หอค้าอันดามัน จี้ รบ.เร่งเจรจา ถอนพิษภาษีมะกัน ชงนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แนะเปิดตลาดใหม่ EU-อินเดีย-แอฟริกา
เมื่อวันที่ 15 เมษายน นายสลิล โตทับเที่ยง ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน กล่าวถึงข้อเสนอต่อรัฐบาลในการเข้าเจรจากับทางการสหรัฐอเมริกา เพื่อผ่อนคลายมาตรการทางภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ว่า ภาวะตอนนี้ค่อนข้างจะสับสนกล่าวคือ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ฯ กำหนดเรื่องภาษีแล้วมีการยืดระยะเวลาออกไป ฉะนั้นแนวทางของหอการค้าไทยรวมทั้งกลุ่มจังหวัดอันดามัน คิดว่าสิ่งที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการมีอยู่ 2 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกันกับทางสหรัฐอเมริกา เพื่อให้เราได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และเกิดประโยชน์มากที่สุด โดยทีมงานหอการค้าไทยได้เสนอไปยังรัฐบาล ที่อาจจะผ่อนปรนการนำเข้าวัตถุดิบบางตัว ที่ประเทศไทยต้องการเพื่อนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น และส่งออกต่อไปยังประเทศอื่น โดยเฉพาะตอนนี้ต้นทุนการเลี้ยงสัตว์หรือปศุสัตว์ในประเทศไทยค่อนข้างสูง เนื่องจากต้นทุนอาหารสัตว์ราคาสูง และหากเราจะนำเข้าข้าวโพดซึ่งอเมริกาเองก็มีความต้องการจะระบายข้าวโพดออกนอกประเทศอยู่แล้ว เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรของเขา ดังนั้นในการไปเจรจาหากไทยได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาในราคาที่ถูกและมีปริมาณมากพอ เราก็นำข้าวโพดนั้นมาใช้ในภาคปศุสัตว์ของประเทศได้ และมีผลทำให้ต้นทุนอาหารสัตว์ถูกลง ราคาเนื้อหมูอาจจะต่ำกว่าในปัจจุบันนี้ และ 2.ในขณะที่บางอย่างเราให้ภาษี 0% ไปแล้ว เช่น เนื้อวัว ฉะนั้นถ้าเราสามารถนำเอาเนื้อวัวเกรดพรีเมียมเข้ามาได้ ก็เป็นอีกตัวหนึ่งที่ประเทศไทยเราสามารถใช้ต่อรองได้
นายสลิลกล่าวอีกว่า ส่วนอีกแนวทางหนึ่งที่ควรจะเร่งทำควบคู่กันไป เมื่อมีการบีบมาจากฝั่งอเมริกาแล้ว เราควรหาตลาดอื่นๆรองรับ ติดต่อเรื่อง FTA ให้เร็วขึ้น โดยกลุ่มใหญ่ๆก็จะเป็นกลุ่มประเทศ EU , อินเดีย , แอฟริกา , อเมริกาใต้ รวมทั้งประเทศในกลุ่มอาเซียนและประเทศจีน ซึ่งเราจำเป็นต้องวิ่งหาตลาดอื่นรองรับ เพื่อลดความเสี่ยงและความกดดันจากประเทศสหรัฐอเมริกา และต้องเร่งมือมากขึ้นในส่วนนี้ ตนอยากจะให้รัฐบาลตั้งเป็นทีมไทยแลนด์พิเศษเพื่อดูภาพรวมของสินค้าทั้งระบบ ยิ่งทำได้เร็วเท่าไหร่ยิ่งสามารถแก้ปัญหาและหาทางออกในอนาคตได้ดีขึ้น
นายสลิลกล่าวว่า นอกจากนี้สินค้าบางรายการ อาทิ ยางพารา แม้จะไม่ได้ส่งไปสหรัฐเป็นตลาดหลัก แต่สินค้าที่เราส่งออกไปจีนแล้วจีนผลิตสินค้าส่งไปขายที่อเมริกาตรงนี้เราก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ดังนั้นเราต้องหาตลาดอื่นเพิ่มเติมมากขึ้น แม้ว่าสหรัฐฯจะเป็นตลาดใหญ่ แต่ทุกวันนี้ตลาดที่กำลังเติบโต ไม่ว่าจะเป็นอินเดียหรือแอฟริกา ถือเป็นตลาดที่โตเร็วมาก ส่วนสินค้าหลักของสหรัฐฯที่ส่งออก และเรื่องนำเข้ามายังเมืองไทยจากการจะไปเจรจา ต้องดูที่ความจำเป็นของไทยเราด้วย เพราะสินค้าพวกที่สหรัฐฯผลิตมาก เช่น พวกยุทธภัณฑ์ สินค้าเทคโนโลยี นั้นมีมูลค่าสูง และทุกวันนี้ยังมีเทคโนโลยีอื่นๆอีกมากขึ้น ซึ่งต้องมองว่าหากมองในเรื่องความต่อเนื่องของห่วงโซ่การผลิตที่ไทยจะได้ประโยชน์ต่อเนื่องด้วย แต่ในทางกลับกันถ้าเราไปเน้นในเรื่องยุทธภัณฑ์ที่ซื้อมาเพื่อสต๊อกไว้เฉยๆ ไม่ได้ใช้งานจริง ก็คิดว่าควรนำเงินส่วนนั้นมาเพิ่มศักยภาพในประเทศของเราจะดีกว่า