เมื่อวันที่ 19 เมษายน ที่ห้องประชุมที่สำนักงานสาธารณสุข อ.นาหม่อม จ.สงขลา นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการ/หัวหน้าหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน เพื่อตรวจติดตาม เร่งรัดและผลักดันให้แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมาย เข้าสู่ประกันสังคมให้ครบ 100% โดยมี นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นายจิรวัตร์ มณีโชติ รองผู้ว่าราชการ จ.สงขลา ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานร่วม
นายพิพัฒน์ เปิดเผยว่า ภารกิจตรวจราชการใน 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี สงขลา นครศรีธรรมราช และตรัง เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันกับผู้บริหารระดับจังหวัด หรือที่เรียกว่า “5 เสือแรงงาน” พร้อมหารือแนวทางรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติ อาทิ อุทกภัย วาตภัย และภัยธรรมชาติรูปแบบอื่น ๆ หน้าที่ของกระทรวงแรงงาน ไม่ได้จำกัดเฉพาะการดูแลแรงงานไทยเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงแรงงานต่างด้าวจาก 4 สัญชาติ ได้แก่ เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม อย่างไรก็ตาม จังหวัดสงขลา มีแรงงานต่างด้าวมากกว่า 50,000 คน ที่สำคัญเราต้องการผลักดันให้แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมายเข้าสู่ระบบประกันสังคม 100% ขณะนี้มีแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในระบบประกันสังคมแล้วประมาณร้อยละ 63 อยู่ระหว่างกระบวนการพิสูจน์อัตลักษณ์จากประเทศต้นทางกว่าร้อยละ 32 เมื่อดำเนินการเสร็จสิ้น ก็สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้ต่อไป
นายพิพัฒน์ กล่าวว่าแรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบประกันสังคมแล้ว จะได้รับสิทธิประโยชน์ โดยเฉพาะในด้านค่ารักษาพยาบาล ซึ่งถือเป็นภารกิจหลักที่กระทรวงแรงงานต้องดำเนินการดูแล แรงงานทุกคนในระบบประกันสังคม ไม่ว่าจะเป็นสัญชาติใด ต้องจ่ายเงินสมทบในอัตราร้อยละ 5 ได้มอบหมายให้ 5 เสือแรงงานประสานกับนายจ้างเพื่อนำแรงงานเข้าสู่ระบบประกันสังคมอย่างเข้มข้น คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2568 โดยมีแนวโน้มที่จะลดจำนวนอาชีพที่ได้รับการยกเว้นให้น้อยลง เพื่อขยายความคุ้มครองให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น
กระทรวงแรงงานได้จัดตั้ง “หน่วยเฉพาะกิจ” มีผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานเป็นหัวหน้าชุด ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานด้านความมั่นคง ได้แก่ ทหาร ตำรวจ ศรชล. และ14 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อออกตรวจสอบและดำเนินการกับแรงงานต่างด้าวที่ประกอบอาชีพสงวน แม้จะเป็นแรงงานที่มีเอกสารถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม กระทรวงแรงงานไม่สามารถอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวประกอบอาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทยได้ หากตรวจพบจะต้องดำเนินการตามกฎหมายทันที ทั้งการจับ ปรับ และแจ้งเตือนผู้ประกอบการ ย้ำชัดอาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทย จะต้องเป็นของคนไทยเท่านั้น
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า สงขลามีแรงงานต่างด้าว 57,232 คน ต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคม 1,920 คน ประกอบด้วยแรงงานจาก BOI 178 คน, แรงงานฝีมือชำนาญการ 1,277 คน และตามมาตรา 63/1 อีก 465 คน ขณะที่กลุ่มที่ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนแล้ว 33,194 คน คิดเป็นร้อยละ 63.10 และยังมีกลุ่มที่อยู่ระหว่างดำเนินการส่งเสริมเข้าสู่ระบบ 19,409 คน คิดเป็นร้อยละ 32.90 ส่วนกลุ่มที่ได้รับการยกเว้นมี 2,709 คน