สถาบันเหล็กฯ ตอบโต้ “ซิน เคอ หยวน” ยืนยัน เครื่องมือวัดธาตุโบร่อนมีมาตรฐาน-แม่นยำ
วันที่ 22 เม.ย.2568 รายงานข่าวแจ้งว่า ล่าสุด เมื่อเวลาประมาณ 19.45 น.ของวันที่ 21 เม.ย. สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ได้ออกหนังสือตอบโต้บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด (SKY) เผยแพร่ต่อสื่อมวลชน ภายหลังทีมทนายความของ SKY ออกมาแถลงชี้แจงเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา โดยหนังสือของสถาบันเหล็กฯ มีข้อความระบุว่า
ตามที่ สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยถูกพาดพิง จากการแถลงข่าวของบริษัท ชินเคอ
หยวน สตีล จำกัด ว่าเครื่องมือทดสอบสำหรับการวิเคราะห์ค่าปริมาณของธาตุโบรอนในผลิตภัณฑ์เหล็ก ไม่ได้ตามมาตรฐาน ไม่สามารถตรวจค่าต่ำกว่า 9 ppm (9 ส่วนในล้านส่วน) ได้ นั้น
นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า
สถาบันเหล็กฯ ทำการวิเคราะห์ค่าปริมาณของธาตุโบรอนในผลิตภัณฑ์เหล็กด้วยเครื่องทดสอบส่วนผสมทางเคมีของโลหะ (Optical Emission Spectrometer; OES) ยี่ห้อ Spectrolab รุ่น Model : Lavm12, Type : 76004140 S/N : 16002150
ซึ่งเป็นยี่ห้อชั้นนำที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และผลิตในประเทศเยอรมัน โดยเครื่องทดสอบดังกล่าวมีขีดความสามารถในการทดสอบ (range) ที่สามารถทดสอบส่วนผสมของธาตุ โบรอน (B) ได้ตั้งแต่ 0.0001% (1 ppm) ถึง 0.014% (140 ppm) ซึ่งครอบคลุมช่วงของปริมาณธาตุโบรอน ตามข้อกำหนดของมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต: เหล็กข้ออ้อย ที่กำหนดให้ ปริมาณของธาตุโบรอนจะต้องไม่เกิน 0.0008% (8 ppm) จึงสามารถตรวจสอบปริมาณธาตุโบรอนได้อย่างแม่นยำแน่นอน
อนึ่ง ผลการตรวจสอบปริมาณธาตุโปรอนในผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นเสริมคอนกรีต: เหล็กข้ออ้อยของ บริษัท ซินเคอหยวน สตีล จำกัด ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2567 พบว่าเหล็กข้ออ้อย ขนาด DB32 ชั้นคุณภาพSD5D50 มีปริมาณธาตุโบรอน 10 ppm ซึ่งเกินค่ามาตรฐาน และเหล็กข้ออ้อย ขนาด DB25 ชั้นคุณภาพ SD40 มีปริปริมาณ ธาตุโบรอน 12 ppm ซึ่งเกินค่ามาตรฐาน
ดังนั้นการอ้างว่าเครื่องทดสอบที่สถาบันเหล็กฯ ได้ขึ้นทะเบียนตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 กับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เป็นเครื่องทดสอบที่ไม่สามารถตรวจได้อย่างแม่นยำนั้นไม่เป็นความจริง อีกทั้งผลการตรวจสอบ ปริมาณธาตุโบรอนที่เกินมาตรฐานที่ 10 -12 ppm ก็อยู่ในช่วงการวัดที่เครื่องทดสอบทำงานได้อย่างแม่นยำ โดยไม่มีข้อถกเถียง