'จุลินทรีย์'ทางออกไม่เผา จัดการฝุ่นพิษจากนาข้าว
GH News April 22, 2025 02:09 PM

พื้นที่เกษตรกรรมมีจุดเผาไหม้สะสมสูงที่สุดในปี 2566 อยู่ที่ 55,470 จุด สะท้อนให้เห็นว่า ภาคการเกษตรเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญต่อการเกิดปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จุดความร้อนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่นาข้าว คิดเป็น 38.02% ของจุดความร้อนในพื้นที่ภาคเกษตรทั้งหมด รองลงมาไร่ข้าวโพดและไร่หมุนเวียน 24.08% และอ้อย 9.90% ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องจัดการฝุ่นจากไฟภาคเกษตรและนาข้าว

เป็นที่มาของโครงการ”ไม่เผา ๙๙” จุดประกายสังคมเกษตรกรให้เห็นแนวทางลดฝุ่นพิษและเปลี่ยนมาใช้ทางเลือกจุลินทรีย์แทนการเผาตั้งแต่ตุลาคมปี 2567 โดยดำเนินการในแปลงสาธิตที่ศูนย์บริการการเกษตรที่ปทุมธานี คลอง 11 ทดสอบประสิทธิภาพของจุลินทรีย์ในการย่อยสลายฟางและตอซังข้าว  1 สัปดาห์พบว่าฟางและตอซังข้าวเปื่อยย่อยลงสำหรับการไถกลบและเตรียมแปลงนาโดยไม่ต้องเผา  และนำมาสู่การขยายผลที่แปลงสาธิตแห่งแรกภายในศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ด้านข้าว ต.หนองราชวัตร อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี ของหมอดินสุกรรณ์ สังข์วรรณะ  เปิดให้ตัวแทนเกษตรกรจาก 13 จังหวัด กว่า 300 คน มาเรียนรู้วิธีการจัดการแปลง ฟางและตอซังข้าว ด้วยนวัตกรรมจุลินทรีย์และรับสมัครชาวนาที่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่เผาให้เป็น”เกษตรกรฮีโร่ เลือกไม่เผา”  

โครงการไม่เผา ๙๙ มีชื่ออย่างเป็นทางการโครงการลดการเผาในพื้นที่การเกษตรโดยใช้นวัตกรรมจุลินทรีย์ย่อยสลายฟางและตอซังข้าวเพื่อลดการสร้างมลพิษทางอากาศและเสริมสร้างการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน  เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างภูมิภาคด้านนวัตกรรมการเกษตร (โครงการเรน) ได้รับทุนจากกระทรวงเกษตรแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ดำเนินการโดยองค์การวินร็อคอินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมมือกับมูลนิธิชัยพัฒนา มูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมพัฒนาที่ดิน สภาเกษตรกรแห่งชาติ  และภาคธุรกิจ

สุกรรณ์ สังข์วรรณะ หมอดินอาสาของกรมพัฒนาที่ดิน เจ้าของแปลงนา กล่าวว่า จากโครงการนี้แบ่งพื้นที่ 8 ไร่ (3.2 เอเคอร์) เป็น 8 แปลงสำหรับสาธิตประสิทธิภาพของจุลินทรีย์ในการย่อยสลายฟางและตอซังเพื่อเตรียมแปลงนา ปรับปรุงคุณภาพของดินและสิ่งแวดล้อมในแปลง ตลอดจนเพิ่มการดูดซึมธาตุอาหารและความแข็งแรงของต้นข้าว แปลงที่ 1 แสดงให้ผู้เยี่ยมชมเห็นขณะที่กำลังฉีดพ่นหรือเทสารละลายจุลินทรีย์ลงไป แปลงที่ 2 แสดงให้เห็นผลของสารละลายจุลินทรีย์หลังจากผ่านไป 3 วัน พบว่าฟางนิ่มพอที่จะปั่นฟาง แปลงที่ 3 แสดงการเปลี่ยนแปลงหลังจากใช้สารละลายจุลินทรีย์เป็นเวลา 1 สัปดาห์ แปลงที่ 4 เป็นแปลงที่ไม่ได้ใช้การบำบัดด้วยจุลินทรีย์ที่มีต้นข้าวอายุ 2 เดือน และอีก 4 แปลงที่เหลือเป็นแปลงเปรียบเทียบของต้นข้าวอายุ 2 เดือนที่ใช้จุลินทรีย์ต่างผลิตภัณฑ์ ขณะนี้มีผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์เพื่อการย่อยสลายฟางและตอซังข้าวหลายตัวในตลาด คิดเป็นต้นทุนของการใช้งานตกเฉลี่ยที่ประมาณ 70 บาท ถึง 100 บาทต่อไร่

ดรุณี เอ็ดเวิร์ดส กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าว 62 ล้านไร่ คิดเป็น 40% ของพื้นที่เกษตรทั้งประเทศ มีชาวนา 5 ล้านครอบครัว  คิดเป็น 63% ของเกษตรกรทั่วประเทศ  ปี 2567 ไทยส่งออกข้าวเป็นอันดับ 2 ของโลก คิดเป็น 9.95 ล้านตัน เพิ่มจากปี 2566 ประมาณ 13% สร้างรายได้เข้าประเทศมากกว่า 2.2 แสนล้านบาท มากเป็นอันดับ 2 รองจากอาหารและเกษตร  อย่างไรก็ตาม ปัญหาของชาวนา ใช้พื้นที่ปลูกข้าว 50% เป็นการเช่าปลูกข้าว ส่วนผลผลิตต่ำเฉลี่ยทั้งประเทศ 450 กิโลกรัมต่อไร่ อายุเฉลี่ยของชาวนาไทย 58 ปี ประสบการณ์สูง แต่ผลผลิตต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ   หากมีชาวนายุคใหม่ใช้นวัตกรรมการเกษตร ผลผลิจจะดีขึ้นได้

“ เมื่อปลูกข้าวเยอะ มีตอซัง 50-60 ล้านตัน ที่ผ่านมา จัดการฟางและตอซังโดยการเผา ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศคิดเป็น 27 ล้านตันคาร์บอน สร้างปัญหาฝุ่น PM2.5  เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ คนเจ็บป่วยโรคระบบทางเดินหายใจและมะเร็ง รายงานกรมควบคุมมลพิษพบปริมาณฝุ่นพิษในบรรยากาศ 100-700 ล้านตัน  จำเป็นต้องผลักดันลดการเผาลดฝุ่น   “ ดรุณีกล่าว

เลขาธิการมูลนิธิข้าวไทยฯ ให้ภาพการเผาในนาข้าวว่า ชาวนาเผาฟางและตอซังข้าวใช้ไม้ขีด 1 ก้าน หรือบุหรี่ใหล้หมดมวน เผาได้ง่ายๆ ไม่เสียเงิน  รวมถึงเชื่อเป็นวิธีควบคุมแมลงและศัตรูพืชได้ ภาครัฐมีนโยบายสั่งห้ามเผา  แต่ไม่มีทางเลือกอื่นให้เกษตรกร  มูลนิธิข้าวไทยฯ จึงร่วมกับโครงการเรนผลักดันโครงการ”ไม่เผา ๙๙”อย่างจริงจัง คิกออฟที่แปลงนาของสุกรรณ์ สังข์วรรณะ หมอดินอาสาและปราชญ์ด้านการเกษตร ทดลองใช้จุลินทรีย์ในนาข้าวจริงๆ เป้าหมายนอกจากลดคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาตอซังแล้ว ต้องการนวัตกรรมที่ย่อยสลายตอซังกลายเป็นปุ๋ยในดิน รวมถึงลดกลิ่นแก๊สไข่เน่าในนาข้าว ปัจจุบันมีนาข้าวที่ใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังแค่แสนกว่าไร่เท่านั้น ซึ่งนวัตกรรมจุลินทรีย์ของโครงการฯ เป็นจุลินทรีย์ภาคเอกชน ใช้ง่าย ได้ผล ไม่แพง ต้นทุน 200 บาทต่อพื้นที่ 5 ไร่   หากใช้แทนเผา ลดต้นทุนได้ดี  นอกจากชาวนา  ชาวไร่อ้อย ชาวมันลำปะหลังใข้นวัตกรรมจุลินทรีย์ได้

“ นโยบายรัฐให้เงินช่วยเหลือชาวนา 1,000 บาทต่อไร่ สูงสุดไม่เกิน 10 ไร่ ถามว่าได้ประโยชน์อะไรกับการพัฒนาข้าว หากนำเงินหลายหมื่นล้านนี้มาพัฒนาเทคโนโลยีช่วยเหลือเกษตรกร สนับสนุนเครื่องจักรกลทางการเกษตร พัฒนานวัตกรรมจุลินทรีย์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จะช่วยพัฒนาชาวนาไทย ข้าวไทยอย่างยั่งยืน  ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต รักษาสิ่งแวดล้อม  “ ดรุณี กล่าว

นอกจากแปลงสาธิตหมอดินอาสาที่ จ.สุพรรณบุรี โครงการเรนได้รับอนุญาตจากมูลนิธิชัยพัฒนาให้ใช้พื้นที่ศูนย์บริการการเกษตรใน 8 จังหวัดในภาคกลาง และภาคตะวันออกฉียงเหนือ ได้แก่ชัยนาท นครสวรรค์ พิจิตร อุดรธานี กาฬสินธุ์ นครราชสีมา ปทุมธานี และนครนายก เพื่อเป็นต้นแบบส่งเสริมการใช้จุลินทรีย์แก่เกษตรกรในชุมชนเลิกเผา ลดฝุ่นพิษ

ขณะที่ ดร.ทวีศักดิ์  ธนเดโชพล  อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า การเผาวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่เกษตรกรรมเป็นหนึ่งในสาเหตุเกิดมลพิษทางอากาศ นำไปสู่ภาวะโลกร้อน  ดินสูญเสียอินทรีย์วัตถุและธาตุอาหารในดิน  ทำลายโครงสร้างดินที่เหมาะสม  จากการศึกษาเผาตอซังข้าว 1 ไร่ จุลินทรีย์ตายและเสียโอกาสใช้ตอซังที่เป็นอินทรีย์วัตถุ ธาตุอาหารหลัก 14.47 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งยังเสียค่าไถกลับฟางและตอซังข้าว 300 บาทต่อไร่  ถ้าไม่เผาประหยัดค่าปุ๋ย 600 บาทต่อไร่เป็นอย่างต่ำ  จะต้องเร่งสร้างศักยภาพเกษตรกรขยายผลนาข้าวทั่วประเทศใช้นวัตกรรมจุลินทรีย์จัดการตอซังข้าวหลังเก็บเกี่ยวแทนการเผา ควบคู่กับการพัฒนานำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรฟางข้าวมาสร้างมูลค่าเพิ่ม แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากฟางข้าว นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กแล้ว ยังสร้างรายได้ให้เกษตรกร

ด้าน วิลเลี่ยม สปาร์กส์ ผู้อำนวยการโครงการเรน กล่าวว่า โครงการเรนมีเป้าหมายใช้กลไกตลาดส่งเสริมให้ชาวนาใช้จุลินทรีย์ในวงกว้าง เพราะจุลินทรีย์เป็นทางออกที่สำคัญให้ชาวนาเมื่อรัฐบาลไทยประกาศห้ามเผาแปลงนาหลังการเก็บเกี่ยว นอกจากนี้การใช้จุลินทรีย์ยังช่วยฟื้นฟูคุณภาพดิน และเพิ่มผลผลิตข้าว ทำให้ชาวนามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โครงการเรนได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของจุลินทรีย์ และพบว่านวัตกรรมนี้สามารถช่วยชาวนาเตรียมแปลงหลังการเก็บเกี่ยวสำหรับปลูกข้าวครั้งต่อไปภายในระยะเวลาสั้น ซึ่งเป็นความจำเป็นของชาวนาที่ปลูกข้าวนอกฤดูกาลโดยใช้น้ำจากระบบชลประทาน

” เมื่อเราบอกชาวนาว่า “ห้ามเผา” ประโยคนี้ยังไม่ครบถ้วน เราควรอธิบายต่อไปว่า เมื่อไม่เผาแล้วชาวนาจะทำอย่างไร โครงการเรนมีคำตอบให้นั่นคือใช้จุลินทรีย์ช่วยย่อยสลายฟางและตอซัง” วิลเลี่ยมย้ำทางออกชาวนาไทย

 ก่อนหน้านี้ โครงการเรนประสบความสำเร็จในการส่งเสริมให้ชาวนาในพื้นที่ 4 จังหวัดรอบลุ่มแม่น้ำชีใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายฟางและตอซังข้าว และกำลังขยายการส่งเสริมให้ครอบคลุมทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลางของประเทศไทย ในอนาคตอันใกล้โครงการเรนจะขยายการส่งเสริมให้ชาวนาใช้จุลินทรีย์แทนการเผาในประเทศอื่นของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.