเดียม เมื่อปรุงเองจะกำหนดปริมาณเกลือและโซเดียมได้
3 เลี่ยงอาหารผ่านกระบวนการ เท่าที่จะทำได้ เช่น อาหารกระป๋อง อาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารแช่แข็งสำเร็จ หรือเมื่อจะใช้ให้นำผัก ถั่ว เนื้อสัตว์ (กระป๋อง) ไปล้างผ่านน้ำก่อนนำไปปรุงอีกที
4 ใช้สมุนไพร เครื่องเทศ ปรุงแต่งกลิ่นและรสแทนเกลือ ซึ่งอาจสร้างรสชาติที่ดีกว่า
5 กินโปรตีนที่เหมาะสม ในขณะที่ร่างกายต้องการโปรตีนไปใช้ ไตจะทำหน้าที่ขับของเสีย กินโปรตีนให้พอดีช่วยลดการทำงานหนักของไต
เช่น หมู ไก่ ปลา ถั่วต่าง ๆ ไข่ นมและผลิตภัณฑ์จากนม ในผู้ที่มีภาวะไตทำงานเสื่อมไปบางส่วน อาจเร่งการเกิดโรคไตให้เร็วขึ้นได้ เพราะอาหารโปรตีนสูง ทำให้เลือดในร่างกายมีความเป็นกรดมากขึ้น ไตจึงต้องทำงานหนักเพื่อขับยูเรียซึ่งเป็นของเสียที่ได้จากการสลายโปรตีนและเพิ่มการขับกรดออกจากร่างกาย
6 เลือกอาหารบำรุงสุขภาพหัวใจ ซึ่งช่วยดูแลสุขภาพไต และหลอดเลือดด้วย ได้แก่ เนื้อสัตว์ไร้มัน ปลา ผัก ถั่ว นมโลว์แฟต ฯลฯ
7 เลือกวิธีปรุงอาหารด้วยการต้ม นึ่ง อบ ย่าง หรือทอดด้วยน้ำมันน้อยแทนการทอดน้ำมันเยอะ (deep frying) รวมถึงตัดส่วนไขมันในเนื้อไก่ หมู เนื้อวัว ออกบ้าง
8 ลดปริมาณฟอสฟอรัส เมื่อกินอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง ร่างกายจะดูดซึมฟอสฟอรัสเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ไตทำงานหนัก เมื่อขับออกไปไม่หมดส่งผลให้ระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูงขึ้น ส่งผลต่อเนื่องไปยังฮอร์โมนพาราไทรอยด์ ฮอร์โมนนี้จะไปสลายแคลเซียมออกจากกระดูกเพื่อมาจับฟอสฟอรัสในเลือดที่มากเกินไป ส่งผลให้เกิดอาการคันตามผิวหนัง กระดูกบาง เปราะ ภาวะต่อมพาราไทรอยด์โตและหลอดเลือดแดงแข็ง
อาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง ได้แก่ กลุ่มอาหารโปรตีน ไข่ยกเว้นไข่ขาว อาหารปรุงแต่งและใช้สารสังเคราะห์ พวกเนื้อสัตว์เช่น เนื้อวัว ไก่ ปลา ซีรีลกับโอ๊ตมีล นมและผลิตภัณฑ์นม เครื่องดื่มกระป๋องสีเข้ม ๆ ฟรุตพันช์ ฯลฯ
อาหารที่มีปริมาณฟอสฟอรัสน้อย ได้แก่ ผักและผลไม้สด ขนมปัง พาสต้า ข้าว ข้าวโพด ซีรีล
9 จำกัดปริมาณโพแทสเซียม แร่ธาตุจำเป็นที่ช่วยรักษาสมดุลน้ำและความเป็นกรดด่างในร่างกาย ถ้ากินมากไปจะทำให้โพแทสเซียมในเลือดสูงหรือต่ำเกินไป ส่งผลให้ไตทำงานหนักเพื่อรักษาสมดุลเลือดในร่างกาย ส่งผลถึงการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด
โรคไตป้องกันได้ด้วยอาหาร (Cr.discoveryvillages.com)
อาหารที่มีปริมาณโพแทสเซียมต่ำ ได้แก่ แอปเปิ้ล พีช แครอท ถั่วฝักยาว ขนมปังขาว พาสต้า น้ำแอปเปิ้ล น้ำองุ่น น้ำแครนเบอร์รี่
อาหารที่มีโพแทสเซียมสูง ได้แก่ กล้วย ส้ม น้ำส้ม มันฝรั่ง มะเขือเทศ ข้าวกล้อง ซีรีลโฮลเกรน นมและผลิตภัณฑ์จากนม ถั่วชนิดต่าง ๆ
ข้อน่าสังเกต โดยทั่วไปผักและผลไม้โดยทั่วไปมีโพแทสเซียมสูง ถ้ารู้ตัวว่ามีความเสี่ยงจะเป็น โรคไต แต่ชอบกินผักผลไม้ก็พอมีวิธี เช่น กินผลไม้ 2 ส่วน (แอปเปิ้ลหรือส้ม), กินผักเช่น 2 ส่วน (แครอท, บรอกโคลี) มันฝรั่งที่มีโพแทสเซียม กินได้วันละ 3 ลูก ไซส์เท่าไข่ไก่ ต้มให้สุก และหลีกเลี่ยงไม่กินซุปข้นผัก ซอสข้น ๆ มะเขือเทศกระป๋องเทน้ำออกกินได้แต่ให้กินพอประมาณ
กินให้ถูกป้องกันโรคไต (Cr.sportkeeda.com)
10 จำกัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มได้บ้างอย่างพอเพียง ดื่มมากไปทำลายตับ หัวใจ สมอง และอวัยวะหลักส่วนอื่นรวมถึงไตแน่นอน รวมถึงออกกำลังกายเป็นประจำสัปดาห์ละอย่างน้อย 3 ครั้ง ๆ ละอย่างน้อย 30 นาที
อ้างอิง : kidney.org.uk / kidneymeal.com / my.clevelandclinic.org