ลุ้นไทยได้คืน 4 โพธิสัตว์ประโคนชัย พิพิธภัณฑ์ซานฟรานฯ ลงมติคืนนี้ นักวิชาการเชื่อ ไม่ผิดแผน
GH News April 22, 2025 12:21 PM

เมื่อวันที่ 22 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.ดำรง ลีนานุรักษ์ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า ในช่วงเที่ยงคืนของวันนี้ ตามเวลาในประเทศไทย คณะกรรมการกำกับ San Francisco Asian Art Museum ( SFAAM) จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาถอนสถานะการครอบครอง ประติมากรรมสัมฤทธิ์ ‘ประโคนชัย’ 4 องค์ เป็นครั้งที่ 2 เพื่อส่งคืนไทย ตามคำร้องต่อศาล โดยหน่วยสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐฯ (Homeland Security Investigations: HSI) และอัยการกลาง

ดร.ดำรง ระบุว่า การประชุมดังกล่าว เป็นไปตามมกฎบัตรของพิพิธภัณฑ์ กล่าวคือ เมื่อผู้บริหารเสนอเรื่องเพื่อขอถอนสถานะการครอบครองโบราณวัตถุใดจากบัญชีถือครองของพิพิธภัณฑ์ หากมีการพิจารณาอนุมัติแล้ว ต้องรออีก 6 เดือน โดยนำเรื่องพร้อมข้อมูลที่ศึกษาเพิ่มเติมกลับมานำเสนอที่ประชุมอีกครั้งหนึ่งเพื่อลงมติเป็นครั้งสุดท้าย

“ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ทาง SFAAM ได้นำพระสัมฤทธิ์ทั้ง 4 องค์นี้ออกจัดแสดงเป็นนิทรรศการชื่อ The moving objects เพื่อสื่อสารและดูความคิดเห็นของชาวอเมริกัน ผมเชื่อว่า การอนุมัติให้ถอดถอนโบราณวัตถุ 4 ชิ้นนี้ออกจากการครอบครองของมิวเซียม จะเป็นไปด้วยดีตามแผน” ดร.ดำรง กล่าว

ดร.ดำรง กล่าวต่อไปว่า สำหรับประติมากรรมสัมฤทธิ์ประโคนชัย 4 องค์นี้อยู่ในรายการโบราณวัตถุ 32 รายการที่รัฐบาลไทยส่งหนังสือไปยังรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ แบบความร่วมมือรัฐต่อรัฐ ตั้งแต่ พ.ศ. 2562 โดยหน่วยสืบสวนเพิ่มความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐฯ (Homeland Security Investigations: HSI) และอัยการกลางนำขึ้นสู่ศาล ขอหมายเรียก โดยอยู่ในขั้นตอนการเจรจา กับพิพิธภัณฑ์ 7 แห่ง ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า โบราณวัตถุชุดนี้ เป็นการซื้อหาจากชาวบ้านที่ลักลอบขุด และส่งออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงแรกที่ส่งไปให้บริษัท Spink and Son ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยนายดักลาส แลชฟอร์ด (Dauglash Latchford) ตามมาด้วยขบวนการเสนอขายระดับโลก ด้วยความร่วมมือกับนางเอ็มมา ซี บังเกอร์ (Emma C. Bunker) ซึ่งเขียนหนังสือเกี่ยวกับประติมากรรมชุดนี้รวมถึงโบราณวัตถุอื่นๆ ในลักษณะกึ่งแคตตาล็อก กึ่งวิชาการ 2-3 เล่ม ต่อมา นายดักลาส แลชฟอร์ด ถูกฟ้องร้องแต่เสียชีวิตลงก่อนขึ้นศาล
เรื่องจึงพับไป

“ผลพวงจากการพิจารณาคืนประติมากรรมสัมฤทธิ์ประโคนชัยให้ไทย จากการดำเนินการของ HSI และอัยการกลางในครั้งนี้ จะมีผลดีต่อการเจรจาของ HSI และอัยการกลางต่ออีก 6 มิวเซียมที่มีรายการทวงคืนประติมากรรมสัมฤทธิ์ประโคนชัยอีก 14 องค์ โดยเชื่อว่าจะเป็นกรณีตัวอย่างที่นำไปสู่การพร้อมใจกันคืนในเร็ววัน” ดร.ดำรง กล่าว

ดร.กล่าวว่า ทั้งหมดนี้ต้องยกเครดิตให้คณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยจากต่างประเทศกลับคืนสู่ไทย ซึ่งรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2560 รวมถึงการทำงานรับผิดชอบอย่างแข็งขันของ HSI และอัยการกลางสหรัฐฯ ที่นำเรื่องขึ้นศาล โดยมีการเจรจากับทางพิพิธภัณฑ์ยาวนานเกือบ 4 ปี

“นอกจากนี้ ต้องให้เครดิตกับทีมงานสำนึก ๓๐๐ องค์ที่เริ่มต้นโดยนายทนงศักดิ์ หาญวงษ์ และนายโชติวัฒน์ รุญเจริญ ในการจุดประกาย รณรงค์ให้มีการทวงคืนประติมากรรมสัมฤทธิ์ประโคนชัย และต้องกล่าวถึงอีกสองท่าน นั่นคือ หนึ่ง ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังประสานงานผู้ใหญ่ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เสนอท่านนายกประยุทธ์ ที่นำไปสู่ การเรียกท่านที่สองมาพบที่ทำเนียบ เพื่อสอบถามและสรุปให้ไปจัดตั้งคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุจากต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย

สอง ท่านรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมในขณะนั้น คือ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุฯ คนแรก โดยผลักดันให้มีการส่งหนังสือทวงคืนฯ รวมสองฉบับอย่างเป็นทางการไปยังรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ท่านวีระได้ทำหน้าที่เกาะติด ลงลึก ในภารกิจการทวงคืน และอยู่เบื้องหลังร่วมกับผมแก้ปัญหาหลายๆจุดที่ติดขัด ที่ให้การทวงคืนของไทยเราส่งผลที่กำลังจะออกผลมาในเวลาใกล้ๆนี้ โดยเฉพาะ ประติมากรรมสัมฤทธิ์ประโคนชัย” ดร.ดำรง กล่าว

ดร.ดำรง ทิ้งท้ายว่า สำหรับเครดิตใหญ่ที่สุดต้องมอบให้แก่ ‘ท่านอาจารย์’ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ผู้จุดประกายกิจกรรมการทวงคืนโบราณวัตถุของไทยจากต่างประเทศ นำไปสู่การได้คืนทับหลังปรางค์กู่สวนแตง และทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ในอดีต และเป็นผู้เขียนบทความเรื่อง ‘ประติมากรรมสัมฤทธิ์ประโคนชัย’ โดยสรุปไว้ท้ายเรื่องว่า ‘ข้าพเจ้าหวังว่าเรื่องนี้คงเป็นเครื่องสังวรแก่เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในประเทศไทย มิให้เกิดขึ้นได้อีกต่อไป’

“ท่านเขียนบอกเล่าว่าประติมากรรมสัมฤทธิ์ประโคนชัยกว่า 300 องค์ ทั้งเล็กใหญ่ ได้ถูกลักลอบขุด และส่งออกไปต่างประเทศ นายดักลาส แลชฟอร์ด นำประติมากรรมสัมฤทธิ์ประโคนชัยองค์เล็กๆ ผุๆ มามอบให้คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรหนึ่งองค์ ขณะที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไม่มีจัดแสดงเลย” ดร.ดำรง กล่าว

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.