แรงงานแห้ว ‘ไตรภาคี’ ไม่เคาะ 400 นายจ้างค้าน เหตุทรัมป์ขึ้นภาษี
เมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 (บอร์ดไตรภาคี) ครั้งที่ 4/2568 โดยในวันนี้มีกรรมการเข้าร่วมประชุมครบทั้ง 3 ฝ่าย จำนวน 15 คน ประกอบด้วย ฝ่ายนายจ้าง 5 คน ฝ่ายภาครัฐ 5 คน และฝ่ายลูกจ้าง 5 คน ซึ่งใช้ระยะเวลาในการประชุมตั้งแต่ 09.30-12.00 น. รวมระยะเวลาเกือบ 3 ชั่วโมง
ทั้งนี้ ในประชุมดังกล่าวมีวาระเรื่องเพื่อพิจารณา จำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ 1.การทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2568 2.มาตรการลดผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้าง
นายบุญสงค์เปิดเผยหลังการประชุมว่า จากการพูดคุยกว่า 3 ชั่วโมง ที่ประชุมมีความเห็นแตกต่างกันของฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง จึงเป็นที่มาว่า ขอให้ฝ่ายเลขาฯในที่ประชุมกลับไปทำและหาข้อมูลเพิ่มเติม และนำกลับมาพิจารณารายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง โดยจะเข้าที่ประชุมบอร์ดอีกครั้งในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งยังไม่ได้มีการกำหนดวันประชุมที่แน่นอน ทั้งนี้ การพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำก็ยังคงเป็นไปตามสูตร การคำนวณและตามประเภทกิจการที่ไม่ได้รับผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
เมื่อถามถึงความคิดเห็นที่ต่างกันในที่ประชุม นายบุญสงค์กล่าวว่า มีข้อมูลยังไม่เพียงพอ โดยมองว่าในหลายๆ ด้านควรทำรายละเอียดให้ชัดเจนเพียงพอ อีกทั้งนายจ้างยังเห็นว่าไม่ควรที่จะขึ้นค่าแรงในช่วงนี้ เนื่องจากอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีของนายโดนัลด์ ทรัม ป์ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา แต่ทางเราชี้แจงว่ามันไม่เกี่ยวกัน เพราะมีบางกิจการที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีในครั้งนี้อยู่แล้ว เช่น กิจการเกี่ยวกับการบริการ และการท่องเที่ยว เป็นต้น ส่วนประเภทกิจการที่ได้รับผลกระทบ ส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตโดยเฉพาะยานยนต์ ซึ่งการประชุมบอร์ดฯครั้งหน้าก็จะนำเรื่องนี้มาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อถามว่า ในปี 2567 มีการปรับเพิ่มค่าจ้างหลายรอบ หนึ่งในกลุ่มกิจการที่ได้รับการปรับค่าจ้างขึ้นก็คือบริการการท่องเที่ยว ดังนั้น ทำไมครั้งนี้จึงพิจารณาให้กลุ่มนี้อีกครั้ง นายบุญสงค์กล่าวว่า การท่องเที่ยวที่ได้รับการปรับครั้งที่แล้ว สำหรับกลุ่มโรงแรม 5 ดาว แต่ปัจจุบันไม่มีดาวแล้ว เราเห็นว่ากิจการท่องเที่ยวในปัจจุบันสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ เพราะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา ส่วนในรายละเอียดขออนุญาตหารือกับคณะกรรมการก่อนที่จะกำหนดรายละเอียดประเภทที่จะได้รับการปรับเพิ่มค่าแรง ซึ่งต้องใช้ความเห็นและมติของบอร์ดเป็นหลัก
“ไม่หนักใจที่มีการเลื่อนการปรับขึ้นค่าแรงหลายครั้ง เพราะไม่มีการเมืองบังคับ เราต้องมาดูสภาพเศรษฐกิจ และดูว่าคนใช้แรงงานควรจะได้รับการดูแลค่าครองชีพที่เหมาะสมเป็นหลัก ไม่ได้ดูว่าใครกำหนดหรือเป็นคนชี้นำ หรือการเมืองกำหนดไม่ใช่ ไม่มี โดยในที่ประชุมก็มองถึงสถานการณ์ปัจจุบัน” นายบุญสงค์กล่าว
นายบุญสงค์กล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องของการเยียวยานายจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการปรับเพิ่มค่าแรงที่ประชุมก็ได้มีการพูดคุยเช่นเดียวกัน แต่ในรายละเอียดขอให้ตกผลึกในที่ประชุมก่อน จึงขอยังไม่เปิดเผยในตอนนี้
เมื่อถามถึงการหารือแนวทางให้กับประชาชนเพื่อเป็นของขวัญวันแรงงานแห่งชาติที่จะถึงในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ นายบุญสงค์กล่าวว่า ในที่ประชุมยังไม่มีประเด็นตรงนี้ เนื่องจากอยู่ในข้อเรียกร้องและอยู่ในกำหนดการมาตรการของรัฐอยู่