IMF หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจโลก ชี้ยังไม่ถดถอย ด้านไทยโดนหั่นแรง 1.1%
ปวริศ อำนวยพรไพศาล April 25, 2025 10:00 AM

IMF หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจโลก ชี้เสี่ยงชะลอตัว แต่ยังไม่ถดถอย ด้านไทยโดนหั่นแรง 1.1%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไอเอ็มเอฟ (IMF) ออกรายงานประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจโลกเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2025 ซึ่งหั่นคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้ต่ำลง หากสหรัฐยังคงขู่ประเทศคู่ค้าด้วยมาตรการภาษีต่อไป โดยคาดการณ์เศรษฐกิจถูกแบ่งออกเป็น 3 ฉากทัศน์ด้วยกัน ตามอัตราภาษีที่ต่างกันไป

ตามฉากทัศน์แรก อิงตามอัตราภาษีที่ประกาศตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ถึง 4 เมษายน 2025 ภายหลังสหรัฐประกาศมาตรการภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ไอเอ็มเอฟหั่นปรับลดคาดการณ์ลงเหลือ 2.8% ลดไป 0.8 จุดเปอร์เซ็นต์ จากระดับที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมกราคม

ฉากทัศน์ที่สอง ซึ่งไม่นับรวมผลกระทบของมาตรการภาษีแบบตอบโต้ของสหรัฐที่ประกาศเมื่อวันที่ 2 เมษายน การเติบโตทางเศรษฐกิจโลกจะลดลงเพียง 0.2 จุดเปอร์เซ็นต์ เป็นเติบโต 3.2% ปีนี้และปีต่อไป

ส่วนฉากทัศน์ที่สาม เป็นการคาดการณ์ตามเหตุการณ์ทั้งหมดหลังวันที่ 4 เมษายนเป็นต้นมา ที่สหรัฐชะลอการเรียกเก็บอัตราภาษีออกไปอีก 90 วัน ขณะที่ยังคงอัตราภาษีกับจีนไว้ 145% ตามเดิม ซึ่งพบว่าไม่ต่างจากฉากทัศน์แรกเท่าใดนัก เนื่องจากอัตราภาษีศุลกากรที่สหรัฐเรียกเก็บกับจีนยังสูงอยู่ และความไม่แน่นอนทางการค้ายังคงดำเนินต่อไป

แม้จะมีการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจโลกยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกขยับขึ้น 0.1 จุดเปอร์เซ็นต์ แต่ภาวะเงินฝืดยังดำเนินต่อไป ขณะที่ภาคธุรกิจปรับตัวด้วยการเปลี่ยนเส้นทางการค้าโลก

นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟยังปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐลง จาก 2.8% เหลือเพียง 1.8% โดยไอเอ็มเอฟชี้ว่าเป็นผลจากภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากผลกระทบของราคาสินค้านำเข้าที่สูงขึ้น

ขณะที่จีนถูกปรับลดแนวโน้มการเติบโตลงเหลือ 4.0% สำหรับปีนี้และปีต่อไป จากผลกระทบของอัตราภาษีศุลกากร 145% ที่ถูกเรียกเก็บโดยสหรัฐ

ส่วนไทยถูกปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจลงเหลือ 1.8% ซึ่งลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากระดับ 2.9% ที่ประมาณการไว้เมื่อเดือนมกราคม ที่สำคัญ ไทยเป็นประเทศเดียวเท่านั้นที่ไอเอ็มเอฟปรับลดการเติบโตลงต่ำกว่า 2%

เมื่อเทียบกับบรรดาชาติอาเซียน เวียดนามซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีอย่างมากถูกปรับลดประมาณการลงจาก 6.1% เหลือ 5.2% และลดลงต่อในปีต่อไปเหลือ 4.0%

ไม่เพียงเท่านั้น ไอเอ็มเอฟยังเตือนว่าผลกระทบของมาตรการภาษี เสี่ยงทำให้อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินมีความซับซ้อนกว่าเดิม ปริมาณความต้องการถือครองเงินดอลลาร์ที่เปลี่ยนแปลงไปอาจทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ซึ่งเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าหนักสุดในระยะกลาง ช่วงที่สหรัฐยังคงมีผลิตภาพต่ำท่ามกลางมาตรการภาษีที่สูงขึ้น

สุดท้ายแล้ว ไอเอ็มเอฟยังเรียกร้องให้มีการฟื้นฟูนโยบายการค้าที่มีเสถียรภาพ ผ่านความร่วมมือกันระดับนานาชาติ ซึ่งมาตรการกีดกันทางการค้าทั้งที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษีที่มีการประกาศใช้อย่างแพร่หลายในช่วงนี้ ควรได้รับการปรับปรุงใหม่ให้สอดรับกับนโยบายการค้าเสรีให้มากขึ้น

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.