ย่านปุณณวิถี สุขุมวิทตอนปลายของพื้นที่กรุงเทพฯ อยู่ซอยปุณณวิถี หรือที่รู้จักคุ้นหูในชื่อ ซอยสุขุมวิท 101 บนถนนสุขุมวิท บริเวณปากซอยสุขุมวิท 101 (ปุณณวิถี) และซอยสุขุมวิท 64 ในพื้นที่แขวงบางจาก และแขวงพระโขนงใต้ เขตพระโขนง ปัจจุบันชื่อ “ปุณณวิถี” ใช้เป็นสถานีรถไฟฟ้า BTS
ถึงแม้ปุณณวิถีเป็นย่านเก่าแก่ แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาและมีกิจกรรมให้ทำมากมาย เหมาะกับคนที่มีครีเอทีฟและมีความแอคทีฟ ด้วยการพัฒนาที่ล้ำสมัย ทำให้ซอยปุณณวิถีได้รับการผลักดันเป็น“ย่านนวัตกรรม” (Innovation District) ในพื้นที่เป็นศูนย์รวมของผู้ประกอบธุรกิจนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ มีสถานที่สำคัญที่ทำให้ปุณณวิถีถูกเรียกว่า เป็นย่านนวัตกรรมอย่างทรู ดิจิทัล พาร์ค ตลอดจนมีการใช้นวัตกรรม และการจัดการร่วมกันของชุมชนในพื้นที่อย่างชัดเจน รวมทั้งร่วมรังสรรค์นวัตกรรมให้ตรงความต้องการของคนภายในย่าน
การจัดการขยะเป็นอีกวาระใหญ่ ซึ่งชุมชนต้องการลดปริมาณขยะลงเหลือศูนย์ด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ นำมาสู่การ ทดลองนวัตกรรมตู้รับขยะ 5 ประเภท ติดตั้งที่ทรู ดิจิทัล พาร์ค เพิ่มพื้นที่รองรับการทิ้งขยะอย่างเหมาะสม พร้อมเปิดโอกาสให้กลุ่มธุรกิจนวัตกรรมการจัดการขยะของผู้ประกอบการไทยขยายโมเดลธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ระยะยาวส่งเสริมศักยภาพของกรุงเทพฯ สู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจนวัตกรรมสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น ขับเคลื่อนโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับภาคีเครือข่ายสถาบันการศึกษา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ภายใต้ชื่อโครงการ “ฉลาดทิ้ง : สถานีจัดการขยะอัจฉริยะ” (Waste Wise Station)
สถานีจัดการขยะอัจฉริยะอยู่ภายใต้โครงการห้องทดลองเมืองนวัตกรรมกรุงเทพมหานคร (City Innovation Lab) โดยย่านนวัตกรรมปุณณวิถีเป็นพื้นที่ต้นแบบสำหรับทดลองผลิตและใช้นวัตกรรมจริง สถานีนี้เป็นจุดทิ้งขยะที่คัดแยกแล้วจากบ้านเรือน โดยใช้เทคโนโลยีช่วยอำนวยความสะดวกในการคัดแยก ทิ้ง และแลกขยะเป็นสิทธิประโยชน์ เช่น แต้มสะสม ของรางวัล หรือเงิน ดึงดูดให้คนทุกกลุ่มร่วมแยกขยะ
ภายในสถานีขยะอัจฉริยะ ประกอบด้วย 1.ตู้รับคืนขยะอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ( E-Waste) ของทรู ที่สามารถจัดเก็บข้อมูลการทิ้งแบบเรียลไทม์ ทั้งชนิดและหมวดหมู่ของ e-Waste การใช้งานเพียงเลือกชนิดขยะ วางทีละชิ้น จากนั้นเครื่องจะแสดงข้อมูลชนิด น้ำหนัก และคำนวณ CO2 Credit ใช้ไฟเพียง 400W สามารถใช้งานได้กับขยะอิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท 2.ตู้ CIRCULAR: Used Clothes นวัตกรรมรีไซเคิลเสื้อผ้าเก่าเป็นวัสดุใหม่โดยไม่ผ่านการฟอกย้อม นำเสื้อมาบริจาค ได้รับส่วนลด 100 บาทใช้ได้ที่ร้าน Circular สาขา Siam Square ซอย 2 เครื่องรับรีไซเคิลมีขนาด 50 x 50 x 105 ซม. ไม่ใช้ไฟฟ้า ใช้งานง่ายเพียงสแกน QR Code
3. OKLIN: Food Waste ใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการย่อยสลายขยะเศษอาหารโดยสามารถ ลดปริมาณขยะเศษอาหารได้ถึง 90% ในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง และแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง เหมาะสำหรับทั้งใช้ในครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม โดยรุ่นเล็กสำหรับใช้ในบ้านรับขยะได้วันละ 5 กก. ใช้ไฟ 220W ส่วนรุ่นอุตสาหกรรมรองรับตั้งแต่ 25–1,650 กก./วัน 4.REFUN: Plastic Waste ตู้รับคืนขวดพลาสติก PET อัตโนมัติ ใช้ไฟฟ้า 220V และต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เครื่องรับเฉพาะขวดใสที่มีฉลากบาร์โค้ดเท่านั้น
5.RECYCOEX: Waste Cooking Oil ระบบรับซื้อน้ำมันพืชใช้แล้วเพื่อนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรมการบิน ตู้รับตั้งอยู่เฉพาะในสถานีบริการของบางจาก ผู้ใช้งานสามารถเทน้ำมันลงตู้ ระบบจะคำนวณปริมาณและโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารโดยตรง หลังตู้เต็มจะมีการจัดเก็บส่งโรงกลั่นและต้องรอการรีเซตเครื่อง 3-4 วัน
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผอ.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า ย่านนวัตกรรมปุณณวิถีไม่เพียงเป็นแหล่งรวมสตาร์ทอัพ แต่ยังขยายสู่กลุ่ม Creative Industries อย่างโครงการ Waste Wise Station มุ่งจัดการขยะอย่างชาญฉลาด โดยเฉพาะรีไซเคิลขยะให้เกิดมูลค่า เช่น การแปรรูปเส้นใยจากเสื้อผ้าเก่าให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ การสร้างความตระหนักถึงคุณค่าของขยะตั้งแต่ระดับครัวเรือนเป็นกุญแจสำคัญ ในหลายประเทศคัดแยกขยะก่อนทิ้ง ประเทศไทยเองสามารถพัฒนาไปในทิศทางนี้ได้ผ่านการปลูกฝังเยาวชน นำมาสู่การเชื่อมโยงทุกภาคส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจนวัตกรรมในย่านปุณณวิถี ทั้งด้านการลงทุน การบ่มเพาะธุรกิจ และการแก้ปัญหาเมือง โดยเฉพาะขยะ
“ กรุงเทพฯ มีปริมาณขยะมากที่สุดในประเทศ แต่ละปีใช้งบจัดการกว่า 7,000 ล้านบาท ประเทศไทยยังขาดโครงสร้างพื้นฐานคัดแยกขยะต้นทาง ซึ่งสถานีจัดการขยะอัจฉริยะภายในทรู ดิจิทัล พาร์ค ทดลองนวัตกรรมตู้รับขยะ 5 ประเภท เพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับการทิ้งอย่างเหมาะสม และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยพัฒนาธุรกิจจด้าน ESG และ Circular Economy ต่อยอดสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนในอนาคต ช่วยลดต้นทุนจัดการขยะ กระตุ้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมแยกขยะตั้งแต่ต้นทางด้วยเทคโนโลยีของผู้ประกอบการไทย เป้าหมายจะขยายสถานีจัดการขยะอัจฉริยะทั่วกรุงเทพฯ ส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในระยะยาว
จักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หน.คณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บ.ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ทรูมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมด้านการลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ฝังกลบให้เป็นศูนย์ (Zero e-Waste to Landfill) ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านกรุงเทพฯ สู่เมืองอัจฉริยะ โดยพัฒนาตู้รับขยะอัจฉริยะ True e-Waste Vending Machine ที่สามารถรับคืนขยะอิเล็กทรอนิกส์อัตโนมัติ แสดงข้อมูลคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลงจากการรีไซเคิลรายงานผลแบบเรียลไทม์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการและรีไซเคิลอย่างถูกวิธี จัดทำมากว่า 10 ปี รับขยะอิเล็กทรอนิกส์แล้วกว่า 2 ล้านชิ้น
“ นอกจากจุดรับที่ทรู ดิจิทัล พาร์ค ปัจจุบันมีจุดรับขยะกว่า 197 แห่งทั่วประเทศ อาทิ ทรูช้อป, ดีแทคช้อป, CP Extra และโรงเรียนในโครงการของทรู ตั้งเป้าจะขยายเพิ่มอีก 400 แห่งภายในปีนี้ โดยมีตู้ e-Waste Vending Machine เป็นนวัตกรรมหลัก ช่วยให้การทิ้งขยะเป็นเรื่องง่ายและมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น โครงการห้องทดลองเมืองนวัตกรรมในย่านปุณณวิถีถูกใช้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการจัดการขยะอัจฉริยะ มุ่งหวังให้ที่นี่เป็นศูนย์รวมของสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่ขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม” จักรกฤษณ์ กล่าว
ด้าน รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สจล. กล่าวว่า การร่วมมือโครงการนี้สะท้อนวิสัยทัศน์ของสถาบันในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมแก้ไขปัญหาขยะเมือง ไม่เพียงลดปริมาณขยะ แต่ส่งเสริมพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมุ่งพัฒนานวัตกรรมที่สามารถต่อยอดสู่การใช้จริง ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 13 ด้านการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมเสริมสร้างบุคลากรที่สามารถสร้างคุณค่าให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
สถานีขยะอัจฉริยะย่านปุณณวิถีเปิดให้บริการแล้ว ชวนชาวปุณณวิถีและคนกรุงเทพฯ ร่วมโครงการเพื่อลดปัญหาขยะล้นเมือง