“ปลัดเก่ง”ปั้น”หอศิลป์เมืองตราด“ ฟื้นท่องเที่ยวชุมชนเก่า300ปี
GH News April 25, 2025 05:00 PM

“ปลัดเก่ง”ปั้น”หอศิลป์เมืองตราด“
ฟื้นท่องเที่ยวชุมชนเก่า300ปี

ชุมชนบริเวณถนนธนเจริญ ต.บางพระ เขตเทศบาลเมืองตราด ถือเป็นชุมชนแรกที่เติบโตมาพร้อมกับเมืองตราดตั้งสมัยอดีต รวมมีอายุยาวนานกว่า 300 ปี ปัจจุบันมีบ้านเรือนของชุมชนเก่าที่ยังคงเอกลักษณ์ของบ้านเรือนที่มีสถาปัตยกรรมดั้งเดิม ซึ่งเป็นเรือนไม้ มีหลังคาเป็นกระเบื้องแบบเก่าอายุนับร้อยปีที่ควรค่าจะอนุรักษ์ไว้
ล่าสุด “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” หรือปลัดเก่ง อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งให้ความสำคัญกับศิลปะร่วมสมัย ได้ซื้อห้องเก่าใกล้ศาลเจ้าพ่ออัคนี จัดสร้างหอศิลป์เพื่อเปิดพื้นที่ให้เหล่าศิลปินในสังกัดบ้านสวนศิลป์สร้างผลงานจิตรกรรม มาจัดแสดงกว่า 200 ชิ้นที่มีคุณค่าทางจิตใจมหาศาล แต่ละชิ้นมีราคาต่อชิ้นนับแสนบาทหรือมากกว่านั้น

“วิเชียร วงศ์ศุภลักษณ์” หัวหน้าศิลปินจากบ้านสวนศิลป์ กล่าวว่า ได้รู้จักกับอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาชุมชน ซึ่งท่านสนับสนุนงานของบ้านสวนศิลป์มานาน หลังเกษียณอายุแล้วมีดำริว่าอยากทำอะไรเพื่อบ้านเกิด จึงมาซื้อบ้านแถวถนนธนเจริญ ที่เป็นชุมชนเก่าของจังหวัดตราดในอดีต เพื่อสร้างหอศิลป์ขึ้นในเมืองตราดไว้ให้ลูกหลานได้มาชม และรวบรวมช่างศิลป์ระดับชั้นนำของประเทศกว่า 10 คน มาระดมช่วยกันเขียนภาพวาด เป็นภาพของจังหวัดตราดในมุมมองต่างๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน

“หลังจากเราเริ่มวาดภาพกันมานานกว่า 6 เดือน ถึงวันนี้ได้ภาพกว่า 200 ชิ้น เพื่อนำมาแสดงในห้องนี้ และจะเปิดอย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้ บ้านหลังนี้เป็น ‘หอศิลป์เมืองตราด’ ที่ท่านปลัดสุทธิพงษ์และภรรยาซื้อเป็นสมบัติส่วนตัวเพื่อมอบให้คนตราด หรือนักท่องเที่ยวได้เข้าชม และคนหาความรู้มาดูงานศิลปะชิ้นสำคัญของจังหวัดตราด”

ศิลปินอีกราย “ไมตรี หอมทอง” เล่าว่า พื้นที่ตรงนี้เต็มไปด้วยความหลากหลายทางศิลปะและของศิลปิน ด้วยเจตจำนงของท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อยากให้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่สาธารณะที่มีประโยชน์จริงๆ และอยากให้ชุมชนได้มีสิ่งที่ดีๆ เกิดขึ้น เเละเชื่อมโยงคนในชุมชน มีสตรีทอาร์ต สถานที่โบราณ หรือรูปแบบของมอนสเตอร์ ซึ่งคนในชุมชนเห็นคุณค่าของศิลปะ จุดเด่นของแกลเลอรี่ตรงนี้ เป็นงานศิลปะ วิสัยทัศน์ของศิลปิน และภาพที่ศิลปินถ่ายทอดออกมาเป็นภาพวาด จะเป็นเอกลักษณ์ของเมืองตราดที่โดดเด่นของสมัยเก่า ทั้งตัวบ้านตัวอาคารไม้ที่มีเสน่ห์ของสถาปัตยกรรมที่

“เราบันทึกสถานที่ดั้งเดิมเก่าแก่ของที่นี่ไว้ให้ลูกหลานได้ชม ใครมาที่ตราด จะได้มาเห็นภาพวาด เกิดความสนใจแล้ว จะได้เดินทางมาเที่ยวในเมืองตราดต่อไป ตอนนี้พื้นที่มีความพร้อม 100% และรอเพียงพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเท่านั้น”

ด้าน “วินิต นิรันต์พานิช” ประธานชุมชนบ้านคลองบางพระ กล่าวว่า ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนเก่า มีอายุมากว่า 300 ปี และเป็นชุมชนแรกของจังหวัดตราด ในอดีตที่มีการค้าขาย บ้านเรือนเติบโตขยายมาจนถึงปัจจุบัน แต่ยังคงวิถีชีวิตเดิมๆ และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นที่พักต้อนรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาพักผ่อน หากเปิดหอศิลป์แห่งนี้ ยิ่งจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น อีกทั้งให้คนรุ่นหลังให้เกิดความเรียนรู้วิถีชีวิตและวิถีชุมชนในอดีตของบรรพบุรุษ เพื่อส่งต่อให้ลูกหลาน และชาวชุมชนพร้อมใจร่วมมือ ส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวถนนธนเจริญให้สู่สากล

“วันนี้เราได้รางวัลระดับประเทศในด้านการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว อีกทั้งเทศบาลเมืองตราดให้การสนับสนุนการท่องเที่ยว หลังเราได้พัฒนาในระดับหนึ่ง ท่านปลัดสุทธิพงษ์เลือกพื้นที่ให้เป็นที่ตั้งหอศิลป์ ทำให้นักท่องเที่ยวได้เห็นภาพประวัติศาสตร์ของเมือง ทั้งย่านตลาดเก่า จวนเรซิดัง กัมปอร์ต อาคารเรือนไม้โบราณที่สำคัญ เพื่อจะได้อนุรักษ์กันไว้ ชาวชุมชนต่างยินดีสนับสนุนการสร้างหอศิลป์แห่งนี้”

ขณะที่ “สุรศักดิ์ ภูติภัทร” อดีตนายกเทศมนตรีเมืองตราด เล่าว่า 1 ปีก่อนหน้านี้มีการพูดคุย และตั้งโจทย์ว่า เหตุใดนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยือนจังหวัดตราดไม่แวะเข้ามาที่ตัวเมืองตราด นำไปสู่การทำโครงการ “ตราดต้องแวะ” โดยมองไปที่สตรีทอาร์ตที่มนุษย์ทำขึ้น เป็นการท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้นมา ดังนั้นจึงคิดว่าทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวแวะเข้ามาที่ตัวเมืองตราด กระทั่งมีโอกาสพบและพูดคุยปลัดเก่ง ที่สร้างหอศิลป์เมืองตราดขึ้น ซึ่งพบว่าแนวคิดทำสตรีทอาร์ตสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของเทศบาลเมืองตราด จึงนำมาสู่การสนับสนุนการท่องเที่ยวถนนธนเจริญ ย่านบางพระ เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีศิลปะเป็นจุดขาย เป็นจุดเช็กอิน ที่เป็นเสน่ห์ของเมืองตราดที่ใครๆ อยากเข้ามาชม
อีกทั้งยังเกิดประโยชน์ คุณค่าของการศึกษาประวัติศาสตร์ของเมืองตราด ที่จะนำมาซึ่งการสนับสนุนกิจกรรมเหล่านี้ให้อยู่คู่ชุมชนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image
© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.