คนรักหมาแมวในกรุงเทพมหานครที่ใส่ใจดูแลสัตว์เลี้ยงต้องศึกษาเรียนรู้รายละเอียดของข้อบัญญัติควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. 2567 ซึ่งเป็นข้อบัญญัติใหม่ควบคุมจำนวนสัตว์เลี้ยงทั้งในบ้าน คอนโดมิเนียม ตามขนาดพื้นที่ หรือการปล่อยสัตว์เลี้ยง นอกจากนี้จะต้องจดทะเบียนฝังไมโครชิปสัตว์เลี้ยงแสนรักของตนเอง เป็นแนวทางดูแลสัตว์เลี้ยงที่เป็นสากล ซึ่งสังคมเมืองแนวโน้มคนเมืองนิยมเลี้ยงหมาแมวและผูกพันกับสัตว์เลี้ยงเพิ่มมากขึ้น บางครอบครัวมีหมาแมวเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้รวมอยู่ด้วย ฉะนั้น หากบรรดาทาสหมาทาสแมวเหมียวถ้าไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืน มีบทลงโทษตามกฎหมาย
ตามที่กรุงเทพมหานครได้มีการประกาศใช้ข้อบัญญัติควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. 2567 ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2568 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 มกราคม 2569 ซึ่งข้อบัญญัติดังกล่าวเป็นข้อบัญญัติใหม่ของกรุงเทพมหานครที่มุ่งเน้นด้านความปลอดภัยของทั้งคนและสัตว์ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนที่ข้อบัญญัติดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ งานนี้ กรุงเทพมหานครขอความร่วมมือให้ผู้เลี้ยงหมาเลี้ยงแมวไว้ในบ้านหรือผู้อยากเลี้ยงสัตว์ใน กทม.ได้ศึกษาข้อบัญญัติโดยรายละเอียด
สำหรับสาระสำคัญตามข้อบัญญัติฉบับใหม่ สรุปให้เข้าใจง่ายๆ เป็นการจำกัดจำนวนสัตว์เลี้ยงตามขนาดพื้นที่ ดังนี้
1. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ เช่น โค กระบือ ม้า กวาง เลี้ยงได้ไม่เกิน 1 ตัว ต่อพื้นที่ 50 ตารางวา
2. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น แพะ แกะ สุกร ม้าแคระ เลี้ยงได้ไม่เกิน 3 ตัว ต่อพื้นที่ 50 ตารางวา
3. สัตวปีก แบ่งเป็น ไก่ เป็ด ห่าน เลี้ยงได้ไม่เกิน 1 ตัว ต่อพื้นที่ 4 ตารางเมตร ส่วนนกขนาดใหญ่ เช่น นกกระจอกเทศ เลี้ยงได้ไม่เกิน 1 ตัว ต่อพื้นที่ 50 ตารางเมตร และนกขนาดเล็ก เลี้ยงได้ไม่เกิน 5 ตัว ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร
ห้ามเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ที่ต้องควบคุมในที่หรือทางสาธารณะในเขตกรุงเทพมหานคร ยกเว้นกรณี 1. เพื่อรักษาโรคเจ็บป่วยหรือสร้างเสริมภูมคุ้มกันของสัตว์ 2. เพื่อกิจกรรมใด ๆ ที่กรุงเทพมหานครประกาศกำหนด 3. เพื่อการย้ายถิ่นที่อยู่ของเจ้าของสัตว์ และ 4. การเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ของทางราชการ และการปล่อยเพื่อการกุศลหรือจารีตประเพณี
สำหรับการเลี้ยงสุนัขและแมว เจ้าของสุนัข และแมวมีหน้าที่นําใบรับรองไปจดทะเบียน ณ สถานที่ที่กรุงเทพมหานครกำหนด ภายใน 120 วัน นับแต่วันที่สัตว์เกิด หรือ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่นําสัตว์มาเลี้ยงในเขตกรุงเทพมหานคร
ในข้อบัญญัติควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ มีการกำหนดจำนวนการเลี้ยงสุนัขและแมว ดังนี้
– ห้องเช่าหรืออาคารชุด (คอนโดมิเนียม) ขนาด 20 – 80 ตารางเมตร เลี้ยงได้ 1 ตัว
– ห้องเช่าหรืออาคารชุด (คอนโดมิเนียม) ขนาด 80 ตารางเมตร ขึ้นไป เลี้ยงได้ไม่เกิน 2 ตัว
– เนื้อที่ดิน ไม่เกิน 20 ตารางวา เลี้ยงได้ 2 ตัว
– เนื้อที่ดิน ไม่เกิน 50 ตารางวา เลี้ยงได้ 3 ตัว – เนื้อที่ดิน ไม่เกิน 100 ตารางวา เลี้ยงได้ 4 ตัว
– เนื้อที่ดิน 100 ตารางวา ขึ้นไป เลี้ยงได้ไม่เกิน 6 ตัว
คนรักสัตว์ส่วนหนึ่งนิยมพาสุนัขหรือแมวแสนรักออกไปเที่ยวนอกบ้านตามสถานที่ต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า วิ่งเล่นปล่อยพลังในสวนสาธารณะ DOG PARK คาเฟ่ ร้านอาหาร ซึ่งข้อบัญญัติใหม่ที่จะบังคับใช้ปีหน้า เมื่อเจ้าของพาสุนัขหรือแมวออกนอกบ้านหรือสถานที่เลี้ยง ขาดไม่ได้เลย! ต้องใช้สายจูงที่แข็งแรงตลอดเวลา หรือใช้กระเป๋า คอก กรง หรืออุปกรณ์อื่นที่เหมาะสม ห้ามปล่อยให้รบกวนผู้อื่น และเจ้าของหรือผู้เลี้ยงต้องเก็บอุจจาระสัตว์ในที่สาธารณะทุกครั้ง เพื่อความสะอาดและเรียบร้อย ห้ามลืมถุงเก็บมูล เพื่อให้เหล่าสัตว์เลี้ยงเป็นที่รักของทุกคน
ที่ขีดเส้นใต้ชัดๆ ในข้อบัญญัติระบุชัดเจน สำหรับ”สุนัขควบคุมพิเศษ” พันธุ์อันตราย สุนัขที่มีประวัติทำร้ายคนหรือพยายามทำร้ายคน เช่น พิทบูลเทอร์เรีย บลูเทอร์เรีย ร็อตไวเลอร์ สแตฟฟอร์ตเซอร์ ฟิล่า บราซิเลียโร ฯลฯ ต้องใช้อุปกรณ์ครอบปาก ใช้สายจูงที่มีมั่นคงแข็งแรงและจับสายจูงห่างจากคอสุนัขไม่เกิน 50 เซนติเมตร ตลอดเวลา ย้ำว่าตลอดเวลา ปล่อยปละละเลยไม่ได้ สำหรับสุนัขที่มีประวัติทำร้ายหรือพยายามทำร้ายคน ต้องแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเปลี่ยนเป็นสุนัขควบคุมพิศษ หากฝ่าฝืนอาจได้รับโทษตามกฎหมายดังกล่าว
เอกสารที่ต้องใช้ในการจดทะเบียน ประกอบด้วยบัตรประชาชนเจ้าของสัตว์ ทะเบียนบ้านที่สัตว์อาศัยอยู่ หนังสือยินยอมจากผู้เช่ากรณีเป็นผู้เช่า ใบรับรอง (คสส.1 ) หนังสือรับรองการฉีดวัคซีน(ถ้ามี)
ทั้งนี้ เจ้าของสัตว์เลี้ยงสามารถนำสุนัขและแมวไปรับการฝังไมโครชิป ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า และผ่าตัดทำหมัน ได้ฟรีที่คลินิกสัตวแพทย์ของกรุงเทพมหานคร ทั้ง 8 แห่ง โดยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมก่อนเข้ารับบริการ ดังนี้
1. คลินิกสัตวแพทย์ กทม. 1 สีพระยา เขตบางรัก โทร. 0 2236 4055 ต่อ 213
2. คลินิกสัตวแพทย์ กทม. 2 มีนบุรี เขตมีนบุรี โทร. 0 2914 5822
3. คลินิกสัตวแพทย์ กทม. 3 วัดธาตุทอง เขตวัฒนา โทร. 0 2392 9278
4. คลินิกสัตวแพทย์ กทม. 4 บางเขน เขตจตุจักร โทร. 0 2579 1342
5. คลินิกสัตวแพทย์ กทม. 5 วัดหงส์รัตนาราม เขตบางกอกใหญ่ โทร. 0 2472 5895 ต่อ 109
6. คลินิกสัตวแพทย์ กทม. 6 ช่วงนุชเนตร เขตจอมทอง โทร. 0 2476 6493 ต่อ 1104
7. คลินิกสัตวแพทย์ กทม. 7 บางกอกน้อย เขตบางกอกน้อย โทร. 0 2411 2432
8. กลุ่มควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ถ.มิตรไมตรี เขตดินแดง โทร. 0 2248 7417
กรุงเทพมหานครยังได้รวบรวมข้อสงสัย และเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ”ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ.2567″ ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ 10 ม.ค.2569 นี้ กรณีต้องการเปลี่ยนเจ้าของ จะต้องยื่นคำขอตามแบบ คสส.4 ต่อคลินิกสัตวแพทย์ กทม. หรือ สำนักงานเขต โดยแสดงบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าของคนใหม่ ทะเบียนบ้านที่เป็นสถานที่เลี้ยงแห่งใหม่ พร้อมแนบ บัตรประจำตัวสุนัข และแมว หนังสือยินยอมจากผู้ให้เช่า ในกรณีเป็นผู้เช่า
กรณีย้ายที่อยู่ของสุนัขและแมว บัตรประจำตัวสุนัขและแมวสูญหาย ถูกทำลาย ต้องแจ้งต่อคลินิกสัตวแพทย์ กทม. หรือ สำนักงานเขตภายใน 30 วัน ถ้าสุนัขหรือแมวตัวโปรดสูญหายต้องแจ้งความสัตว์สูญหายต่อตำรวจ และคลินิกสัตวแพทย์ กทม. หรือสำนักงานเขตภายใน 30 วัน
ถือเป็นกฎหมายและเรื่องต้องรู้สำหรับ”คนรักสัตว์”