วรา ยกคำพูด ทราย สก๊อต หากขาวคือถูก ดำคือผิด แนะอย่าลืมคิดว่าถูกหรือผิดของใคร
ข่าวสด April 23, 2025 08:48 PM

วันที่ 23 เม.ย.2568 นายวรา จันทร์มณี นักวิชาการอิสระ และเลขาธิการเครือข่ายประชาชนเข้มแข็ง
โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก วรา จันทร์มณี ระบุว่า หากขาวคือถูก ดำคือผิด แล้วถ้ากฏหมายดำจะทำยังไง? ผมสนใจที่ทราย สก๊อต พูดในรายการสรยุทธว่า ‘…ผมไม่ได้รุนแรง แต่ผมแค่รู้สึกว่าขาวกับดำ ขาวก็ขาว ดำก็ดำ อย่างเช่น ขับรถข้ามทางม้าลายตอนที่มันไฟแดง

แล้วคุณจะมาบอกว่าไม่เป็นไรนะเจอกันครึ่งทาง เพราะชีวิตคุณลำบากคุณก็ทำไปเลย แบบนี้มันไม่ใช่อ่ะครับ ถ้าเกิดทุกคนอ้างข้ออ้างแบบนี้สังคมเราก็ล้มเหลว…’ ถ้ากรณีง่ายๆ ชัดๆ แบบนี้ ผมเห็นด้วย
แต่หากมีอะไรซับซ้อนกว่านั้น เราจะวินิจฉัยยังไง หากเราพูดถึงกฏหมาย ซึ่งมีทั้งบทบัญญัติ การบังคับใช้ และเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจในการตัดสินใจบังคับใช้ มันอาจไม่ง่าย โดยอาจมีอัตตา มายาคติ ผลประโยชน์ หรือการลุแก่อำนาจ มาเกี่ยวข้อง

บางกรณียากที่จะตัดสินทันทีว่าถูกหรือผิดขาวหรือดำ ยิ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องอำนาจรัฐ ผลประโยชน์ และความเดือดร้อนของชาวบ้าน ก็ยิ่งต้องระวัง หากผู้บังคับใช้กฏหมายขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชน หรือความเป็นธรรม อย่างเรื่อง Ecosystem หรือระบบนิเวศ ทั้งป่าไม้ แม่น้ำ หรือทะเล มันก็ไม่ใช่แค่เรื่องสัตว์ พืช ป่า น้ำ ฯ อย่างเดียว แต่มันมีคนอยู่ในนั้นด้วย

ผมจึงเสนอว่า เมื่อเราพูดถึงกฏหมาย กฏหมายไม่ได้มีแค่ขาว แต่อาจมีดำก็ได้ อาจไม่เป็นธรรมก็ได้ เช่น คุณจะว่าอย่างไรกรณีผู้มีอำนาจรัฐออกกฏหมายเกี่ยวกับนิคมอุตสาหกรรมจะนะ โดยเอื้อประโยชน์ทุน ออกกฏหมายสร้างเขื่อนในพื้นที่ป่าต้นน้ำชั้น 1A เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า อย่างเขื่อนเหมืองตะกั่ว พัทลุง หรือกรณีผู้มีอำนาจออก พรบ.SEC (ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้) หรือ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร โดยไม่ศึกษาทางเลือกในการพัฒนา และไม่รับฟังเสียงประชาชน ฯลฯ

ผมมองว่ากฏหมายเป็นเครื่องมือของอำนาจ ผู้มีอำนาจคือผู้กำหนดกฏหมาย และกฏหมายไม่ได้มีเฉพาะกฏหมายของรัฐหรือกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Statutory Law) เท่านั้น หากยังมีกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษรหรือกฎหมายจารีตประเพณี (Customary Law) ด้วย ดังนั้นในบางกรณีที่ซับซ้อนไปกว่าเรื่องง่ายๆ อย่างทางม้าลาย หากยึดเพียงกฏหมายของรัฐ หรือดุลพินิจของผู้บังคับใช้กฏหมาย โดยไม่พิจารณาถึงจารีตประเพณี ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ก็อาจสุ่มเสี่ยงว่าจะเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นได้ เราจึงไม่เชื่อลัทธิฮีโร่ หรือนิยมวิธีคิดแบบเผด็จการที่จะให้ใครผูกขาดความถูกต้องไว้แต่เพียงผู้เดียว

หากเราย้อนมองอดีต แม้จะเข้าใจในบริบทสังคมขณะนั้น แต่ก็มีผู้ปกครองที่เลวจำนวนมาก มีกฏหมายจำนวนมากที่ป่าเถื่อน ล้าหลัง ไม่คำนึงถึงมนุษยธรรม สิทธิมนุษยชน ในที่สุดกฏหมายเหล่านั้นก็ได้ถูกยกเลิกไป กฏหมายจำนวนมากมีรอยรั่ว ไม่ครอบคลุม ไม่เป็นธรรม ก็ถูกแก้ไขปรับปรุง อีกทั้งยังมีกฏหมายจำนวนมากที่ไม่เคยมี แต่มากำหนดในภายหลัง เนื่องจากเพิ่งมีความรู้ หรือเพิ่งถูกผลักดันได้ ซึ่งการผลักดันนั้นหลายครั้งเริ่มต้นจากชนกลุ่มน้อยผู้ด้อยโอกาส ผู้ถูกรังแก สิ่งที่หลายคนหลงลืมคือ ภายใต้ความชอบธรรมแห่งกฏหมาย หลายชีวิตได้ถูกฆ่า ถูกทำลาย

ผู้คนจำนวนมากขาดโอกาสที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมหาศาลถูกพรากไปด้วยน้ำมือของชนชั้นนำ หากเราจะพูดถึงการจัดการทรัพยากรที่เป็นธรรมยั่งยืน ลองลิสต์รายชื่อดูว่าตอนนี้ที่ดินจำนวนมากอยู่ในมือคนรวยกี่ตระกูล ใครบุกรุกป่าสงวน บุกรุกพื้นที่สาธารณะทั้งบนบก ทางน้ำ และทางทะเลบ้าง

ประเด็นที่ขอย้ำอีกครั้งคือ ‘กฏหมายเป็นเครื่องมือของอำนาจ’ ผู้มีอำนาจคือผู้กำหนดกฏหมาย ในหลายกรณีกฏหมายไม่เป็นธรรม เอื้อประโยชน์กับชนชั้นปกครองหรือชนชั้นนำ ปัญหาที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันซึ่งกฏหมายที่ไม่เป็นธรรมมีส่วนเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อย เช่น ความเหลื่อมล้ำทางสังคม การศึกษา การสาธารณสุข สาธารณูปโภคและคุณภาพในชีวิต คนรวยไม่กี่ตระกูลครอบครองทรัพย์สิน มีทรัพยากร ที่ดิน จำนวนมหาศาล ทำไมเราไม่เก็บภาษีเขาให้เต็มที่เหมือนที่ประเทศที่เจริญแล้วทำ เพื่อนำมาดูแลประชาชน

นอกจากกฏหมายจะขาดความเป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากร ยังปิดกั้น แย่งชิงทรัพยากร มีการเหยียบย่ำรังแกชาวบ้านในหลายกรณี อาทิ ชาวบ้านซึ่งอยู่กับป่ามาก่อนมีกฏหมาย ถูกออกกฏหมายทับที่ ถูกรังแกไล่รื้อบ้านและที่ทำกิน ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เขาอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 อยู่มากว่าร้อยปี แต่กลับถูกเผาบ้านยุ้งฉางไล่ลงมาอยู่ข้างล่างอย่างอัตคัต ไม่คำนึงถึงบริบททางประวัติศาสตร์ บิลลี่ พอละจี ถูกอุ้มฆ่าอย่างไร้มนุษยธรรม

ชาวเลอูรักลาโว้ยหลีเป๊ะถูกแย่งชิงพื้นที่ แม้แต่ที่ฝังศพยังถูกแย่งชิง ชาวไทดำ สุราษฎร์ธานี ถูกประกาศ น.ส.ล. (หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง) ทับพื้นที่ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นภายใต้กฏหมายสีขาวหรืออย่างไร หากกฏหมายสีขาว ทำไมเราจึงเห็นชาวบ้านถูกเหยียบย่ำ หากกฏหมายสีขาว ทำไมเราจึงเห็นการเอื้อประโยชน์แก่ชนชั้นนำ ทุนแอลกอฮอล์ บุหรี่ อวนตาถี่ พลังงาน กลุ่มทุนปลาหมอคางดำ ฯลฯ

โดยสรุป ผมเสนอว่า ก่อนที่เราจะใช้กฏหมายมาตัดสินอะไร สิ่งที่ขาดไม่ได้คือดุลยพินิจที่รอบคอบ เมื่อเราจะบอกว่าถูกหรือผิด ขาวหรือดำ อย่าลืมคิดว่าถูกหรือผิดของใคร ขาวหรือดำของใคร ถูกหรือผิดของชนชั้นนำ ถูกหรือผิดของกลุ่มทุน หรือถูกหรือผิดของเรา พึงระวังว่าอย่าใช้ความถูกของเราหรือความถูกของผู้บังคับใช้กฏหมายมาสมาทานความดี โดยไม่คำนึงมนุษยธรรม ความเป็นธรรม ที่น่ากลัวที่สุดคือการตะพึดตะพือยึดถือกฎหมายไปรังแกคน ภายใต้นามของความดี

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.