กรมอนามัยเตือน แม่น้ำกก ยังใช้ไม่ได้ รอผลตรวจยืนยันจนกว่าจะไม่พบสารหนูเกินมาตรฐาน แนะชาวบ้านเฝ้าระวังอาการที่เกิดจากสารหนู
วันที่ 21 เม.ย. 2568 พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยภายหลังร่วมกับ นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รองปลัด สธ. พล.ท.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร นพ.ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย นพ.นิธิรัตน์ บุญตานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ และหน่วยงานในพื้นที่ เฝ้าระวังสถานการณ์สารหนูปนเปื้อนในแม่น้ำกก อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมา
ระบุว่า กรมอนามัยได้ดำเนินการเฝ้าระวังประเด็นการปนเปื้อนสารหนูในแหล่งน้ำ โดยเน้น 3 ด้าน คือ 1.การเฝ้าระวังด้านสุขภาพประชาชน โดยได้ทำการคัดกรองสุขภาพและตรวจร่างกายเบื้องต้นในประชาชนพื้นที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ยังไม่พบอาการผิดปกติจากการได้รับพิษจากสารหนูหรือตะกั่ว แต่อย่างไรก็ตาม ได้เก็บตัวอย่างปัสสาวะของกลุ่มตัวอย่างเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อยืนยันปริมาณสารหนูในร่างกาย โดยจะทราบผลภายใน 2 สัปดาห์
2.การเฝ้าระวังน้ำประปาและน้ำบริโภค โดยศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ ได้ตรวจคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้าน 9 แห่ง ใน อ.แม่อาย ไม่พบการปนเปื้อนสารหนูและตะกั่วเกินกว่ามาตรฐานกำหนด และจะมีการสุ่มตรวจน้ำอุปโภคบริโภคในครัวเรือนของประชาชนพื้นที่ อ.แม่อายอีกครั้ง นอกจากนั้น การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ได้ตรวจยืนยันน้ำประปาที่ผลิตและจ่ายในพื้นที่ อ.แม่อาย ก็ไม่พบทั้งสารหนูและตะกั่วที่เกินมาตรฐานเช่นกัน
3.การเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมและความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยมี ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1 สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 เชียงใหม่ เก็บตัวอย่างน้ำจากแม่น้ำกก 3 จุด เพื่อตรวจยืนยันโลหะหนักอีกครั้ง ทั้งนี้ กรมกิจการชายแดนทหาร จะร่วมประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ ผ่านกลไกความร่วมมือชายแดนเพื่อควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษ ผ่านคณะกรรมการระดับสูง (High level committee)
ด้าน นพ.ธิติ กล่าวว่า กรมอนามัยยังเน้นเรื่องการสื่อสารให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่ 1.ขอให้ประชาชนการหลีกเลี่ยงการใช้น้ำจากแม่น้ำกกโดยตรง จนกว่าผลตรวจทางห้องปฏิบัติการจะยืนยันว่าไม่พบสารหนูและตะกั่วเกินมาตรฐาน เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว
2.ขอให้ประชาชนเฝ้าระวังสุขภาพตนเองในกลุ่มอาการที่เกิดจากการได้รับพิษจากสารหนูและตะกั่ว
3.การจัดการน้ำอุปโภคบริโภคในครัวเรือนให้เกิดความปลอดภัยกับสุขภาพของประชาชน เช่น การกรองเพิ่มเติมเพื่อลดความขุ่นและการเติมคลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรคในน้ำ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม กรมอนามัยจะดำเนินมาตรการเฝ้าระวังและสื่อสารให้ความรู้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์การปนเปื้อนสารหนูในแหล่งน้ำจะเข้าสู่ภาวะปกติ