หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยตั้งคำถามว่า “ทำไมหมูแพง?” ตามหลักเศรษฐศาสตร์เกษตรจะมีคำอธิบายได้ดีในสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่ความผิดปกติของตลาด หากแต่เป็น “วัฏจักรปกติ” ของการเลี้ยงสุกรในประเทศไทย ซึ่งมีอยู่ 2 วัฏจักรหลักที่ควรทำความเข้าใจ ดังนี้
1. วัฏจักรฤดูกาล: หน้าร้อน หมูโตช้า ผลผลิตลด ราคาปรับขึ้น
ประเทศไทยมีภูมิอากาศร้อนชื้นเหนือเส้นศูนย์สูตรเล็กน้อย โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนที่อุณหภูมิสูงจัด ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพและพฤติกรรมของสุกร สุกรที่เลี้ยงในสภาพอากาศร้อนมักจะกินอาหารน้อยลง โตช้าลง ส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถจับหมูขายได้ตามเวลาที่กำหนด ต้องเลี้ยงต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ได้น้ำหนักตามมาตรฐานที่ตลาดต้องการ ผลที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ต้นทุนการเลี้ยงที่สูงขึ้น และปริมาณสุกรที่เข้าสู่ตลาดลดลง ราคาหมูจึงปรับตัวสูงขึ้น เป็นกลไกพื้นฐานของอุปสงค์และอุปทานในตลาดที่เราเห็นกันทุกปีช่วงนี้
2. วัฏจักรเศรษฐกิจสุกร: ขาดทุน 4 ปี กำไร 1 ปี
การเลี้ยงสุกรในประเทศไทย โดยทั่วไปต้องเผชิญกับวัฏจักรเศรษฐกิจที่ผันผวนยาวนาน ผู้เลี้ยงส่วนใหญ่ต้องขาดทุนต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี (ปัจจุบันเฉลี่ย 4 ปี) เพราะเมื่อราคาดีก็จะแห่เลี้ยงกันจนผลผลิตเกินความต้องการ ก่อนจะได้กำไรในปีที่ตลาดขาดแคลนสุกร โดยเฉพาะหลังจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และโรค ASF (African Swine Fever) เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรต้องลงทุนมากขึ้นในการดูแลสุขภาพสัตว์ด้านปัจจัยการป้องกันโรคระบาดตามระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งจำเป็นต้องลงทุนเพิ่มขึ้นส่งผลให้ช่วงเวลาการขาดทุนยืดยาวขึ้น แต่ระยะเวลาที่มีกำไรยังคงเท่าเดิม
เหล่านี้ คือสาเหตุที่เราเห็นเกษตรกรจำนวนมากทยอยเลิกเลี้ยงหมูเมื่อขาดทุนหนัก ทำให้ปริมาณสุกรในระบบลดลง เมื่อถึงจุดที่ตลาดขาดแคลน ราคาก็จะพุ่งสูง กระตุ้นให้ผู้เลี้ยงกลับมาเลี้ยงอีกครั้ง ส่งผลให้หมูล้นตลาดในปีถัดไป ราคาก็ตกต่ำ กลับไปสู่วงจรขาดทุนอีกหน
เมื่อเปรียบเทียบราคาเฉลี่ยหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มต่อกิโลกรัมในภูมิภาคอาเซียน ราคาในประเทศไทยอยู่ที่ 88 บาท ขณะที่สูงสุด คือ มาเลเซีย 125 บาท รองลงมา คือ เมียนมา 104 บาท เวียดนาม 98 บาท กัมพูชา 94 บาท และลาว 85 บาท ตามลำดับ เห็นได้ว่าราคาหมูของไทยยังต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ
ทั้งนี้ภาครัฐและสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้ร่วมมือกันเพื่อรักษาสมดุลอุปสงค์-อุปทาน เพื่อให้การผลิตใกล้เคียงกับการบริโภคให้ราคาไม่สูงมากจนผู้บริโภคชะลอการซื้อ และไม่ต่ำเกินไปจนผู้เลี้ยงขาดทุน ซึ่งที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้ปลดทั้งลูกหมูขุนและแม่พันธุ์สุกร เพื่อลดผลผลิตที่จะเข้าสู่ตลาด
สำหรับผู้บริโภค หากมีความเข้าใจในบริบท และ “ภาพรวม” ของการผลิตสุกรในประเทศ ราคาหมูที่สูงขึ้นในช่วงฤดูร้อนนี้ ไม่ใช่การเอาเปรียบผู้บริโภค แต่เป็นผลจากปัจจัยธรรมชาติและกลไกตลาดที่หมุนเวียนเป็นประจำทุกปี เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน อากาศเย็นลง สุกรจะโตเร็วขึ้น การผลิตดีขึ้น ปริมาณหมูเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ราคาก็จะลดลง เป็นวัฏจักรตามธรรมชาติอย่างชัดเจน
ยิ่งไปกว่านั้น หมูที่ผลิตในประเทศไทยได้มาตรฐานระดับสากล ปลอดภัยจากสารต้องห้ามและยาปฏิชีวนะตกค้าง เป็นโปรตีนคุณภาพดี อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ราคาหมูตกต่ำ ขอให้ผู้บริโภคช่วยกันบริโภคเนื้อหมูเพิ่มขึ้น เพื่อพยุงเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในประเทศไม่ให้ล่มสลาย เพราะถ้าผู้เลี้ยงหมูหมดกำลังใจและเลิกเลี้ยงกันหมด วันหนึ่งข้างหน้าเราอาจต้องพึ่งพาการนำเข้าอย่างถาวรและควบคุมมาตรฐานด้านสุขอนามัยได้ยาก ขอเพียงเกษตรกรอยู่ได้ ผู้บริโภคได้อาหารดี ราคายุติธรรม คือ เป้าหมายร่วมกันของทุกคน
โดย : แทนขวัญ มั่นธรรมะ นักวิชาการอิสระ