อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม
และถือเป็นอุตสาหกรรมพืชเกษตรต้นแบบของไทย จากการสร้างระบบการบริหารภายในอุตสาหกรรมที่เข้มแข็ง การมีพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายในการกำกับดูแล
ปัจจุบันอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นแหล่งสร้างงานและรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยกว่า 200,000 ราย ที่หลายครอบครัวภูมิใจกับอาชีพชาวไร่อ้อย เกิดการส่งต่ออาชีพรุ่นต่อรุ่น
นอกจากนี้ ก่อให้เกิดการจ้างงานในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอีกกว่า 1 ล้านคน
ข้อมูลอัพเดตเมื่อปี 2566 ประเทศไทยครองอันดับ 3 ของโลกในฐานะผู้ส่งออกน้ำตาลทราย รองจากบราซิลและอินเดีย สามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลทั้งในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศมูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท
ไม่เพียงบริบทภาคเศรษฐกิจ ล่าสุดในภาคสังคมและสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายก็กำลังเดินหน้าเช่นกัน โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยภารกิจดังกล่าว
นายใบน้อย สุวรรณชาตรี เลขาธิการ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ให้ข้อมูลว่า ภายใต้การบริหาร เป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ได้มุ่งเน้นการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะการลดการเผาอ้อย ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของปัญหามลพิษทางอากาศในช่วงฤดูการเก็บเกี่ยว
โดยที่ผ่านมาเกษตรกรมักนิยมเผาอ้อยเพื่อความสะดวกในการเก็บเกี่ยว สอน.จึงต้องสร้างแรงจูงใจใหม่ให้เกษตรกรเห็นประโยชน์ของการตัดอ้อยสด และคุณค่าของใบและยอดอ้อย
ล่าสุด สอน.ได้ริเริ่มโครงการจัดหาเครื่องสางใบอ้อยให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยยืมใช้ในช่วงฤดูการหีบอ้อย จำนวน 288 เครื่อง ภายใต้งบประมาณ 12 ล้านบาท กระจายไปยังศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย (ศอภ.) ทั้ง 4 ศูนย์ภูมิภาค ได้แก่ กาญจนบุรี กำแพงเพชร ชลบุรี และอุดรธานี แห่งละ 72 เครื่อง เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยและสถาบันชาวไร่อ้อยสามารถยืมไปใช้ได้ฟรี
โดยเครื่องสางใบอ้อยจะช่วยให้เกษตรกรสามารถแยกใบอ้อยออกจากลำต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่จำเป็นต้องเผาเพื่อกำจัดใบอ้อย สอดรับนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5
ทั้งนี้ พบว่าเครื่องสางใบอ้อยได้รับการตอบรับอย่างดีจากเกษตรกรชาวไร่อ้อยในการขอยืมเครื่องสางใบอ้อยจากสำนักงานไปใช้ทั้งหมด 288 เครื่องตลอดทั้งฤดูการผลิต และพบว่ามีอ้อยเผาลดลงจากปีที่แล้ว
โดยในฤดูการผลิตปี 2567/68 มีอ้อยเผาเข้าหีบต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ที่ระดับ 9% ส่งผลให้ฝุ่นพิษ PM2.5 ลดลง และมีส่วนช่วยให้ประชาชนได้รับอากาศบริสุทธิ์ ใช้ชีวิตประจำวันและทำกิจกรรมกลางแจ้งตามปกติ
นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีนโยบายในการสร้างมูลค่าเพิ่มใบและยอดอ้อย โดย สอน.ได้บูรณาการร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการพัฒนาเครื่องต้นแบบม้วนเก็บใบอ้อยอัตโนมัติ และได้แจกจ่ายให้แต่ละ ศอภ.ไว้อำนวยความสะดวกในการจัดการและรวบรวมใบอ้อยหลังการเก็บเกี่ยวของเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โดย สอน.ยังได้มีแนวคิดในการเพิ่มมูลค่าใบอ้อยเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย โดยบูรณาการความร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในการพัฒนาเครื่องผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (Wood Pellet) ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยในการเพิ่มมูลค่าใบอ้อย เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า
เบื้องต้นจะนำร่องมอบเครื่องผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (Wood Pellet) ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนชาวไร่อ้อยที่เป็นเครือข่ายของโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ ในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ และจะดำเนินการขยายผลในปีงบประมาณ 2568 อีกจำนวน 3 กลุ่ม
นอกจากนี้ ในอนาคตสำนักงานจะประสานความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในการวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตรที่เหมาะสมกับการบริหารจัดการอ้อยเพื่อการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืนต่อไป
นายใบน้อยเน้นย้ำว่า การปฏิรูปอุตสาหกรรมอ้อยของไทยด้วยการใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีอย่างเครื่องสางใบอ้อย เครื่องต้นแบบม้วนเก็บใบอ้อยอัตโนมัติ เครื่องผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (Wood Pellet) นอกจากจะเป็นการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 เพื่อยกระดับภาคการผลิตอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนแล้ว ยังเป็นการยกระดับขีดความสามารถของเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีศักยภาพมีรายได้พอเพียงและมั่นคงต่อการดำรงชีวิตได้อย่างยั่งยืน
ดังนั้น สอน.จึงมีแผนจะขยายโครงการและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้ประกอบอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายตาม
นโยบายรัฐบาล
และสอดคล้องกับนโยบายของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในการเดินหน้าปฏิรูปอุตสาหกรรม