ปชน. จี้ นายกฯ ชะลอ-ยกเลิก รับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาด ชี้ไม่โปร่งใส เอื้อนายทุน ปชช.ใช้ไฟแพง
GH News April 24, 2025 12:40 PM

ปชน. จี้ นายกฯ ชะลอ-ยกเลิก รับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาด ชี้ไม่โปร่งใส เอื้อนายทุน ปชช.ใช้ไฟแพง

เมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่รัฐสภา นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน และ นายศุภโชติ ไชยสัจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน แถลงข่าวกรณีการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแบบ Feed-in Tariff รอบ 5,200 เมกะวัตต์ และรอบเพิ่มเติม 3,600 เมกะวัตต์ ที่รัฐบาลเพื่อไทยกำลังสานต่อขบวนการค่าฟ้าแพงจากรัฐบาลประยุทธ์

นายวรภพ กล่าวว่า การรับซื้อไฟฟ้าทั้งสองรอบดังกล่าวพบความผิดปกติหลายประการ ทั้งการรับซื้อที่แพงเกินจริงเพราะไม่มีการเปิดประมูลราคารับซื้อ กระบวนการคัดเลือกที่เปิดช่องให้เกิดการทุจริต และดุลพินิจในการคัดเลือกเอกชนรายใดก็ได้ จากหลักเกณฑ์ในการให้คะแนนเทคนิคอออกมาล่วงหน้า ทั้งยังดึงดันจะดำเนินการต่อทั้งที่พบความผิดปกติ และมีแนวทางอย่างอื่นที่มีประสิทธิภาพกว่าอย่าง Direct PPA และขอเชิญชวนประชาชนร่วมจับตาประเด็นดังกล่าว เพื่อกดดันรัฐบาลให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างโปร่งใสและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่รัฐบาลรับซื้อในครั้งนี้ริเริ่มตั้งแต่สมัยรัฐบาลประยุทธ์ เมื่อปี 2565 จำนวนกว่า 5,200 เมกะวัตต์ และรอบเพิ่มเติมอีกกว่า 3,600 เมกะวัตต์ ในขณะที่กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศไทยล้นอยู่แล้ว สังเกตได้จากโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่กว่า 7 จากทั้งหมด 13 โรงไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเลยแม้แต่วันเดียว อีกทั้งการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดทั้งสองรอบเกือบ 9,000 เมกะวัตต์ดังกล่าว ยังไม่มีการประมูลราคารับซื้อไฟฟ้า ทำให้ราคารับซื้อต่อหน่วยแพงกว่าต้นทุนที่ควรจะเป็น (แสงอาทิตย์ 2.2 บาท/หน่วย, ลม 3.1 บาท/หน่วย) ซึ่งจะส่งผลโดยตรงให้ราคาไฟฟ้าในอนาคตของประชาชนสูงกว่าความเป็นระเบียบหลักเกณฑ์ และกระบวนการรับซื้อยังมีความผิดปกติอื่น เช่น ไม่ประกาศหลักเกณฑ์การคัดเลือกล่วงหน้า ไม่อนุญาตให้รัฐวิสาหกิจเข้าร่วม ทำให้ในรอบแรก 5,200 เมกะวัตต์ กลุ่มทุนพลังงานรายใหญ่รายเดียวได้สัมปทานไปกว่า 41%

นายวรภพ กล่าวอีกว่า ต่อมาในสมัยรัฐบาลเพื่อไทย ตนและเพื่อน สส. ได้ยกประเด็นนี้ขึ้นมาเรียกร้องทั้งในและนอกสภาฯ เพื่อให้รัฐบาลยกเลิกการรับซื้อที่ผิดปกติดังกล่าว แต่รัฐบาลกลับละเลยต่อข้อพิรุธทุจริตนโยบาย และปล่อยให้การรับซื้อไฟในรอบแรก 5,200 เมกะวัตต์ เซ็นสัญญาไปกว่า 4,000 เมกะวัตต์ ในขณะเดียวกัน การรับซื้อไฟฟ้ารอบเพิ่มเติมจำนวน 3,600 เมกะวัตต์ ได้มีการออกระเบียบการรับซื้อเพิ่มโดยล็อกโควตา 2,168 เมกะวัตต์ ให้ผู้ผ่านเกณฑ์ที่ไม่ได้รับเลือกในรอบแรกเท่านั้น สะท้อนถึงความผิดปกติที่เอื้อต่อการทุจริต

“แม้นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ จะมีอำนาจในการ ชะลอหรือยกเลิกได้ แต่ก็ปล่อยให้การรับซื้อรอบแรกดังกล่าวเซ็นสัญญาไปเกือบหมด แม้จะมีการชะลอการรับชื่อในรอบเพิ่มเติมไว้จากแรงกดดันสังคม และสื่อมวลชน แต่ปัจจุบันผ่านมาสามเดือนแล้วยังไม่มีอะไรคืบหน้า” นายวรภพ กล่าว

นายศุภโชติ ระบุว่า การรับซื้อไปในครั้งนี้ ส่งผลให้ค่าไฟแพงเกินกว่าที่ควรจะเป็น กระบวนการคัดเลือกมีปัญหา ส่อทุจริต และส่งผลให้เกิดการผูกขาดในภาคพลังงาน ที่ผ่านมาได้ทักท้วงการรับชื่อไฟฟ้าทั้งสองรอบดังกล่าวมาตลอด แต่ผลที่ได้กลับมาเป็นการเมินเฉยจากรัฐบาล แม้จะมีการชะลอการรับซื้อในรอบเพิ่มเติม 3,600 เมกะวัตต์ แต่ในรอบแรก 5,200 เมกะวัตต์ กลับปล่อยให้มีการเซ็นสัญญามาเรื่อย ๆ จนเกือบครบทั้งหมดในวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา ทั้งที่รู้ว่าหากมีการเซ็นสัญญาแล้วจะยกเลิกสัญญาได้ยากขึ้นและเป็นภาระให้ประชาชนไปอีก 25 ปี

นายศุภโชติ กล่าวอีกว่า กระทรวงพลังงานชี้แจงว่า ไม่สามารถยกเลิกการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 5,200 เมกะวัตต์ เนื่องจากจะไม่ยุติธรรมกับเอกชนบางกลุ่ม อีกทั้งรัฐบาลอ้างว่าจะไม่ยุติธรรมกับเอกชนหากยกเลิกสัญญา แต่ฝ่ายค้านมองว่าควรให้ความสำคัญกับประชาชนผู้ใช้ไฟ เพราะโครงการนี้มีปัญหาเรื่องความโปร่งใส และต้นทุนที่ไม่เหมาะสม อีกทั้งตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานที่ประกาศรับซื้อกับเอกชน รัฐมีอำนาจตามข้อ 39 ให้นายกรัฐมนตรีสามารถสั่งยกเลิกได้หากยังไม่มีการเซ็นสัญญา เหมือนที่เคยสั่งซะลอโครงการ 3,600 เมกะวัตต์มาแล้ว

กระทรวงพลังงานชี้แจงว่า ราคาที่ใช้ในการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 5,200 เมกะวัตต์ มีความเหมาะสมแล้ว ซึ่งราคาดังกล่าวแพงเกินจริง แม้จะต่ำกว่าค่าไฟขายส่งเฉลี่ย แต่ไม่สะท้อนต้นทุนที่ลดลงตามเทศโนโลยี ปัจจุบัน รัฐยังใช้ระบบกำหนดราคากลางโดยไม่เปิดประมูล ทำให้ขาดการแข่งขันและอาจเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนที่ได้รับสัมปทาน

กระทรวงพลังงานอ้างว่า ต้องซื้อไฟเพิ่มเพื่อสนับสนุนเป้าหมายลดคาร์บอน และตอบโจทย์อนาคตพลังงานสะอาดของประเทศ แม้การเพิ่มพลังงานสะอาด จะช่วยลดคาร์บอนได้จริง แต่พรรคประชาชนเสนอทางเลือกที่ไม่สร้างภาระให้ประชาชน เช่น Direct PPA ซึ่งเปิดให้ผู้ผลิตไฟฟ้าขายตรงให้กับผู้ไฟฟ้าโดยไม่ต้องบวกค่าไฟให้เป็นการะประชาชน แต่กลับถูกจำกัดไว้เฉพาะบางกลุ่มธุรกิจ และยังไม่สามารถใช้งานได้จริง ทั้งที่ผู้ประกอบการรอคอยมากกว่า 10 เดือนแล้ว

แม้กระบวนการดังกล่าว จะถูกต้องตามกฎหมาย แต่รัฐบาลควรให้ความสำคัญในประเด็นอื่น ๆ ด้วยไม่ใช่แค่ถูกกฎหมายอย่างเดียว ถ้าถามถึงความเหมาะสม ตนเองว่าไม่ใช่ เพราะมองว่าจะเป็นการปล่อยให้มีการทุจริตเชิงนโยบายต่อไปใช่หรือไม่

นายศุภโชติ หวังว่า รัฐบาลจะใช้อำนาจที่ตัวเองมี แก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง และออกมาตอบคำถามของประชาชน เพราะที่ผ่านมาก็ตอบไม่ตรงคำถาม ซึ่งคำตอบที่ตอบ ก็ตอบพวกตนเองมาปีแล้ว ดังนั้น การสื่อสารที่ตรงไปตรงมาเป็นสิ่งที่ต้องทำ

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.