บาทอ่อนค่า หลังสงครามการค้ามีแววคลี่คลาย
jit April 23, 2025 07:21 PM

เงินบาทอ่อนค่า หลังสงครามการค้ามีแววคลี่คลายลงในไม่ช้า ทำให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.39/40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 23 เมษายน 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/4) ที่ระดับ 33.52/53 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินบาทอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (22/4) ที่ระดับ 33.21/22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าเทียบเงินสกุลหลัก หลัง Dollar Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ระดับ 99.39 หลังนายสต็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐ แสดงความหวังว่าความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะคลี่คลายลงในไม่ช้า ทำให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ

นอกจากนี้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐกล่าวเมื่อวันอังคาร (22/4) ว่าเขาไม่มีเป้าหมายที่จะปลดนายเจอโรม พาวเวลล์ ออกจากตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก่อนที่พาวเวลล์จะครบวาระในปีหน้า อย่างไรก็ดีเขายังคงกดดันให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีการเปิดเผยในเมื่อคืนที่ผ่านมาเฟดสาขาริชมอนด์ได้เปิดเผยดัชนีภาคการผลิตปรับตัวลงสู่ระดับ -13 ในเดือน เม.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -6 จากระดับ -4 ในเดือน มี.ค. โดยดัชนียังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 0 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตในเขตริชมอนด์ยังคงอยู่ในภาวะหดตัว

สำหรับปัจจัยภายในประเทศเงินบาทกลับมาอ่อนค่าจากราคาทองคำที่ย่อตัวลงหลังจากที่เมื่อวานนี้ (22/4) ราคาทองคำได้ปรับตัวขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์แถวระดับ 3,497 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ก่อนจะย่อตัวลงมาทดสอบแนวรับที่ 3,300 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์

อย่างไรก็ตามนายจิตติ ตั้งสิทธิภักดี นายกสมาคมค้าทองคำมองว่าการปรับตัวลงของราคาทองคำในขณะนี้เป็นแค่การพักฐานในช่วงสั้น ๆ แล้วจะกลับมาฟื้นขึ้นต่อ เนื่องจากยังมีปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาทอง คือ ความกังวลต่อการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน ที่เชื่อว่ายังคงไม่จบลงได้ง่าย ๆ

ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 33.40-33.60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ 33.39/40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของคาเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/4) ที่ระดับ 1.1393/94 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (22/4) ที่ระดับ 1.1491/92 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยผลสำรวจทางธุรกิจที่เปิดเผยในวันนี้ (23/4) ซึ่งจัดทำโดย HCOB และรวบรวมข้อมูลโดย S&P Global บ่งชี้ว่าการเติบโตทางธรกิจโดยรวมในยูโรปโซนแทบจะหยุดนิ่ง

โดยภาคบริการซึ่งเป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจหดตัวลงครั้งแรกในรอบหลายเดือน ขณะที่ภาคการผลิตแม้จะยังอยู่ในภาวะซบเซาต่อเนื่อง แต่กลับมีสัญญาณฟื้นตัวดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการขั้นต้นของยูโรโซน ปรับลดลงมาอยู่ที่ 50.1 ในเดือน เม.ย.จาก 50.9 ในเดือน มี.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 50.3

ส่วนในด้านดัชนี PMI ภาคบริการขั้นต้นปรับตัวลดลงสู่ 49.7 ในเดือน เม.ย. จาก 51.0 ในเดือน มี.ค. ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 50.5 อย่างไรก็ตามภาคการผลิตที่ซบเซามาเกือบ 3 ปี กลับมีสัญญาณดีขึ้น โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตขั้นต้นขยับขึ้นสู่ 48.7 ในเดือน เม.ย. จาก 48.6 ในเดือน มี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 27 เดือน และสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลงมาอยู่ที่ 47.5 ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวกรอบระหว่าง 1.1309-1.0430 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1424/25 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/4) ที่ระดับ 142.06/07 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (22/4) ที่ระดับ 140.42/43 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยผลสำรวจทางธุรกิจที่เปิดเผยในวันนี้ (23/4) บ่งชี้ว่า กิจกรรมภาคโรงงานในญี่ปุ่นหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ในเดือน เม.ย. ตอกย้ำภาพความกังวลต่อนโยบายภาษีของสหรัฐที่กดดันความเชื่อมั่นผู้ผลิตดิ่งต่ำสุดในรอบเกือบ 5 ปี

อย่างไรก็ดี ภาคบริการสามารถพลิกกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง โดยได้แรงหนุนจากความต้องการของลูกค้าที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งช่วยดันยอดขายให้ฟื้นตัว โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขึ้นต้นของญี่ปุ่นจาก au Jibun Bank ขยับขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 48.5 ในเดือน เม.ย. จาก 48.4 ในเดือน มี.ค. ในขณะที่ดัชนี PMI ภาคบริการขั้นต้นจาก au Jibun Bank ขยายตัวสู่ระดับ 52.2 ในเดือน เม.ย. โดยฟื้นตัวจาก 50.0 ในเดือน มี.ค.

ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 141.49-143.21 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ 141.66/67 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้น และภาคบริการขั้นต้นเดือน เม.ย. (23/4), ยอดขายบ้านใหม่เดือน มี.ค. (23/4), รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ (Beige Book) จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) (24/4), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (24/4), ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน มี.ค. (24/4) ดัชนีกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วประเทศเดือน มี.ค. และยอดขายบ้านมือสองเดือน มี.ค. (24/4)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.50/-7.40 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -9.45/-8.35 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.