‘เผ่าภูมิ’ ฟุ้งถก 3 สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ JP Morgan-Moody’s-S&P ลุยแจงเศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่การฟื้นตัว พื้นฐานยังแกร่ง มั่นคง มาตรการรองรับกำแพงภาษีพร้อม มั่นใจคงเรตติ้งไทยในระดับมีเสถียรภาพ
24 เม.ย. 2568 – นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง เปิดเผยว่า ในห้วงการประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (WB-IMF Spring Meetings) ประจำปี 2568 ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐฯ ได้หารือกับสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating Agency: CRA) 3 สถาบัน ได้แก่ JP Morgan-Moody’s และ S&P โดยได้ชี้แจงว่า ไทยกำลังเข้าสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังจากเผชิญกับภาวะการเติบโตในระดับต่ำมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ แม้จะเห็นสัญญาณเชิงบวกเริ่มปรากฏในหลายภาคส่วน แต่ยังไม่เต็มศักยภาพ และขณะเดียวกัน ความไม่แน่นอนจากนโยบายทางการค้าของสหรัฐฯ ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งทางตรงในด้านการส่งออกและทางอ้อมจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการชะลอการลงทุน รัฐบาลไทยได้เตรียมความพร้อมทั้งนโยบายทางการคลัง นโยบายทางการเงิน รวมถึงการใช้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐรับมือในช่วงรอยต่อ เพื่อรับมือความผันผวนดังกล่าวด้วยความระมัดระวัง
“ไทยยังคงรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค โดยอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำและมีเสถียรภาพ สถาบันการเงินทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีความมั่นคง โดยธนาคารพาณิชย์มี BIS ratio อยู่ที่ 20.12% สะท้อนถึงฐานะการเงินที่มั่นคง มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงกว่า 2.47 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นกันชนสำคัญรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจ” นายเผ่าภูมิ กล่าว
ด้านการคลัง รัฐบาลให้ความสำคัญกับการบริหารหนี้สาธารณะเชิงรุกและการรักษาวินัยในการชำระหนี้ แม้ว่าวิกฤตโควิด-19 จะส่งผลให้รัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินจนทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโตในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยหนี้สาธาณะคิดเป็น 64.21% ของจีดีพี อยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ โดยมีต้นทุนการกู้เงินเฉลี่ยที่ 2.82% อายุเฉลี่ย 9 ปี 2 เดือน และสัดส่วนหนี้สาธารณะในสกุลเงินต่างประเทศมีเพียง 0.90% ของจีดีพี ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยนในระดับที่ต่ำ เมื่อเทียบตัวเลขหนี้ภาครัฐบาลของไทยตามหลักสากลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF จะอยู่ที่ 58.50% ต่อจีดีพีเท่านั้น อีกทั้งไทยยังคงรักษาความสามารถในการชำระหนี้ (Debt Affordability) ได้อย่างดี
อย่างไรก็ดี ด้วยความเข้มแข็งดังกล่าว มีแนวโน้มสูงที่ไทยจะได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ (Sovereign Credit Rating) อยู่ในระดับ BBB+ ของ S&P เทียบเท่ากับ Baa1 ของ Moody’s และมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) ซึ่งอยู่ในระดับน่าลงทุน (Investment Grade) ต่อไป