หมอประกิตค้านภาษียาสูบ 3 อัตรา หวั่นประชาชนวิ่งหาบุหรี่ราคาถูก ดึงไทยถอยหลังเข้าคลอง ตามที่การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ได้ศึกษาและเสนอแผนจัดเก็บภาษียาสูบใหม่จากเดิม 2 อัตรา เป็น 3 อัตรา ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ นักวิชาการ อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด และประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่าการจัดเก็บภาษี 3 อัตราเป็นเรื่องล้าหลัง ยิ่งทำให้ประชาชนหันไปสูบบุหรี่ราคาถูกมากยิ่งขึ้น
นพ.ประกิต กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีความพยายามที่จะลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ แต่ก็ไม่สามารถทำได้เนื่องจากการจัดเก็บภาษีแบบ 2 อัตราทำให้บุหรี่ต่างประเทศลดราคาลงมาแข่งในเทียร์ล่างทำให้การจูงใจให้คนเลิกสูบบุหรี่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้การจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตลดลง มีปัญหาในเรื่องบุหรี่เถื่อนที่ทำให้ประเทศไทยไม่ประสบความสำเร็จในการจัดเก็บภาษี และจากที่มีข่าวว่าการยาสูบจะเสนอปรับโครงสร้างภาษีจาก 2 อัตรา เป็น 3 อัตรา เพื่อลดราคาบุหรี่ ยิ่งเป็นความคิดที่ล้าหลังอย่างมาก ประเทศไทยเคยมีการใช้ภาษีบุหรี่แบบ 3 อัตราเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2530 แล้วก็กลับมาใช้การจัดเก็บภาษีแบบอัตราเดียว จากนั้นก็เริ่มใช้ภาษีบุหรี่แบบ 2 อัตราตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน ผลที่ตามมาก็คือบุหรี่ต่างประเทศ ได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีราคาถูกลงเพื่อมาทำตลาดในกลุ่มเทียร์ล่าง ส่งผลให้ยอดจำหน่ายของโรงงานยาสูบแห่งประเทศไทยมีรายได้ที่ลดลง และตัวเลขรายได้การจัดเก็บภาษีบุหรี่ของสรรพสามิตก็ลดลงตามไปด้วย นั่นคือสิ่งที่เราเห็นได้จากการจัดเก็บภาษีแบบ 2 อัตรา
มาครั้งนี้เราจะเก็บภาษีแบบ 3 อัตราเหมือนสมัยก่อนนั้นก็คงจะไม่เห็นด้วยเพราะเท่ากับว่าจะทำให้มีบุหรี่มวนราคาถูกเพิ่มเข้ามาในตลาด คนก็จะสูบบุหรี่มากขึ้น เพราะบุหรี่มีราคาถูกลง ในแง่ของการจูงใจให้คนสูบบุหรี่น้อยลงเพราะบุหรี่มีราคาแพงก็จะหายไปเพราะมีบุหรี่ราคาถูกเข้ามา ตรงนี้คนที่ได้ผลประโยชน์มากที่สุดก็คือยสท. จะมีรายได้เพิ่มมากขึ้นเพราะจำหน่ายบุหรี่ได้มากขึ้น แต่ในแง่ของการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเข้ารัฐ จะมีรายได้น้อยลง เพราะคนจะหันไปซื้อบุหรี่ราคาถูกมากที่สุด ซึ่งบุหรี่ราคาถูก รายได้ภาษีต่อซองก็น้อย รัฐจึงมีรายได้จากภาษีตรงนี้ลดลง และยังทำให้ผู้สูบบุหรี่เลิกบุหรี่ได้ยากขึ้น เพราะมีบุหรี่ราคาถูกเพิ่มเข้ามา จากที่ไม่มีกำลังซื้อก็จะกลับมาซื้อได้ง่ายขึ้น หรือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยก็จะเริ่มกลับมาสูบบุหรี่ราคาถูกกันมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเป็นวงกว้าง ไม่ใช่แค่ตัวผู้สูบที่จะได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ คนรอบข้าง คนใกล้ตัวก็จะได้รับควันบุหรี่มือสองมีปัญหาสุขภาพกลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขให้ยิ่งหนักขึ้นไปอีก
หากมองทั้งโลกมีเพียง 7 ประเทศเท่านั้นที่ใช้ภาษีบุหรี่แบบหลายอัตราและในกลุ่มนี้ก็ไม่มีประเทศไหนเลยที่ประสบความสำเร็จในแง่ของการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ และจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น ทำให้ประเทศไทยล้มเหลวในการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่
ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการจัดเก็บภาษีบุหรี่ และลดจำนวนผู้สูบมากที่สุดก็คือประเทศฟิลิปปินส์ ที่ยกเลิกการจัดเก็บภาษีหลายอัตราเหลือเพียงอัตราเดียว ทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น และมีจำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลง ซึ่งตามแนวทางขององค์การอนามัยโลกก็แนะนำให้จัดเก็บภาษีแบบอัตราเดียวที่มีประสิทธิภาพมากกว่า และคำว่าอัตราเดียวในที่นี้ต้องรวมถึงบุหรี่ยาเส้นด้วย เพราะที่ผ่านมาเราจัดเก็บภาษียาเส้นน้อยมาก ประมาณ 0.10 บาทต่อกรัม ขายกันซองละไม่กี่ 10 บาท ทั้งที่อันตรายของยาเส้นนั้นไม่ต่างจากยาสูบ ดังนั้นไม่เพียงแต่ยาสูบที่จะต้องเก็บภาษีในอัตราสูง ยาเส้นที่มีอันตรายต่อสุขภาพก็ควรเก็บภาษีในอัตราเดียวกับยาสูบ
“พฤติกรรมของผู้สูบบุหรี่เมื่อไม่มีเงินซื้อบุหรี่ราคาแพงก็จะหันไปซื้อบุหรี่ที่มีราคาถูกลงมา ถ้าไม่พอซื้อบุหรี่มวนที่ถูกที่สุดอีกก็จะซื้อยาเส้นมาสูบแทน ดังนั้นยาเส้นจะเป็นทางเลือกสุดท้ายของผู้สูบ ทำให้การรณรงค์เลิกสูบบุหรี่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรดังนั้นประเทศไทยควรจัดเก็บภาษียาสูบและยาเส้น ให้มีอัตราที่เท่ากันทั้งหมดเพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดจำนวนผู้สูบเดิมและผู้สูบหน้าใหม่ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐต้องเข้มงวดกับการจัดการบุหรี่เถื่อน และการจำหน่ายบุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้ากับเยาวชน เพื่อป้องกันเยาวชนให้ห่างไกลจากบุหรี่” นพ.ประกิต กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตเคยจัดเก็บภาษียาสูบได้ราว 6.8 หมื่นล้านบาท ในปีงบประมาณ 2560 และ ภายหลังการปรับโครงสร้างภาษีเป็นการจัดเก็บตามมูลค่าแบบ 2 อัตรา ซึ่งมีผลตั้งแต่ปีงบฯ 2561 ภาษียาสูบที่จัดเก็บได้ก็ลดลงเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง และเห็นผลกระทบหนักที่สุดในปีงบฯ 2565 ภายหลังการปรับนโยบายภาษีสรรพสามิตยาสูบในเดือนตุลาคม 2564 ที่มียอดจัดเก็บ 5.9 หมื่นล้านบาท ลดลงจาก 6.4 หมื่นล้านบาท ในปีงบฯ 2564 ปัจจุบัน กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษียาสูบในปีงบฯ 2567 ได้ 5.1 หมื่นล้านบาท จึงทำให้สรรพสามิต ออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุนการปรับโครงสร้างภาษีเป็นอัตราเดียว ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการศึกษาให้ละเอียดถี่ถ้วน