จีนประกาศให้ไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศนำอุปกรณ์วิจัยวิทยาศาสตร์ร่วมภารกิจฉางเอ๋อ-8 เตรียมส่งขึ้นสู่อวกาศสำรวจพื้นผิวดวงในปี 2029 นี้
GH News April 26, 2025 05:07 PM

ปลัด อว. นำทัพ NARIT-GISTDA โชว์ศักยภาพเทคโนโลยีอวกาศไทย ในงานวันอวกาศแห่งชาติจีน 2025 ที่เซี่ยงไฮ้


ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นผู้แทนประเทศไทยร่วมเปิดงาน “วันอวกาศแห่งชาติจีน” ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจัดโดยองค์การอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) พร้อมนำสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NARIT และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการในโอกาสครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน โดยมี ดร. ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA และ ดร.วิภู รุโจปการ รองผู้อำนวยการ NARIT เข้าร่วม

ในปีนี้ไทยได้รับเชิญพิเศษในฐานะประเทศเกียรติยศ (Guest Country of Honor) ในการจัดแสดงการศิลปวัฒนธรรมไทยในรูปแบบ “การแสดงโขน” ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ถ่ายทอดเรื่องราว รามายณะ หรือ รามเกียรติ์ (罗摩衍那) และ ฉางเอ๋อแห่งจันทรา (月之嫦娥) โดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาลัยเพาะช่างและโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม) และร่วมจัดแสดงผลงานด้านดาราศาสตร์และอวกาศ ภายใต้ความร่วมมือไทย-จีน โดยในงานนี้ไทยยังได้รับการประกาศให้เป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้นำอุปกรณ์วิจัยวิทยาศาสตร์ของไทยร่วมในโครงการฉางเอ๋อ-8 ที่กำลังเตรียมส่งขึ้นสู่อวกาศเพื่อสำรวจพื้นผิวดวงในปี 2029

โอกาสนี้ ประเทศไทยยังได้รับเกียรติให้เป็นประเทศเดียวที่ร่วมกล่าวเปิดงาน โดย ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า ในนามของประเทศไทยรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปี วันอวกาศแห่งชาติจีน และภาคภูมิใจที่ได้เป็นพันธมิตรกับองค์การอวกาศแห่งชาติจีน ในการพัฒนาเครื่องมือวิจัย MATCH (Moon-Aiming Thai-Chinese Hodoscope) ซึ่งจะติดตั้งบนยานฉางเอ๋อ-7 เพื่อศึกษาสภาพแวดล้อมดวงจันทร์ ถือเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในเวทีอวกาศนานาชาติ และนับเป็นผลงานชิ้นแรกของนักวิจัยไทยในภารกิจสำรวจห้วงอวกาศลึก ความร่วมมือครั้งนี้ยังสะท้อนถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างไทย-จีนในวาระครบรอบ 50 ปีทางการทูต แสดงให้เห็นว่าความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสามารถเป็นสะพานเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักวิจัย วิศวกร และเยาวชนรุ่นใหม่ในการร่วมกันสำรวจอวกาศเพื่ออนาคตของมนุษยชาติ

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการประกาศความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับภารกิจสำรวจดวงจันทร์และอวกาศห้วงลึก (International Lunar Research Station: ILRS) ซึ่งประเทศไทยได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 10 ประเทศที่จะได้เข้าร่วมภารกิจฉางเอ๋อ 8 (Chang’e-8)  โดยไทยได้เตรียมส่งอุปกรณ์ปฏิบัติภารกิจวิทยาศาสตร์ ได้แก่ ALIGN (Assessing Lunar Ion-Generated Neutrons) ไปกับยานลงจอดดวงจันทร์ปี 2029 ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าว NARITได้พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นอุปกรณ์วิจัยวิทยาศาสตร์ สำหรับวิเคราะห์ปริมาณนิวตรอนที่ปลดปล่อยจากพื้นผิวดวงจันทร์ เพื่อตรวจหาแหล่งน้ำ แร่ธาตุ และองค์ประกอบสำคัญอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในอนาคต ถือเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยเสริมองค์ความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรดวงจันทร์ที่อาจนำไปใช้สนับสนุนโครงการสำรวจอวกาศห้วงลึกในระยะยาว

สำหรับนิทรรศการของประเทศไทยที่นำไปจัดแสดงในครั้งนี้ ประกอบด้วย นิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้ทรงอุมถัมภ์ และทรงผลักดันความร่วมมือด้านดาราศาสตร์ และวิทยาศาสตร์อวกาศระหว่างประเทศไทยและจีนให้เกิดขึ้นในหลายโครงการสำคัญ อาทิ โครงการความร่วมมือไทย-จีน ด้านการสำรวจอวกาศห้วงลึก การจัดแสดงอุปกรณ์วิจัยวิทยาศาสตร์ของไทยที่เข้าร่วมในภารกิจสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ 7 และ 8 ของจีน การเข้าร่วมเครือข่ายการแทรกสอดระยะไกล (Very-long-baseline interferometry: VLBI) ของจีน และเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุ VGOS ของไทย-จีน ความร่วมมือกับจีนในด้านการสำรวจระยะไกลและเทคโนโลยีดาวเทียม เช่น ศูนย์ภูมิสารสนเทศสิรินธร (SCGI) โครงการ THEOS-2 และบทบาทของประเทศไทยในฐานะผู้ใช้ระบบดาวเทียมนำทางเป่ยโต่วในต่างประเทศรายแรก ความพยายามเหล่านี้ร่วมกันสะท้อนถึงความมุ่งมั่นร่วมกันในการสร้างนวัตกรรมอวกาศ การแลกเปลี่ยนความรู้ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน 

งานวันอวกาศแห่งชาติจีนตรงกับวันที่ 24 เมษายน ของทุกปี โดยปีนี้นับเป็นการครบรอบ 10 ปีของ “วันอวกาศจีน” จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ดวงจันทร์สว่างขึ้นเหนือทะเล ดวงดาวส่องแสงเต็มฟ้า” สื่อความหมายถึง การที่มนุษยชาติร่วมแบ่งปันความสำเร็จในการสำรวจอวกาศ และสะท้อนแนวคิดของจีนในการใช้ประโยชน์จากอวกาศอย่างสันติ และส่งเสริมการสร้างประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน มีผู้แทนประเทศต่าง ๆ และองค์กรอวกาศจากนานาชาติ เข้าร่วมกว่า 41 ประเทศ

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.