"เฉลิมชัย" แจงปมดราม่าทุจริต เงินค่าเข้าอุทยาน มีหลักการใช้ ไม่เอาเป็นทรัพย์สินส่วนตัว เผยเดือนหน้าลงนามใช้ระบบอี-ทิคเก็ต ป้องทุจริตเก็บเงิน คาดรายได้สะพัดกว่า 4-5 พันล้าน พร้อมปรับเพิ่มสวัดิการเสียชีวิต บาดเจ็บ ทุพพลภาพสูงถึงล้านบาท
วันที่ 26 เม.ย.2568 เวลา 09.30 น. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ หลักสี่ พรรคประชาธิปัตย์จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2568 เพื่อรับรองรายงานการประชุม และเลือกโฆษกพรรค และคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส.ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยมี นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแลดล้อม (ทส.) กล่าวตอนหนึ่งว่า ตนเข้าไปเป็นรมว.ทส. และนายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรคฯ และรมช.สาธารณสุข ได้ 7 เดือน ทำตามหน้าที่ ช่วยเหลือประชาชน ในส่วนตัว เมื่อเข้าไปที่ทส.วันแรกให้นโยบายกับข้าราชการว่า ความล่าช้าคือความอยุติธรรม พี่ น้องประชาชนจำนวนมากเดือดร้อน สูญเสีย จากระบบราชการที่ล่าช้า ตนจึงกำหนดนโยบายขับเคลื่อน เช่นการขอพื้นที่การใช้เขตป่าทั้งหมด เรื่องสาธารณูปโภค น้ำ ไฟ ถนน สั่งการว่าต้องทำให้เร็วเสร็จตามกรอบระระเวลา เพื่อไม่ให้งบประมาณตกหล่น
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า เรื่องกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืชนั้น ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามา ตนให้ความสำคัญกับกรมนี้มากเป็นลำดับต้นๆ เพราะเป็นกันชนระหว่างประชาชนกับภาครัฐ และต้องร่วมกับกรมป่าไม้ในการจัดสรรที่ดินทำกินให้ประชาชน ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นเข้ามาเป็นรัฐมนตรี งานคืบหน้าที่สุด โดยกรมอุทยานสามารถจัดเก็บรายได้ปี 2568 ประมาณการไว้ที่ 2,200 ล้านบาท ส่วนปีที่แล้วเก็บได้ 1,600-1,700 ล้านบาท ที่ผ่านมามีคนที่รู้บ้างไม่รู้บ้างเอามาพูดซึ่งตนไม่ได้ตอบโต้ แต่ขอชี้แจงว่าการจัดเก็บรายได้นั้นมีหลักเกณฑ์ในการใช้เงิน อย่าง 2,200 ล้านบาทนั้น จะใช้ได้ 600 กว่าล้านบาท นอกจากนั้นก็จะไปเป็นสวัสดิการส่งคืนอุทยาน นำไปปรับปรุง ซื้ออะไรต่างๆ
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า โดยเฉพาะกรณีระบบตั๋วเข้าอุทธยานที่บอกว่ามีการทุจริตนั้น 7 เดือนที่ตนเข้าไปเป็น รมว. ซึ่ง เดือนหน้ามีการลงนามในเรื่องของการใช้ E-Ticket และ E-Service ซึ่งจะเป็นระบบป้องกันการทุจริตที่ดีที่สุด ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้มา 38 ล้านบาท กรมอุทยานให้มาอีกจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้อาจจะไม่ถูกใจเจ้าหน้าที่ แต่ย้ำว่าเงินรายได้ที่จะทำมาปรับปรุงใช้กับอุทยานทั้ง 150 แห่ง คาดน่าจะมีรายรับเข้ามาราวๆ 4-5 พันล้านบาท ส่วนนี้ก็จะนำดูแลสวัสดิการ ปรับปรุงยกระดับอุทยานทั้งหมด ไม่มีใครที่จะไปโกงกินหรอก สำหรับตนก็ไม่มีแน่นอน มีแต่คิดจะยกระดับอุทยานทุกที่ให้รองรับนักท่องเที่ยว และต่อสู้กับภาคส่วนอื่นๆ ได้อย่างไร วันนี้เจ้าหน้าที่กรมอุทยานมีเป็นหมื่นคน เสียชีวิต บาดเจ็บ ทุพพลภาพจากการปฏิบัติหน้าที่ แต่ได้รับการชดเชยตามระเบียบ เช่น เสียชีวิตได้ 5 แสนบาท ทุพพลภาพ 5 แสนบาท อัมพาต 3 แสน แต่เดือนหน้าประกาศกรมฯ เพิ่มสวัสดิการเสียชีวิตจาก 5 แสนบาท เพิ่มเป็น 1 ล้านบาท ทุพพลภาพ สูญเสียแขน ขา จาก 3 แสนบาท เพิ่มเป็น 1 ล้านบาท บาดเจ็บสาหัส โดยมีเอกสารรับรองทางการแพทย์ ก็เพิ่มจาก 1.5 แสนบาท เป็น 500,000 บาท และทุกอุทยานต้องมีอารยสถาปัตย์สำหรับผู้พิการ และหลังจากนี้นักท่องเที่ยวไม่ว่าคนไทยหรือต่างชาติเมื่อเข้ามาเที่ยวอุทยาน จะได้รับการประกันภัย
นายเฉลิมชัย กล่าวอีกว่า ทั้งอุทยานที่ทำรายได้มากที่สุดคืออุทยานทางทะเล โดยเฉพาะอันดามัน จึงเป็นต้องมีเรือไว้ตรวจการ ซึ่งเมื่อตนเข้ามา เพิ่งจะมีการรับมอบเรือมา 1 ลำที่มีการทำสัญญาก่อนที่ตนจะเข้ามา แต่ตกใจกับงบฯ ซื้อเรือ สูงถึง 26 ล้านบาท แต่เข้าใจอีกทั้งยังมีคำแนะนำจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบว่า ควรต้องมีการตรวจสอบสวัสดิภาพเรือที่มีอายุกว่าสิบปี ทั้งนี้ก็เพื่อสวัสดิภาพของคนทำงาน
“ยืนยันว่า เงินรายได้ของอุทยานจะเอามายกระดับ พัฒนา ไม่ได้เอามาเป็นทรัพย์ของตนเอง ผมไม่ทำชั่ว ไม่เลว ไม่ทุจริตคอร์รัปชั่น แต่บางครั้งเป็นกระแสสังคมเอาไปพูด ซึ่งผมไม่โต้เถียง แต่ชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชน และสมาชิกพรรคเข้าใจว่าตนเข้าไปแล้วทำงานแบบไหน” นายเฉลิมชัย กล่าว