นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า การเริ่มต้นเพาะปลูก หากเลือกใช้พันธุ์พืชที่มีคุณภาพ ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เช่นเดียวกับการปลูกมันสำปะหลัง พืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทยจำนวนมาก การใส่ใจในรายละเอียดตั้งแต่การคัดเลือกท่อนพันธุ์ที่มีคุณภาพ จะเป็นรากฐานสำคัญที่นำไปสู่คุณภาพและปริมาณผลผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นได้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในจุดนี้ จึงแนะนำให้เกษตรกรคัดเลือกท่อนพันธุ์มันสำปะหลังให้ได้คุณภาพก่อนลงปลูก เพื่อให้การเพาะปลูกประสบความสำเร็จตั้งแต่เริ่มต้น
นายพีรพันธ์ กล่าวว่า ท่อนพันธุ์เปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์ของพืชอื่นๆ หากท่อนพันธุ์ไม่สมบูรณ์ แข็งแรง หรือมีโรคและแมลงติดมา ย่อมส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต ผลผลิต และคุณภาพของหัวมันสำปะหลังโดยตรง การเลือกใช้ท่อนพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมจะช่วยให้มันสำปะหลังเจริญเติบโตได้ดี แม้ในสภาวะอากาศที่แปรปรวนและช่วงฤดูแล้ง การวางแผนการผลิตและการเตรียมท่อนพันธุ์ปลูกให้มีคุณภาพ และให้มีปริมาณเพียงพอในแต่ละฤดูการผลิตจะเป็นปัจจัยเบื้องต้นที่สามารถยกระดับผลผลิตและลดต้นทุนการผลิต
มันสำปะหลัง เพราะท่อนพันธุ์คุณภาพดีจะมีความงอกสูง งอกได้เร็วไม่ต้องเสียเวลาและแรงงานในการปลูกซ่อม หรือกำจัดวัชพืช เพราะมันสำปะหลังเจริญเติบโตคลุมพื้นที่ได้เร็ว สามารถรักษาพันธุ์ไว้ใช้ต่อได้เอง เป็นการลดความเสี่ยงจากการนำพันธุ์จากแหล่งอื่นมาปลูกซึ่งอาจมีโรคและแมลงติดมา และเพิ่มโอกาสในการได้ผลผลิตที่สูง และมีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด
10 ปัจจัยสำคัญ ที่เกษตรกรควรพิจารณาในการเลือกท่อนพันธุ์มันสำปะหลังคุณภาพ เพื่อให้การเพาะปลูกประสบความสำเร็จตั้งแต่เริ่มต้น ได้แก่ 1.พันธุ์ การเลือกพันธุ์ที่ตรงตามความต้องการของตลาด พันธุ์ที่ทนทานต่อโรคใบด่าง ได้แก่ เกษตรศาสตร์ 50 ห้วยบง 60 และระยอง 72 เป็นต้น หรือพันธุ์ที่มีความต้านทานโรคใบด่าง ได้แก่ พันธุ์อิทธิ 1 อิทธิ 2 และอิทธิ 3 เป็นต้น รวมทั้งการเลือกที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ปลูกเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เนื่องจากแต่ละพันธุ์มีลักษณะการเจริญเติบโต การสะสมแป้ง ความงอก และความแข็งแรงแตกต่างกัน การมีพันธุ์ปนจะส่งผลเสียต่อผลผลิตโดยรวม
2.อายุของต้นพันธุ์ ท่อนพันธุ์ที่ดีควรมาจากต้นที่มีอายุระหว่าง 8-14 เดือน ไม่ควรอ่อนหรือแก่จนเกินไป
โดยการใช้ท่อนพันธุ์ปลูกจากส่วนกลางของต้นจะมีเปอร์เซ็นต์อยู่รอด 69-84%
3.ขนาดของท่อนพันธุ์และส่วนที่ใช้ทำพันธุ์ ควรเลือกท่อนพันธุ์ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 เซนติเมตรขึ้นไป
และมีความยาว 15-20 เซนติเมตร มีตาอย่างน้อย 7-10 ตาต่อท่อน โดยท่อนพันธุ์ขนาด 20 เชนติเมตร จากส่วนกลางและโคนของต้นที่มีอายุ 12 เดือน มีเปอร์เซ็นต์อยู่รอดของท่อนพันธุ์ 73-92%
4.การจัดการในแปลงพันธุ์ ต้นพันธุ์ที่ได้รับการดูแลและใส่ปุ๋ยอย่างเหมาะสม ควรจะมีธาตุอาหารหลักครบ
3 ชนิด ทั้งไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) โปแทสเซียม (K) จะมีความสมบูรณ์และให้ท่อนพันธุ์ที่มีคุณภาพดีกว่า
5.การปนเปื้อนหรือการทำลายของโรคและแมลง เกษตรกรต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าท่อนพันธุ์ปราศจาก
การเข้าทำลายของโรคและแมลงต่างๆ เช่น โรคใบด่างมันสำปะหลัง โรคพุ่มแจ้ เพลี้ยแป้งสีชมพู ไม่ควรใช้ท่อนพันธุ์จากต้นที่เป็นโรคหรือมาจากแหล่งที่มีการระบาดรุนแรง
6.ความเสียหายจากเครื่องมือและการปฏิบัติ ระมัดระวังไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ตาของท่อนพันธุ์ระหว่าง
การตัด มัด หรือขนย้าย
7.อายุการเก็บรักษาท่อนพันธุ์ ควรใช้ท่อนพันธุ์ที่ใหม่สด หรือเก็บรักษาไว้ในระยะเวลาสั้นที่สุด ไม่เกิน 7-15 วัน เพื่อรักษาคุณภาพ
8.การจัดการท่อนพันธุ์ก่อนการปลูก การแช่ท่อนพันธุ์ในน้ำหรือน้ำผสมสารกระตุ้นการงอก เช่น ยูเรีย น้ำหมักชีวภาพ ในอัตราที่เหมาะสมเป็นเวลา 2 ชั่วโมงก่อนปลูก หรือแช่ค้างคืน จะช่วยเพิ่มเปอร์เซ็นต์และความเร็วในการงอก
9.การตัดท่อนพันธุ์ ควรตัดให้มีรอยช้ำน้อยที่สุด เพื่อให้รากงอกแข็งแรงสมบูรณ์ สามารถใช้มีดคมตัด หรือเครื่องตัดท่อนพันธุ์ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ
10.การขนย้ายท่อนพันธุ์ เพื่อตรวจเช็คคุณภาพของท่อนพันธุ์มันสำปะหลังว่าไม่มีการปนเปื้อนจากการเข้าทำลายของโรคและแมลงต่างๆ เกษตรกรสามารถตรวจสอบก่อนการรับท่อนพันธุ์ได้จากหนังสืออนุญาตการขนย้าย ซึ่งในเอกสารจะมีการระบุพันธุ์ ปริมาณ ระยะเวลา สถานที่ และหมายเลขทะเบียนยานพาหนะ ออกโดยประธานคณะกรรมการส่วนจังหวัดว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือนายอำเภอ หรือพาณิชย์จังหวัด และอนุญาตเป็นรายครั้งเท่านั้น
ทั้งนี้ หากเกษตรกรมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการใช้ท่อนพันธุ์ที่มาจากแหล่งที่มีการระบาดของเพลี้ยแป้ง ควรแช่ท่อนพันธุ์ในสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงที่แนะนำ เช่น ไทอะมีโทแซม 25% WG อัตรา 4 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรืออิมิดาโคลพริด 70% WG อัตรา 4 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรือไดโนทีฟูแรน 100% WG อัตรา 40 กรัม/น้ำ 20 ลิตร เป็นเวลา 5-10 นาทีก่อนปลูก เพื่อป้องกันการระบาดของแมลงในระยะเริ่มต้นของการเจริญเติบโต กรมส่งเสริมการเกษตรหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คำแนะนำเหล่านี้จะเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรในการเลือกท่อนพันธุ์มันสำปะหลังคุณภาพ เพื่อให้การเพาะปลูกประสบความสำเร็จ สร้างผลผลิตที่งอกงาม และนำมาซึ่งรายได้ที่มั่นคงต่อไป หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม เกษตรกรสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน