ตอกย้ำความสำเร็จ ได้รับความนิยมอย่างสูงและกว้างขวาง สำหรับ “30 บาทรักษาทุกที่” โครงการที่พัฒนาต่อยอดมาจาก “30 บาทรักษาทุกโรค” หรือ “สิทธิบัตรทอง” ที่ชาวบ้านทั่วประเทศคุ้นเคยกันดี
ล่าสุดการเคหะแห่งชาติ จับมือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. หน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนโครงการนี้
โดยทั้ง 2 หน่วยงานลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงนวัตกรรมบริการสาธารณสุขภายใต้ 30 บาทรักษาทุกที่
“การลงนามความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงานนี้ จะเป็นตัวอย่างการบูรณาการหน่วยงานภาครัฐเพื่อร่วมกันขับเคลื่อน เชื่อมั่นว่าจะช่วยให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในการเคหะฯ เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ดี มีมาตรฐาน สะดวก รวดเร็ว เท่าเทียม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย” นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ประธานพิธีลงนามกล่าว
รมว.สาธารณสุขระบุด้วยว่าขณะนี้มีบริการ “ตู้ห่วงใย” เป็นหนึ่งในนวัตกรรมบริการด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล ที่จะนำมาติดตั้งที่ชุมชนการเคหะฯ
ซึ่งที่ผ่านมาจากการติดตั้งตู้ห่วงใยตามจุดต่างๆ ในพื้นที่กทม. ปรากฏว่ามีประชาชนตอบรับเข้าใช้บริการจำนวนมาก ดังนั้น ภายใต้ความร่วมมือกับการเคหะฯ ก็จะขยายไปทั่วประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมบริการสาธารณสุขเชิงรุกอื่นๆ เช่น คลินิกพยาบาล คลินิกเวชกรรม รถทันตกรรมเคลื่อนที่ และบริการเจาะเลือดผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง เป็นต้น
ขณะที่นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะฯ กล่าวว่าความร่วมมือดังกล่าวจะมีส่วนหนุนเสริมให้ผู้อยู่อาศัย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางเข้าถึงบริการทางการแพทย์ และสาธารณสุขได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องเดินทางไปร.พ. โดยผ่านนวัตกรรมบริการสาธารณสุขต่างๆ และจะขยายผลไปยังชุมชนเคหะอื่นๆ ทั่วประเทศ
30 บาทรักษาทุกโรค หรือชื่อทางการ “โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” เริ่มมาตั้งแต่ยุคพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลเมื่อ 20 กว่าปีก่อน
ปัจจุบันต่อยอดเป็น 30 บาทรักษาทุกที่
เปิดบริการครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ มาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2568
ขับเคลื่อนโดยพรรคเพื่อไทย ที่สืบทอดมาจากพรรคไทยรักไทย
ซึ่งการขยายความร่วมมือล่าสุดกับการเคหะฯ ตอกย้ำถึงจุดเด่น และความพิเศษของโครงการนี้ ที่ใครๆ ก็ต้องการ
ข้าวตอกแตก