ผู้ตรวจการแผ่นดิน เตรียมร่อน จม.ถึงหน่วยงานเกี่ยวข้องแจง หลังกสม.ร้องส่งศาลเพิกถอนระเบียบราชทัณฑ์ ขั้นตอนส่งตัว ‘ทักษิณ’ นอนชั้น 14 เป็นโมฆะ ขอดูเท็จจริงก่อน อาจจบที่ศาล หากต้องยกเลิก
เมื่อวันที่ 21 เม.ย.2568 พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา และเช้าวันนี้ สำนักงานผู้ตรวจฯ ได้นำเรื่องร้องเรียนดังกล่าวเข้าสู่ระบบแล้ว ทราบว่าเบื้องต้นได้ยื่น 2 ประเด็น คือ
ขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลปกครอง ให้ยกเลิกกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ของกรมราชทัณฑ์ และกรณี กรมราชทัณฑ์ อนุญาตให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไปพักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ
โดยขอให้ศาลมีคำสั่งว่าขั้นตอนของกรมราชทัณฑ์ทั้งหมดเป็นโมฆะ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือขอให้เป็นโมฆะ โดยจากนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินจะตรวจสอบข้อเท็จจริง และขอให้กรมราชทัณฑ์ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการออกระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่ามีวิธีคิดอย่างไร และหากยกเลิกจะกระทบกับส่วนรวมหรือไม่อย่างไร มีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหรือไม่
ส่วนจะต้องการเชิญหน่วยงานเข้าชี้แจงด้วยหรือไม่นั้น จะต้องตรวจสอบเอกสารเบื้องต้น และขอรายงานจาก กสม.ที่เคยศึกษาเบื้องต้นมาแล้วเพื่อมาประกอบการพิจารณา รวมถึงข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงศาลฎีกาด้วย เพราะศาลมีพิพากษามีโทษจำคุก
แต่กรมราชทัณฑ์ กลับส่งตัวไปรักษาโดยไม่มีการไต่สวนจากศาล ซึ่งอาจจะมีความขัดแย้งต่อคำพิพากษาของศาล โดยจะต้องขอคำชี้แจงจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากพบว่ายังไม่มีความชัดเจนก็อาจจะเชิญมาประชุมร่วมกัน แต่เบื้องต้นจะดูเอกสารว่าชี้แจงครบถ้วนหรือไม่ หรือจะต้องมีการสัมภาษณ์เชิงลึก
ส่วนกรอบการพิจารณาของผู้ตรวจฯ ในการดำเนินการก่อนส่งเรื่องไปให้ศาลปกครองนั้น พ.ต.ท.กีรป กล่าวว่า ปกติผู้ตรวจฯ จะดำเนินการรวดเร็ว ภายใน 1 สัปดาห์จะออกหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ชี้แจง แต่สิ่งที่ควบคุมไม่ได้คือ ขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบชี้แจงกลับมาภายใน 30 วัน หากมีข้อมูลพร้อม ก็จะส่งกลับมายังผู้ตรวจฯ ภายใน 30 วัน หากข้อมูลไม่พร้อม สามารถขอผ่อนผัน
ตามระเบียบผู้ตรวจการแผ่นดินจะอนุญาตให้เลื่อนการชี้แจงได้ 2 ครั้งครั้งละ 15 วัน รวมแล้วไม่เกิน 60 วัน อย่างไรก็ตาม หากมีเหตุจำเป็น ก็อาจขอผ่อนผันหรือเข้ามาพูดคุยชี้แจงถึงสาเหตุความล่าช้า หรือผู้ตรวจฯ อาจจะเชิญผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจเข้าร่วมประชุม แต่ยังไม่ถึงขั้นเชิญ รมว.ยุติธรรมเข้าร่วมประชุม อาจจะเป็นกรมราชทัณฑ์ รวมถึงจะต้องตรวจสอบในข้อกฎหมายเรื่องของศาลว่า ขั้นตอนการขอส่งตัวไปรักษานอกเรือนจำ จำเป็นต้องขออนุญาตศาลด้วยหรือไม่
“อันนี้เป็นประเด็นใหม่ที่ผู้ร้อง มีข้อเสนอแนะว่าการจะส่งตัวนักโทษออกไปรักษานอกเรือนจำ ควรขออำนาจศาล ตรงนี้เป็นประเด็นใหม่ที่จะต้องศึกษา ถ้ามีการแก้ไข หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมแก้ไขก็ไม่ต้องไปถึงศาลปกครอง แต่หากเรามองแล้วเห็นว่าควรแก้ไข แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่แก้ไข อันนี้อาจต้องไปพึ่งอำนาจศาลปกครองให้ยกเลิกหรือแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง” พ.ต.ท.กีรป กล่าว
เมื่อถามว่านายทักษิณ พ้นการรับโทษมาแล้ว ขั้นตอนการกลับเข้าไปสู่การรับโทษ จะมีความเป็นไปได้หรืออยู่อำนาจของผู้ตรวจฯจะพิจารณา พ.ต.ท.กีรป กล่าวว่า ผู้ตรวจฯ สามารถตรวจสอบได้ แต่ขั้นตอนการกลับเข้ากระบวนการใหม่นั้น ต้องดูกฎระเบียบ กฎหมายต่างๆ ว่าเมื่อยกเลิกการดำเนินการที่ผ่านมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผลต่อนายทักษิณ กรมราชทัณฑ์ หรือโรงพยาบาลราชทัณฑ์และรพ.ตำรวจ จะมีผลเช่นไร ต้องขึ้นอยู่กับกฎระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
พ.ต.ท.กีรป กล่าวว่า หลังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงมาแล้ว หากมีข้อมูลครบถ้วน สำนักงานผู้ตรวจฯ จะสรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย เสนอผู้ตรวจฯ เพื่อวินิจฉัยว่าจะให้คำแนะนำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างไร ทั้งประเด็นขอให้ยกเลิกการดำเนินการทั้งหมดหรือไม่ ประเด็นส่งนักโทษไปรักษาตัวนอกเรือนจำ และการยกเลิกระเบียบกรมราชทัณฑ์
ทั้งนี้ การดำเนินการที่ผ่านมา ผู้ตรวจฯ จะมีความเห็นและข้อเสนอแนะให้ดำเนินการให้เกิดความถูกต้องชอบธรรม รวมถึงมีความเห็นจะสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้องต่อศาลปกครอง
ส่วนหากจะขอให้มีการยกเลิกระเบียบฯ เกี่ยวกับการส่งตัวนักโทษไปรักษาตัวนอกเรือนจำ กรณีนี้อาจจะต้องมีการพึ่งอำนาจศาลปกครอง หากหน่วยงานไม่เห็นด้วยที่จะมีการแก้ไข แต่ผู้ตรวจฯเห็นว่าควรแก้ไข อย่างไรก็ตาม ต้องดูข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งสองประเด็นก่อน