การลงทะเบียนเข้าประเทศปลายทางล่วงหน้าเวลาเราจะเดินทางไปต่างประเทศได้กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นเกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์
แต่ละประเทศก็จะมีชื่อเรียกไม่เหมือนกัน เช่น ญี่ปุ่น เรียกว่า Visit Japan, เกาเหลี เรียก K-ETA, สิงคโปร์ จะเป็น SG Arrival Card ฯลฯ
แรก ๆ อาจจะดูยุ่งยากนิดหน่อย แต่ก็ถือว่าเป็นระบบที่อำนวยความสะดวกเมื่อเราเดินทางไปถึง เพราะไม่ต้องเสียเวลากรอกใบ ตม. ใบศุลกากร หรือแม้แต่ตรงจุดตรวจคนเข้าเมือง เพราะเจ้าหน้าที่จะมีข้อมูลของเราหมดแล้ว
หรือบางประเทศยังให้ใช้ QR Code ที่ได้รับจากการตอบรับของระบบสแกนเข้า Auto Gate ได้ โดยไม่ต้องผ่าน ตม.ก็มี
สำหรับประเทศไทย เอกสารที่ใช้เก็บข้อมูลของคนต่างด้าวเรียกว่า แบบ ตม.6 ซึ่งเป็นกระดาษให้ชาวต่างชาติกรอกข้อมูลเข้า-ออกประเทศ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ ติดตาม และในด้านความมั่นคงของประเทศ ตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522
และถ้าจำกันได้ ประเทศไทยเราได้ยกเว้นการใช้แบบ ตม.6 สำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยผ่านทางอากาศ หรือสนามบิน เป็นการชั่วคราวตั้งแต่กลางปี 2565
เป็นช่วงแรก ๆ ของการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว
จากนั้นก็ได้ทยอยประกาศยกเว้นการยื่นรายการตามแบบ ตม.6 ให้ชาวต่างชาติที่เดินทางผ่านด่านทางบกและทางน้ำในปี 2567
นับแต่นั้นเป็นต้นมา ประเทศไทยเราไม่มีฐานข้อมูลของชาวต่างชาติที่เข้ามาเลย ว่าพวกเขาเข้ามาเพื่อวัตถุประสงค์อะไร พักโรงแรมไหน มาพักจำนวนกี่วัน และเราสามารถติดตามตัวเขาอย่างไร
ล่าสุด กระทรวงการท่องเที่ยวฯประกาศแล้วว่า รัฐบาลเตรียมนำระบบ ตม.6 มาใช้ แต่เป็นแบบออนไลน์ เรียกว่า Thailand Digital Arrival Card หรือ TDAC โดยตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 นี้เป็นต้นไป คนต่างชาติทุกคนต้องลงทะเบียนก่อนเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยทุกช่องทางที่เว็บไซต์ http://tdac.immigration.go.th/ ล่วงหน้าภายใน 3 วันก่อนเดินทาง
ก่อนหน้านี้ “นัทรียา ทวีวงศ์” ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯเล่าให้ฟังว่า การให้บริการ ตม.6 ออนไลน์นี้ ถือเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยเพราะช่วยให้กระบวนการตรวจลงตรารวดเร็วขึ้น
เพราะระบบ TDAC ได้เชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการเดินทางทั้งหมด เช่น ระบบ e-Visa ของกรมการกงสุล, ระบบคัดกรองโรคของกรมควบคุมโรค, ระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ส่วนข้อมูลการเดินทางที่จะต้องกรอกนั้น ประกอบด้วย หนังสือเดินทาง ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลการเดินทาง ที่พักในประเทศไทย สถานะทางสุขภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข
เมื่อกรอกข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลการเดินทางแล้ว ต้องส่งแบบฟอร์มและรับอีเมล์ยืนยัน จากนั้นให้นำเอกสารยืนยันและเอกสารการเดินทางไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเมื่อเดินทางถึงประเทศไทย
และเพื่อให้เกิดการรับรู้และใช้งานระบบ ตม.6 ออนไลน์อย่างทั่วถึง สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ถึง 5 ภาษา คือ อังกฤษ จีน เกาหลี รัสเซีย และญี่ปุ่น
ส่วนตัวดิฉันเองมองว่า TDAC ไม่ใช่เพียงแค่ระบบลงทะเบียนเข้าประเทศเท่านั้น แต่จะให้เรามีข้อมูลที่ชัดเจนว่าชาวต่างชาติที่เข้ามานั้นมาเพื่อวัตถุประสงค์อะไร พักอยู่โรงแรมไหน กี่วัน ฯลฯ
และแน่นอนว่าข้อมูลนี้จะเป็นฐานข้อมูลที่มีมูลค่ามหาศาล และเป็น “ขุมพลัง” ที่ดีให้กับภาคการท่องเที่ยวของประเทศ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปวิเคราะห์ ต่อยอด เพื่อวางแผนทำการตลาดในอนาคต…