ประเทศไทยไม่ใช่รัฐล้มเหลว มีแต่รัฐบาลล้มเหลว
GH News April 28, 2025 04:09 PM

ช่วงเดือนที่ผ่านมา คนจำนวนมากตั้งคำถามว่าประเทศไทยเป็นรัฐล้มเหลวหรือไม่จากสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หนึ่ง กรณีตึกถล่มจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เป็นข่าวไปทั่วโลก มีคนเสียชีวิตมาก แต่ถึงวันนี้ยังหาคนรับผิดชอบไม่ได้ สอง กรณีทรัมป์ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากไทยร้อยละ 36 และท่าทีรัฐบาลที่ยังดูไม่พร้อม ไม่อินคอนโทลเหมือนประเทศอื่น ทําให้ประชาชนไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะบริหารจัดการผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ เป็นความห่วงใยที่เข้าใจได้ เพราะทั้งสองเรื่องสําคัญและอาจชี้ถึงความเหลวแหลกที่ประเทศเรามี

28 เม.ย. 2568 – บทความวันนี้ต้องการชี้ว่าประเทศไทยไม่ใช่รัฐล้มเหลว แต่เป็นประเทศที่รัฐบาลล้มเหลว และล้มเหลวมานานไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาล เพราะรัฐบาลที่ผ่านมาและอาจถึงปัจจุบันไม่พร้อมที่จะแก้ไขปัญหาที่ประเทศมี ทำให้ประเทศถดถอยลงอย่างที่เห็น เป็นความล้มเหลวที่ฝังลึกและยากจะแก้ไข แต่ถ้าไม่แก้ ความเดือดร้อนของประชาชนจะยิ่งทวีมากขึ้น และอาจนำไปสู่ความขัดแย้งในประเทศ ทำให้ประเทศไทยเสี่ยงที่จะเป็นรัฐล้มเหลวในที่สุด นี่คือประเด็นที่เขียนให้คิดวันนี้

ประเทศไทยเรามีปัญหามากทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม มากจนแทบไม่น่าเชื่อ ทําให้ประเทศเหมือนวนเวียนอยู่กับที่ไม่ไปไหน แต่ก็ไม่ใช่รัฐล้มเหลวตามมาตรฐานหรือตัววัดทั่วไปคือ ระบบต่าง ๆ ในประเทศยังทํางานดี เช่น ระบบราชการ ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน การรักษาความสงบ และระบบสาธารณสุข ทั้งหมดยังทํางานเป็นปกติและสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโต ต่างกับประเทศที่เป็นรัฐล้มเหลวจริงๆ ที่บ้านเมืองไม่สงบ ไร้กฏหมาย ไร้ระเบียบ เกิดสงครามกลางเมือง ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานไม่ทำงาน ประเทศไม่มีเสถียรภาพ ทำให้ระบบเศรษฐกิจทำงานไม่ได้ นี่คือรัฐล้มเหลวที่ล้มเหลวจริง ๆ แต่ประเทศเราไม่ใช่อย่างนั้น

ที่ประเทศเราเป็น คือประเทศที่รัฐบาลและภาคราชการล้มเหลวในการทําหน้าที่ ไม่สร้างสิ่งที่จําเป็นหรือสินค้าสาธารณะที่ดีให้กับประชาชน เช่น ระบบการศึกษา ระบบยุติธรรม โอกาสทางเศรษฐกิจ ไม่ตอบสนองต่อปัญหาที่ประชาชนมี เมินเฉยกับปัญหาความเหลื่อมลํ้าที่ประเทศมี ไม่พร้อมที่จะแก้การทุจริตคอรัปชั่นในภาครัฐ คือภาคการเมืองและระบบราชการ และดูเป็นตัวสร้างปัญหามากกว่าที่จะเป็นคําตอบในการแก้ปัญหา

ถ้าจะเจาะลึก ชัดเจนว่าการเมืองประเทศเราไม่มีการพัฒนา เก้าสิบปีที่ผ่านมาและรัฐธรรมนูญกว่ายี่สิบฉบับ การเมืองยังวนเวียนอยู่กับการเลือกตั้งและรัฐประหาร ขณะที่พรรคการเมือง แทนที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง กลับเป็นตัวขับเคลื่อนระบบอุปถัมภ์มากกว่าขับเคลื่อนนโยบายที่จะพัฒนาประเทศ การทุจริตคอรัปชั่นกลายส่วนหนึ่งของภาครัฐทั้งระบบไม่ว่า การบังคับใช้กฏหมาย จัดซื้อจัดจ้าง รัฐบาลท้องถิ่น การออกนโยบาย หรือแม้แต่การโยกย้ายตําแหน่งราชการ ขณะที่ระบบยุติธรรมให้ความสำคัญกับความเห็นต่างมากกว่าสิทธิของประชาชน ทั้งหมดนําไปสู่สังคมไทยที่แตกแยกมากขึ้น เหลื่อมล้ำมากขึ้น เศรษฐกิจไม่ขยายตัว และประชาชนขาดโอกาส

คําถามคือ อะไรเกิดขึ้น ทำไมรัฐบาลและระบบราชการถึงเป็นแบบนี้ คําตอบคือภาครัฐเราไม่ได้ขาดทรัพยากรหรือบุคลากรที่มีความสามารถ แต่ต้นเหตุมาจากการทำหน้าที่ที่ไม่จริงจัง ไม่มีธรรมาภิบาล และไม่รับผิดชอบในสิ่งที่ทํา มุ่งแต่จะรักษาไว้ซึ่งระบบปัจจุบันที่ให้ประโยชน์คนส่วนน้อยมากกว่าคนส่วนใหญ่ และไม่ยอมเปลี่ยนแปลง คนส่วนน้อยที่ว่านี้ก็คือกลุ่มคนที่กุมอํานาจเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ และภาครัฐดูจะเลือกที่จะรักษาระบบนี้ไว้มากกว่าทำนโยบายเพื่อส่วนรวม ส่วนหนึ่งเพราะมีผลประโยชน์และตําแหน่งหน้าที่ในรัฐบาลและระบบราชการเป็นการตอบแทน ผลคือศักยภาพของประเทศที่มีมากมายไม่ได้ถูกนํามาใช้ แต่ถูกกดทับไว้ด้วยความต้องการของคนส่วนน้อยที่ให้ความสําคัญกับการควบคุมมากกว่าประเทศก้าวหน้า เสถียรภาพมากกว่าความยุติธรรม และระบบอุปถัมภ์มากกว่าความสามารถและเหตุผล

ช่วงก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน จอห์น แอดัมส์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งประเทศ (Founding fathers) และหนึ่งในผู้ร่วมยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า มีสี่สิ่งที่ประเทศต้องมี คือ ความดีงาม (Virtue) ความซื่อสัตย์ การศึกษาของประชาชน และการบังคับใช้กฏหมาย ซึ่งทั้งหมดมาจากการทําหน้าที่ของรัฐบาล ถ้าประเทศไม่มีสี่สิ่งนี้ ประเทศก็จะไม่สามารถไปต่อได้ เป็นข้อคิดที่ดีมาก และประเทศเราตอนนี้ก็กําลังขาดสี่สิ่งนี้ และถ้าไม่แก้ไข ประเทศเราก็จะไปต่อไม่ได้เช่นกัน แต่การแก้ไขรัฐบาลล้มเหลวนั้นยากมาก และจะไม่เกิดขึ้นจากกลุ่มบุคคลที่มีอํานาจในปัจจุบัน เพราะประวัติศาสตร์ชี้ว่า กลุ่มที่ได้ประโยชน์จะไม่ปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีอยู่ และการเลือกตั้งคราวหน้าไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร ทุกอย่างก็จะยังเหมือนเดิม ยกเว้นทางเลือกในระบบประชาธิปไตยเปลี่ยนไป มีคนนอกระบบอํานาจปัจจุบันและประชาชนจํานวนมากเข้ามามีส่วนร่วม นั้นคือภาคประชาชน ที่จุดพลุการเปลี่ยนแปลง และพร้อมทําในสิ่งที่รัฐบาลล้มเหลวไม่ทํา

นี่คือความเป็นไปได้ที่ซ่อนอยู่ คือพลังของภาคประชาชน หรือภาคประชาสังคม ที่สามารถเป็นเมล็ดพันธุ์ให้กับการเปลี่ยนแปลง และปัจจุบันเราก็เห็นบทบาทของพลังเหล่านี้มากขึ้นทั้งในระดับประเทศและชุมชน ที่เข้ามาช่วยเปลี่ยนแปลงแก้ไขและเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปในสังคม เพื่อให้ความเป็นอยู่ของคนในประเทศดีขึ้น เป็นพลังบริสุทธิ์ของคนที่ต้องการทําเพื่อสังคมทําเพื่อส่วนรวม มองการเมืองว่าเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของคนในสังคม ที่ส่วนรวมควรเข้ามามีบทบาทในเรื่องที่เป็นของส่วนรวมอย่างที่ควรจะเป็น ขับเคลื่อนด้วยวัฒนธรรมสังคมที่ไม่เพิกเฉยแต่กล้าที่จะมีส่วนร่วมเพื่อให้ประเทศดีขึ้น ไม่ใช่ด้วยการต่อต้านแต่ด้วยการประสานความร่วมมือกับทุกส่วน ทุกภูมิภาค ทุกวัย ไม่ใช่ด้วยการวิจารณ์โจมตี แต่ด้วยการสร้างเป้าหมายและฉันทามติร่วมกันถึงประเทศไทยที่ทุกคนอยากเห็น ที่เติบโต เป็นธรรม ให้โอกาส เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเข้มแข็งในการบังคับใช้กฏหมาย ทั้งหมดจะนําไปสู่รัฐบาลที่ไม่ล้มเหลวและตรงกับที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการ

นี่คือสิ่งที่รออยู่ ประเทศไทยจึงไม่ใช่รัฐล้มเหลว เพียงแต่รัฐบาลล้มเหลว การเปลี่ยนแปลงจึงต้องเกิดขึ้น ไม่ให้ประเทศจมอยู่กับการเป็นประเทศที่ตํ่ากว่าศักยภาพ ที่คนไทยทั้งประเทศเสียโอกาส

เขียนให้คิด

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.