เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ไม่เพียง “เขย่าขวัญ” คนไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งสัญญาณ “เตือนดัง ๆ” ให้ประเทศไทย ให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญกับการรับมือภัยธรรมชาติที่รุนแรงนี้
จากเดิมที่เราอยู่แบบเย็นใจ ไม่เคยต้องกังวลกับภัยแผ่นดินไหวลักษณะนี้ เพราะมันไม่เคยเกิดขึ้น ซึ่งจะต่างจากภัยน้ำท่วม ที่เรารู้กันอยู่แล้วว่า มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพียงแต่ไม่รู้ว่าจะรุนแรงแค่ไหนเท่านั้น แต่หลังจากนี้ คงต้องคิดใหม่แล้วว่า อะไรก็เกิดขึ้นได้
ต้องยอมรับว่า เวลาที่อยู่ดีมีสุข ไม่มีภัยพิบัติใด ๆ มาแผ้วพาน มนุษย์อย่างเรา ๆ มักจะประมาท มักจะคิดว่าตนเองยิ่งใหญ่เหนือธรรมชาติ แต่เมื่อเกิดภัยธรรมชาติใหญ่ ๆ ขึ้น เราก็จะเริ่มตระหนักได้อีกครั้งว่า มนุษย์นั้นแสนจะ “กะจ้อยร่อย”
ตอนภัยยังไม่มาถึงตัว เราก็สร้าง สร้าง สร้าง ซึ่งมักจะแลกมาด้วยการทำลายระบบนิเวศ ทำลายสภาพแวดล้อม รวมถึงกระทำการอย่างประมาท
ดังนั้น ก็คงต้องมาคิดกันต่อว่า แล้วการรับมือ จะทำอย่างไรบ้าง การรับมือแผ่นดินไหวในฐานะที่เป็น “ภัยธรรมชาติ” ก็คงต้องวางแผนระยะยาว ไม่ว่าจะการวางผังเมือง การก่อสร้างตึกสูง ฯลฯ จะปรับกันอย่างไร
ขณะเดียวกันสิ่งที่ต้องทำในระยะเร่งด่วนนี้ ก็คือ ต้องช่วยเหลือ เยียวยาผู้ประสบภัยอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ทั้งเคสตึก สตง.ถล่ม และเคสผลกระทบแผ่นดินไหวอื่น ๆ เพราะได้ยินมาว่า บางคนได้เงินเยียวยาแค่ 70 กว่าบาทก็มี
ที่สำคัญ อย่างในเคสตึก สตง.ถล่ม ต้องเร่งทำความจริงให้ปรากฏ ว่าการที่ตึกระหว่างก่อสร้างที่มีอยู่จำนวนมาก แต่กลับถล่มลงมาเพียงตึกเดียวนั้น เกิดจากภัยธรรมชาติล้วน ๆ หรือภัยมนุษย์ผสมโรงด้วยกันแน่ ปมข้อสงสัยในขั้นตอนต่าง ๆ ควรจะคลี่ออกมาให้สังคมได้รับรู้รับทราบทั้งหมด
แล้วหากพบใครกระทำผิด ในขั้นตอนไหน ก็ควรได้รับการลงโทษอย่างจริงจัง เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มันแลกมาด้วย “ชีวิต”…ชีวิตอันเป็น “ที่รัก” ของหลาย ๆ ครอบครัว