เปิดจม. ‘ชาญวิทย์’ ถึงกรรมการมูลนิธิโครงการตำราฯ แจง 8 ข้อ ปมวิวาทะ ‘ค่าทำบัญชี’
สืบเนื่องกรณีกระแสข่าวของมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ได้จ้างวานมารดาของนักกิจกรรมรายหนึ่งในการทำบัญชีให้แก่มูลนิธิฯ ซึ่งมีผู้ออกมาเปิดเผยว่าเกิดการค้างจ่ายค่าจ้างการจัดทำบัญชี 6,000 บาท นำมาสู่การโพสต์ตั้งคำถามบนโลกโซเชียล
ต่อมา ในช่วงบ่ายของวันที่ 19 เมษายน มูลนิธิโครงการตำราฯ เผยแพร่แถลงการณ์ชี้แจงว่า ได้มีการว่าจ้างนางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ ทำบัญชีของมูลนิธิ โดยจ่ายค่าจ้างครบถ้วนแล้ว 50,000 บาท ส่วนประเด็นการจ่ายค่าตอบแทนเพิ่มเติมจำนวน 6,000 บาท ที่เป็นประเด็น มูลนิธิฯ ยืนยันว่าจะดำเนินการจ่ายตามที่ตกลงกันไว้ โดยเป็นไปตามระเบียบของมูลนิธิฯ ซึ่งกำหนดให้มีการชำระเงินในวันที่ 25 ของแต่ละเดือน
กระทั่งในช่วงเย็นวันเดียวกัน นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิ้น นักกิจกรรมทางการเมือง เผยแพร่ข้อเขียนผ่านเฟซบุ๊ก ขอบคุณโครงการตำราฯ ที่เตรียมจ่ายเงินดังกล่าว แต่ยืนยันว่า เงิน 6,000 บาท ไม่ใช่การเรียกร้อง“ค่าตอบแทนเพิ่มเติม“ ตามคำที่ใช้ในแถลงการณ์มูลนิธิ ฯ แต่เป็นค่าตอบแทนในส่วนที่มารดาของตนทำงานในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ให้แล้ว
ต่อมาในวันที่ 21 เมษายน นางสุรีย์รัตน์ ชี้แจงประเด็นต่างๆ รวม 12 ข้อ โดยยืนยันว่าได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุด
อ่านข่าว
มูลนิธิโครงการตำราฯ โต้ปม เบี้ยวจ่าย ‘แม่เพนกวิน’ ค่าทำบัญชี ยัน ‘ชาญวิทย์’ ไม่เกี่ยว
เพนกวิ้น แจงอีกมุม ปม ‘เงิน 6 พัน’ ขอบคุณโครงการตำราฯ เตรียมจ่าย แนะสังคายนาบุคลากร
‘แม่เพนกวิน’ แจง 12 ข้อ โต้มูลนิธิโครงการตำราฯ ปมค่าทำบัญชี ยัน ‘ทำหน้าที่อย่างดีที่สุด’
ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 เมษายน ศาสตราจารย์ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิโครงการตำราฯ เปิดเผยเนื้อหาในจดหมายที่ส่งถึงที่ปรึกษาและกรรมการมูลนิธิฯ รวมถึงผู้เกี่ยวข้อง รวม 8 ข้อ
ความดังนี้
สืบเนื่องจากข้อกล่าวหาต่อ มนธ. โครงการตำราฯ เรื่องการจ้างพนักงานบัญชี ว่าทางเรามีพฤติกรรมที่ขาดความสำนึกการจ้างงานแบบเป็นธรรม จ่ายเงินยาก ผัดผ่อน และเลิกจ้างงานกลางคัน กับค้างค่าจ้างนั้น
เรื่องนี้ อ.อัครพงษ์ (ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ) ในฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ได้ชี้แจ้งไปนามมูลนิธิแล้วหนึ่งครั้ง และพนักงาน คือ คุณอนันต์ (นายอนันต์ กรุดเพ็ชร์) ก็ได้ชี้แจงรายละเอียดด้วยอีกหนึ่งครั้ง
ผมได้ติดตามข่าวสารเรื่องนี้มาระยะเวลาหนึ่ง และคิดว่าเนื่องจากเรื่องดังกล่าวถูกเผยแพร่ ใน social media อย่างกว้างขวาง กระทบกับชื่อเสียงของมูลนิธิฯ กับชื่อเสียงของผมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้น จึงขอชี้แจงดังต่อไปนี้ และขออนุญาตที่จะต้องเผยแพร่ให้บุคคลต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในกรณีนี้ด้วย
หนึ่ง) ผมเป็นคนริเริ่มชักชวนคุณสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มาทำงานเป็นพนักงานบัญชี ทั้งนี้จากการพบปะเธอ
ในงานบวชบุตรชาย และการชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่
สอง) โดยหลักปฏิบัติของมูลนิธิโครงการตำรา ซึ่งเป็นโครงการขนาดเล็ก มีรายการบัญชีเดือนละไม่เกิน 20 รายการ จึงใช้วิธีจ้างนักบัญชีแบบเหมาทั้งปี ซึ่งหมายความว่าเมื่อทำงานเสร็จแล้วภายในหนึ่งปี เราก็จะจ่ายเงินค่าจ้างตอบแทนเพียงงวดเดียว รวมเป็นเงิน 36,000.00 (สามหมื่นหกพันบาทถ้วน) โดยหักภาษี ณ ที่จ่าย 3 % (เท่ากับ 1,080.00 หนึ่งพันแปดสิบบาทถ้วน) แต่คุณสุรีย์รัตน์ได้ขอร้องให้จ่ายค่าจ้างครึ่งหนึ่งก่อน ซึ่งผมได้ยินยอมอนุมัติจ่ายไปเป็นเช็คเมื่อ 25 กรกฎาคม 2567
สาม) ต่อจากนั้นประมาณช่วงหลังของเดือนมีนาคม 2568 ก่อนการประชุม กก. ประจำปี คุณสุรีย์รัตน์ได้ขอให้เราจ่ายเงินที่ยังค้างอยู่อีกจำนวนครึ่งหนึ่ง โดยให้จ่ายเป็นเงินสด เป็นงวด ๆ เหมือนกับที่เราจ่ายเป็นค่ารถให้เธอเมื่อเข้ามาที่มูลนิธิ
สี่) ในฐานะประธานฯ ผมได้ตัดสินใจว่าจะจ่ายอีกครึ่งหนึ่งไปแบบเดิม และได้จ่ายไปตามต้นขั้วของเช็คใบที่สองนี้ ที่ลงวันที่ 25 มีนาคม 2568 โดยหักภาษี 3 % ณ ที่จ่าย (เป็นจำนวน 540.00 ห้าร้อยสี่สิบบาทถ้วน)
ห้า) นอกเหนือจากเงินค่าจ้างประจำปีสองรายการข้างต้นนี้แล้ว ทางมูลนิธิยังได้จ่ายค่าเดินทาง และค่าเบี้ยร่วมประชุมกับกรรมการประจำปี ให้กับคุณสุรีย์รัตน์ รวมแล้วเป็นเงิน 14,000.00 (หนึ่งหมื่นสี่พันบาทถ้วน) ครั้งแรกจ่ายเป็นเงินสด และระหว่างเดือนพฤษภาคม 2567 ถึงมีนาคม 2568 ใช้การโอนจ่ายผ่าน mobile banking ทั้งนี้เพื่อจะได้มีสลิปหลักฐานการโอนเงิน ส่วนครั้งหลังสุดในกรณีของเบี้ยประชุมร่วมกับ กก.เมื่อ 2 มีนาคม 2568 นั้นได้จ่ายเป็นเงินสดเช่นกัน
หก) ท้ายที่สุด เพื่อตัดความยุ่งยากผมได้ตัดสินใจเลิกจ้างเธอ แต่เมื่อข้อกล่าวหาต่อมูลนิธิโครงตำราฯ และต่อผมในฐานะประธานฯ ปรากฏแพร่หลายในสื่อสังคม social media โดยการเผยแพร่ของบุตรของเธอ ที่กำลังศึกษาอยู่ที่ Wisconsin โดยหาได้มีการสอบถามทำความเข้าใจกันก่อนไม่
ทำให้เรื่องที่ควรจะเป็นปัญหาการบริหารภายใน กลายเป็นปัญหาทางการเมืองเรื่องของคนเสื้อสีต่าง ๆ ทั้งยังมีข้อความที่ปรากฎใน facebook ของ คุณ Atukkit Sawangsuk (นายอธึกกิต แสวงสุข สื่อมวลชนชื่อดัง) ที่เขียนไว้เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า “อันนี้สำหรับเพนกวินเท่าที่ทราบ เขาว่าเขาถามอาจารย์แล้ว แต่ไม่สามารถสื่อสารกัน” ซึ่งผมขอชี้แจงว่า “ไม่เป็นความจริงครับ นักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ที่ Wisconsin ไม่เคยติดต่อสอบถามผมเรื่องนี้ก่อนที่จะโพสต์ข้อความบริภาษมูลนิธิและการทำงานของผม”
เจ็ด) หลังจากนั้น ผมได้ให้พนักงานของเรา ค้นเอกสารการติดต่อกับคุณสุรีย์รัตน์ทั้งจากอีเมล์และ Line Chat ก็ได้ข้อความจากคุณสุรีย์รัตน์หลายประการ เช่น “ที่ครั้งก่อน ที่เราประชุมกันแล้ว คุยกับคุณอนันต์ว่าจะทำเป็นค่าเดินทางไป แทนค่าจ้างค่ะ จะได้ไม่ต้องหักภาษีกัน” หรือ “รบกวนโอนเงินค่าภาษีประกันสังคม และส่วนต่าง ยอดทั้งหมด 4,050 บาทค่ะ” หรือ “เดือนนี้เป็น 4000 นะคะ ตามที่คุยกันค่ะ” ฯลฯ ฯลฯ
แปด) สำหรับเรื่องที่คุณสุรีย์รัตน์ กล่าวว่าทางมูลนิธิยังค้างชำระเงินเธออยู่อีก 6,000 บาท สำหรับเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2568 นั้น ผมได้รับคำแนะนำจากท่านที่ปรึกษาว่า “เมื่อเปลี่ยนผู้รับจ้างทำบัญชี ต้องให้นักบัญชีเก่าส่งมอบเอกสารและสมุดบัญชีคืน” ซึ่งผมก็จะปฏิบัติตามคำแนะนำนี้ โดยจะหักภาษี 3 % ณ ที่จ่าย ครับ
จึงเรียนมาเพื่อทราบ และขออภัยในเรื่องของปัญหาที่เกิดจากการบริหารที่ไม่ละเอียดถี่ถ้วนของผม มา ณ ที่นี้ด้วย นี่อาจจะเป็นบทเรียนราคาแพงในการทำงานด้านบริหารวิชาการของผม ครับ
ทั้งศิษย์ของเรา ทั้งนักวิชาการในวงของเรา “จิตมนุษย์นั้นไซร้ ยากแท้หยั่งถึง” แต่ life goes on and by the end it is “nothingness”
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
อังคาร 22 เมษายน 2568/2025
ป.ล.
ปีหน้า พ.ศ. 2569 ครบรอบ 60 ปีการสถาปนา มนธ. โครงการตำราฯ 2509-2569 โดยท่านอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ปีหน้า 2569 ครบรอบ 50 ปีของวันมหาวิปโยค 6 ตุลาคม 2519 เมื่อท่านอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ตกเป็นเหยื่อของอธรรม ต้องลี้ภัยไปต่างแดน และจบชีวิตลงในกรุงลอนดอน เราจะสร้าง “สันติประชาธรรม” ขึ้นในสยามประเทศไทยได้อย่างไร ถ้าหากขาดเสียซึ่ง “สติและสัมปชัญญะ”?