อัปเดตแผ่นดินไหวเมียนมาล่าสุด 22 เม.ย.68 อาฟเตอร์ช็อก 633 ครั้ง
Thansettakij April 22, 2025 02:17 PM

สืบเนื่องจากสถานการณ์แผ่นดินไหวรอยเลื่อนสะกาย ประเทศเมียนมา ขนาด 8.2 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ข้อมูลล่าสุดจนถึงวันที่ 22 เมษายน 2568 พบว่ายังคงมีเหตุการณ์อาฟเตอร์ช็อก หรือ แผ่นดินไหวตามอย่างต่อเนื่อง โดยกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ได้รายงานข้อมูลสรุปเมื่อช่วงเช้าของวันนี้ (22 เม.ย.68 เวลา 07.00 น.)พบว่ามี Aftershocks แล้วกว่า 633 ครั้ง  


ขณะที่เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมียนมา เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาเวลา 05.13 น. ขนาด 2.3  ไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ทั้งนี้ประชาชนสามารถตรวจสอบอัปเดตเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้ผ่านเว็บไซต์ของกองเฝ้าระวังฯ(คลิกที่นี่)

 

กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตอาฟเตอร์ช็อกแผ่นดินไหวเมียนมาล่าสุด 22 เม.ย.68 พบ Aftershocks แล้วกว่า 633 ครั้ง
กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตอาฟเตอร์ช็อกแผ่นดินไหวเมียนมาล่าสุด 22 เม.ย.68 พบ Aftershocks แล้วกว่า 633 ครั้ง

ส่วนข้อมูลสรุปสถานการณ์แผ่นดินไหวในช่วงวันที่ 21 - 22 เมษายน 2568 กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหวได้ตรวจพบเหตุการณ์แผ่นดินไหว  โดยมีศูนย์กลางอยู่บริเวณประเทศเมียนมา จำนวน 23 ครั้ง, ขนาด 2.1  ที่ ต.เมืองแปง อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน, ขนาด 2.4, 1.7 ที่ ต.ยั้งเมิน อ. สะเมิง จ.เชียงใหม่, ขนาด 1.7 ที่ ต.ทุ่งยาว อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน และ ขนาด 2.0 ที่ ต.เปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่  ทั้งนี้ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยแต่อย่างใด

 

สรุปสถานการณ์แผ่นดินไหวในช่วงวันที่ 21 - 22 เมษายน 2568
สรุปสถานการณ์แผ่นดินไหวในช่วงวันที่ 21 - 22 เมษายน 2568

ส่วนกรณีที่เกิดหลุมยุบที่จังหวัดกระบี่ ซึ่งหลายคนมีความกังวลใจว่าจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 3.5 บริเวณอำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ เมื่อวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมาหรือไม่ กรมทรัพยากรธรณี ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ และระบุว่า แผ่นดินไหวกระบี่ไม่ส่งผลต่อการเกิดหลุมยุบในครั้งนี้

 

สำหรับเหตุการณ์หลุมยุบกระบี่ในครั้งนี้ เกิดขึ้น เมื่อค่ำวันที่ 18 เมษายน 2568 ในสวนปาล์มของนายสุวิทย์ หนูชู หมู่ที่ 10 ตำบลพรุเตียว อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ โดยหลุมยุบดังกล่าวมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 18 เมตร ลึก 10 เมตร พบรอยแยกโดยรอบเป็นวงกลมกว้างราว 50 เมตร และในวันเกิดเหตุมีปริมาณฝนตกประมาณ 60 มิลลิเมตร

 

หลุมยุบที่จังหวัดกระบี่
หลุมยุบที่จังหวัดกระบี่

กรมทรัพยากรธรณี ได้ร่วมกับนายอำเภอเขาพนม ว่าที่ร้อยตรีนครชัย แสงมณี เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกระบี่ และผู้นำชุมชนในพื้นที่ ลงพื้นที่ตรวจสอบ โดยมีข้อมูลสรุปดังนี้ 


ลักษณะธรณีวิทยาของพื้นที่เกิดเหตุ

  • เป็นตะกอนเศษหินเชิงเขา มีลักษณะเป็นทรายปนดินเหนียว อยู่บนเนินลาดเอียงลงสู่ร่องน้ำ จากการวิเคราะห์เบื้องต้นสันนิษฐานว่า น้ำใต้ดินได้พัดพาตะกอนขนาดเล็กที่อยู่ระหว่างเม็ดทรายออกไป ทำให้เกิดช่องว่างใต้ดิน เมื่อเวลาผ่านไปช่องว่างขยายตัวมากขึ้นจนทำให้ชั้นตะกอนด้านบนยุบตัวลงกลายเป็นหลุมยุบ ทั้งนี้เหตุแผ่นดินไหวขนาด 3.5 บริเวณอำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2568 ดังกล่าวไม่ส่งผลต่อการเกิดหลุมยุบในครั้งนี้

.
ข้อเสนอแนะเบื้องต้น 

  1. ให้กันพื้นที่โดยรอบหลุมยุบเพื่อความปลอดภัย 
  2. เฝ้าระวังการทรุดตัวเพิ่มเติมจนกว่าพื้นที่จะมีเสถียรภาพ 
  3. หากจะดำเนินการกลบหลุมยุบ ควรใช้หินขนาดใหญ่รองก้นหลุม ตามด้วยหินขนาดเล็กและปิดทับด้วยดิน 
  4. เนื่องจากหลุมยุบมีขนาดใหญ่และสร้างความกังวลต่อชาวบ้านในพื้นที่ จึงควรให้กองเทคโนโลยีธรณีดำเนินการสำรวจธรณีฟิสิกส์ เพื่อประเมินสภาพธรณีใต้ผิวดินและใช้เป็นข้อมูลประกอบการบริหารจัดการพื้นที่ในระยะยาว

 

ทั้งนี้ หลุมยุบ (sinkhole) เป็นธรณีพิบัติภัยที่มักเกิดขึ้นในภูมิประเทศแบบคาสต์ซึ่งมีหินจำพวกละลายน้ำรองรับอยู่ใต้ผิวดิน เช่น หินปูน หินโดโลไมด์ ชั้นเกลือหิน ยิปชัม เมื่อหินเกิดการละลายพร้อมทั้งมีกระบวนการอื่นเกิดร่วมด้วย เช่น การกัดกร่อน การผุพัง การชะล้างพังทลาย จะเร่งให้ชั้นดินชั้นหินที่เคยมีเคลื่อนหายออกไปจากที่เดิมจนเกิดเป็นโพรงถ้ำใต้ดินขึ้นแทนที่เมื่อเพดานโพรงถ้ำบางลงจนไม่สามารถแบกรับน้ำหนักพื้นผิวด้านบน ในที่สุดการพังถล่มหรือยุบตัวลงสู่ด้านล่างจะเกิดขึ้นและปรากฏให้เห็นเป็นหลุมกว้างบนผิวดิน


สำหรับประชาชนที่ต้องการข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับหลุมยุบ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ "ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับหลุมยุบ โดยกองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม" (คลิกที่นี่)

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.