ยกสิทธิ 2 วงโคจรดาวเทียมให้ “ไทยคม” ป้องเสียสมบัติชาติ 
ปาล์ม ICT April 24, 2025 05:46 PM

มติบอร์ด กสทช. ยกสิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม 2 ตำแหน่ง 51 และ 142 องศาตะวันออกให้บริษัทลูกของ  ‘ไทยคม’ โดยไม่ต้องประมูล สกัด ITU ริบ สิทธิคืน  

รศ.ดร. สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช. เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา บอร์ดลงมติอนุญาตให้บริษัทลูกของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) คือ บริษัท ทีซี 51 จำกัด ได้สิทธิวงโคจรดาวเทียมตำแหน่ง 51 องศาตะวันออก และ บริษัท ทีซี 42 จำกัด ได้สิทธิวงโคจรดาวเทียมตำแหน่ง 142 องศาตะวันออก โดยยื่นข้อเสนอผลตอบแทนให้แก่รัฐ 0.25 % ของรายได้

สำหรับตำแหน่งวงโคจร 51 และ 142 องศาตะวันออกนั้น บริษัท ทีซี สเปซ คอนเน็ค จำกัด บริษัทลูกของไทยคมก็ได้ยื่นข้อเสนอสิทธิวงโคจรดาวเทียมเช่นกัน พร้อมกับการขอวงโคจร 50.5 องศาตะวันออก แต่ บริษัท ทีซี สเปซ คอนเน็ค จำกัด โดยไม่ได้ยื่นหลักประกันสำหรับ 2 ตำแหน่งดังกล่าว 

ทั้งนี้ วงโคจร 51 องศาตะวันออกยังอยู่ในขั้นต้น ระยะเวลาสิ้นสุดการจองวงโคจร (ไฟลิ่ง) จากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) วันที่ 25 เม.ย. 2573 ส่วนวงโคจร 142 องศาตะวันออก มีทั้งขั้นต้น และ ขั้นสมบูรณ์ โดยจะสิ้นสุดการจองวงโคจรวันที่ 19 ม.ค. 2572 

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ วงโคจรดาวเทียมที่ตำแหน่ง 50.5, 51 และ 142 องศาตะวันออก เป็นตำแหน่งที่ไม่มีผู้สนใจประมูลขอใบอนุญาตเข้าใช้ ในการประมูลดาวเทียมล่าสุดเมื่อ 15 ม.ค. 2566 เนื่องจากมีระยะสัญญาณครอบคบุมผิวโลก (foot print) ในพื้นที่ห่างไกลอย่างในตะวันออกกลาง และมหาสมุทรแปซิฟิก ทั้งนังอยู่ในระยะต้นที่ยังไม่มีการประสานวงโคจรกับชาติอื่นๆ

เมื่อยังไม่มีเอกชนประมูลสิทธิทำให้ไม่มีแผนบริหารจัดการวงโคจร ทำให้ 3 วงโคจรนี้ สามารถถูกอ้างสอทธิจากประเทศอื่นๆ ได้ทุกเมื่อ ตราบที่มีใครพร้อมส่งดาวเทียมสื่อสารขึ้นก่อน ตามหลัก First com, first serve ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) 

จึงเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของ กสทช. เพราะตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 60 รับุวงโคจรดาวเทียมเป็นสมบัติชาติ ซึ่ง กสทช. มีหน้าที่รักษาไว้ มีการพยายามแก้เงื่อนไขประมูล ให้เป็นการคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติ

 จนกระทั่ง มีการประชุมบอร์ดกสทช.วาระพิเศษ วันที่ 21 ต.ค. 2567 มีมติเห็นชอบ ทีซี สเปซ คอนเน็ค ซึ่งเป็นบริษัทลูก ของ บมจ. ไทยคม ยื่นคุณสมบัติเพื่อขอบริหารจัดการวงโคจรที่เหลืออยู่ และ บอร์ด กสทช. มีมติให้ ทีซี สเปซ คอนเน็คใช้งานดาวเทียมประจำที่ ตำแหน่ง 50.5 องศาตะวันออก โดยเสนอผลตอบแทนให้รัฐ ต่อปี อยู่ที่ 0.25% ของรายได้

จากนั้น ไทยคม ได้นำดาวเทียมไทยคม 9A มาประจำวงโคจร 50.5 องศาตะวันออกได้สำเร็จแล้วเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2567 ทำให้ประเทศไทยสามารถรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรในตำแหน่ง 50.5 องศาตะวันออก ก่อนที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 27 พ.ย. 2567 และอาจถูก ITU ริบคืนไป เพื่อให้ผู้ที่พร้อมในประเทศอื่นๆ ใช้งาน

ต่อมา วงโคจร 51 และ 142 ยังต้องใช้เวลาพิจารณาคุณสมบัติเพิ่มเติม ซึ่งทางไทยคม ได้ตั้งบริษัทลูก อีกสองแห่งเพื่อยื่นขอใช้ และได้รับอนุญาตในวันนี้ 

ที่ต้องจับตาต่อไปคือ แผนธุรกิจของไทยคม ในการจัดการสองวงโคจรนี้ ไม่ว่าจะเป็นการประสานความถี่ และการส่งดาวเทียมเข้าวงโคจร โดยมิพักลืมว่า วงโคจรดังกล่าวเป็นตลาดที่ “ไทยคม” ไม่คุ้นเคย ทั้งในพื้นที่ ตะวันออกกลาง และ กลางทะเลแปซิฟิก

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.