เมื่อเร็วๆนี้ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท (ซีพี) ภายใต้โครงการอมก๋อยโมเดล ได้เดินหน้าสานต่อภารกิจสำคัญ โดยร่วมกับอำเภออมก๋อย และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ดับไฟป่าและเครื่องเป่าใบไม้ โดยมีนายปรีชาพล พูลทวี นายอำเภออมก๋อย ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการอมรมฯ หลังจากที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้มอบกองทุนประกันและอุปกรณ์ดับไฟป่าให้กับอาสาสมัครในจังหวัดเชียงใหม่ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การอบรมฯ ในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจากหลากหลายหน่วยงานรวมทั้งสิ้น 75 คน จัดขึ้น ณ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่
นายปรีชาพล พูลทวี นายอำเภออมก๋อย เปิดเผยว่า ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา อำเภออมก๋อยเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับการจับตาอย่างใกล้ชิดในประเด็นปัญหาหมอกควันและไฟป่า เนื่องจากพื้นที่กว่า 1.3 ล้านไร่เป็นพื้นที่ป่า รวมถึงป่าอนุรักษ์ ป่าสงวน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทั้งนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้เข้ามาสนับสนุนภารกิจป้องกันและควบคุมไฟป่า ผ่านการมอบกองทุนประกันภัยให้กับอาสาสมัครพิทักษ์ไฟป่าจังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นความร่วมมือที่สำคัญ เพราะภารกิจนี้มีความเสี่ยงสูงและเต็มไปด้วยอันตราย ซึ่งอาสาสมัครส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านในพื้นที่ ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพ จึงต้องมีการดูแลสุขภาพ ตรวจเช็กร่างกายก่อนปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันไฟป่าแก่ชุมชน นอกจากนี้ยังมีการจัดทำแนวกันไฟ ตั้งจุดเฝ้าระวังและออกลาดตระเวนในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งล้วนเป็นภารกิจสำคัญในการลดความรุนแรงของไฟป่า ปัญหาไฟป่าในวันนี้ไม่สามารถแก้ไขได้เพียงลำพัง จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน พร้อมสร้างจิตสำนึกและความตระหนักรู้ในชุมชนเพื่อไม่ให้มีการจุดไฟหรือเผาป่าโดยไม่จำเป็น
นายชุมพลภัทร์ คงธนจารุอนันต์ ผู้จัดการสำนักปกป้องและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ฝ่ายปฏิบัติการเพื่อสังคม มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เปิดเผยว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2568 เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้มอบกองทุนประกันภัยและอุปกรณ์ดับไฟป่าแก่กลุ่มอาสาสมัครในจังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้โครงการ “อมก๋อยโมเดล” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาความยั่งยืนของมูลนิธิฯ ในพื้นที่ เพื่อเสริมศักยภาพในการปฏิบัติงาน ทั้งนี้มูลนิธิฯ ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การซ่อมบำรุงอุปกรณ์ดับไฟป่าและเครื่องเป่าใบไม้” โดยมุ่งหวังให้ผู้เข้าร่วมมีความรู้พื้นฐานในการดูแลและซ่อมแซมอุปกรณ์ด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยยืดอายุการใช้งาน และลดปัญหาอุปกรณ์ชำรุดระหว่างภารกิจ เนื่องจากภารกิจดับไฟป่าเต็มไปด้วยความเสี่ยงและต้องใช้แรงกายอย่างมาก การมีอุปกรณ์ที่พร้อมใช้งานจึงถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อประสิทธิภาพของทีมอาสาสมัคร ซึ่งการอบรมครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ โดยแผนกวิชาช่างยนต์ โครงการพิเศษและบริการชุมชน ส่งวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้และฝึกปฏิบัติอย่างเข้มข้นตลอดหลักสูตร
นายดิษย์ฐาพัช วัชรรุ่งสกุลกิจ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และหนึ่งในอาสาสมัครพิทักษ์ไฟป่า เปิดเผยว่า พื้นที่อำเภออมก๋อยเป็นป่าต้นน้ำที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ เป็นแหล่งน้ำหลักสำหรับอุปโภคบริโภคและการเกษตร ดังนั้นเมื่อเกิดไฟป่า ชาวบ้านทุกคนจึงต้องร่วมแรงร่วมใจกันเข้าไปดับไฟเพื่อป้องกันไม่ให้ไฟลุกลามไปยังพื้นที่เกษตรหรือทำลายระบบท่อส่งน้ำ นอกจากนี้ ปัญหาไฟป่ายังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในชุมชน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุที่พบปัญหาด้านระบบทางเดินหายใจมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ในฐานะผู้นำชุมชนจึงมองว่าต้องรับผิดชอบในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ เพราะชาวบ้านต่างได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม หลายคนอาจมองว่าการดับไฟป่าเป็นเรื่องง่าย แต่ในความเป็นจริงกลับเต็มไปด้วยความเสี่ยง โดยเฉพาะในพื้นที่ภูเขาสูงชันและหุบเขาที่เข้าถึงยาก อาจเกิดอันตรายได้ทุกเมื่อ การที่เครือซีพีเข้ามาสนับสนุนเรื่องประกันชีวิตให้กับอาสาสมัคร จึงช่วยสร้างความอุ่นใจได้มาก เพราะทรัพยากรธรรมชาติที่เราร่วมกันดูแล ไม่ได้มีคุณค่าแค่สำหรับชุมชนของเราเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อคนทั้งโลกอีกด้วย
ในการอบรมครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมจากหลากหลายหน่วยงาน สะท้อนถึงความร่วมมือและความตั้งใจของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาไฟป่าในพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ อาทิ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่, สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่, สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่, วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่, หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น, เขตห้ามล่าสัตว์ป่า, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า, หน่วยป้องกันรักษาป่า, กองร้อยอาสารักษาดินแดน และกลุ่มอาสาสมัครดับไฟป่าในพื้นที่
โดยมีการบรรยายเกี่ยวกับการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ดับไฟป่าและเครื่องเป่าใบไม้ การวิเคราะห์ปัญหาที่พบบ่อยและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดูแลรักษาอุปกรณ์ การฝึกแก้ไขปัญหาเบื้องต้น เช่น การเปลี่ยนหัวเทียนและการปรับแต่งคาร์บูเรเตอร์ การฝึกปฏิบัติการซ่อมบำรุงอุปกรณ์จริง ตั้งแต่การตรวจสอบสภาพทั่วไป การทำความสะอาด การเปลี่ยนชิ้นส่วนที่สึกหรอ การตรวจสอบและเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง รวมถึงการถอดและประกอบชิ้นส่วนต่างๆ โดยผลจากการอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้เป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง โดยสามารถซ่อมบำรุงเครื่องเป่าใบไม้ที่เข้าร่วมอบรมได้ถึง 15 เครื่อง จากทั้งหมด 17 เครื่อง เพื่อให้มีอุปกรณ์ที่พร้อมใช้งานเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท และภาคีเครือข่าย จะยังคงติดตามการใช้ประโยชน์และบำรุงรักษาอุปกรณ์ของอาสาสมัครพิทักษ์ป่าอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์จุดความร้อนในพื้นที่อำเภออมก๋อยอย่างใกล้ชิด ร่วมกับหน่วยงานปกครองอำเภออมก๋อย เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าในพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน