‘สมศักดิ์’ ลงพื้นที่นครพนม ลุยฉีดวัคซีนป้องกัน ‘ไข้เลือดออก’ ให้เด็ก 7-10 ปี กว่า 1.5 หมื่นคน
GH News April 28, 2025 06:41 PM

เมื่อวันที่ 28 เมษายน ที่อาคารศรีโคตรบูรณ์ มหาวิทยาลัยนครพนม จ.นครพนม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะฯ ปฏิบัติราชการลงพื้นที่ตรวจราชการในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 (นครพนม สกลนคร และมุกดาหาร) โดยลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานดูแลระยะยาวผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care : LTC) ที่ได้รับการดูแล ณ ศูนย์ดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิง (LTC) โรงพยาบาลโพนสวรรค์ และเป็นประธานเปิด “โครงการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกเดงกีในเด็กอายุ 7-10 ปี”

นายสมศักดิ์ เปิดเผยว่า โรคไข้เลือดออกยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญสำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้เน้นย้ำให้ดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมโรคที่มีอยู่แล้วให้เข้มข้น นอกจากนี้มีนโยบายเพิ่มมาตรการป้องกันและควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ ได้แก่ การสนับสนุนให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกเดงกีที่มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย ความสำคัญของ “โครงการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกเดงกี ในเด็กอายุ 7-10 ปี” ที่ จ.นครพนม เป็นส่วนหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ เพื่อผลักดันในการนำวัคซีนไข้เลือดออกมาใช้ในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า วัคซีนไข้เลือดที่ใช้ในการรณรงค์ในครั้งนี้ เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (live attenuated vaccine) เป็นวัคซีนมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย ปัจจุบันวัคซีนชนิดนี้ได้รับการอนุมัติขึ้นทะเบียนมาแล้วกว่า 40 ประเทศทั่วโลก มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 10 ล้านกว่าโดส รวมถึงประเทศไทยมีการใช้วัคซีนไปแล้ว 4 แสนกว่าโดส โครงการรณรงค์ในวันนี้เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน นำโดยกระทรวงสาธารณสุข สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และได้รับการสนับสนุนวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกจากบริษัท ทาเคดา ฟาร์มาซูติคัล จำกัด เป็นการผสานพลังกันในการดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างยั่งยืน โดยจะมีเด็กอายุระหว่าง 7 ถึง 10 ปี เข้าร่วมในโครงการจาก จ.นครพนม กว่า 15,000 คน

นายสมศักด์ กล่าวต่อว่า จากการติดตามการดำเนินงานดูแลระยะยาวผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care : LTC) ที่ได้รับการดูแล ณ ศูนย์ดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิง (LTC) โรงพยาบาลโพนสวรรค์ ต้องบอกว่าจังหวัดนครพนมดำเนินการบริหารจัดการจัดกองทุน LTC ได้เข้มแข็งมาก “กองทุน LTC” คือ กองทุนที่ดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุข สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงและบุคคลที่มีภาวะพี่งพิง เพื่อให้ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่มีภาวะพึ่งพิง ที่เป็นประชาชนคนไทยทุกสิทธิและทุกกลุ่มวัยได้รับการบริการด้านสาธารณสุขตามชุดสิทธิประโยชน์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบต. เทศบาล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. มีสหวิชาชีพ แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด แพทย์แผนไทย ผู้จัดการการดูแลผู้ป่วยครบทุกหน่วยบริการ

“จุดเด่นของศูนย์ดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิง โรงพยาบาลโพนสวรรค์ ก็คือ มีศูนย์ชีวาภิบาลที่ดูแลผู้ป่วยภาวะพึ่งพิง ผู้ป่วยระยะท้ายแบบ One Stop Service ดูแลผู้สูงอายุติดสังคมเพื่อไม่ให้เข้าสู่ภาวะผู้ป่วย มีการประเมินสุขภาพจิตผู้สูงอายุที่มีภาวะสุขภาพทางจิต ใช้ “นวัตกรรมการวางแผนการตายดี” และแผนการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยภาวะพึ่งพิงทุกราย รวมถึงการเป็นแหล่งเรียนรู้ของเจ้าหน้าที่ และที่ศึกษาดูงานจากหน่วยงานหลายแห่ง โดยได้รับโล่โมเดลนวัตกรรมการออกกำลังกายยามนึ่งข้าวโดยใช้ผ้าขาวม้า (ตามบริบทของสังคมอีสาน) ดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงให้มีคุณภาพชีวิตดีเด่น ระดับจังหวัด ปี 2566 และได้รับรางวัลชนะเลิศนวัตกรรมการดูแลผู้ป่วยประคับประคอง (Palliative Care Cancer) ในปี 2567 และโล่รางวัลบุคลากรที่ขับเคลื่อนนโยบายและให้การสนับสนุนการดำเนินงานด้านการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุดีเด่น ระดับประเทศ กรมอนามัย ปี 2567” นายสมศักด์ กล่าว

นายสมศักด์ กล่าวต่อว่า การดำเนินภารกิจตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ในเรื่องวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส เอชพีวี (HPV) จ.นครพนม ได้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องจนได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ ผลการดำเนินงานฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวียอดเยี่ยม ในกิจกรรมเชิดชูเกียรติ และขอบคุณภาคีเครือข่าย “1-M doses HPV Vaccine: Together We Succeed” เป็นความสำเร็จก่อนครบกำหนด 100 วัน ในปี 2567 การคัดกรองไวรัสตับอักเสบบี และซี ปี 2567 ได้รับโล่รางวัลระดับดีเด่น 1 ใน 24 แห่งของประเทศ การขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกล NCDs มีการจัดตั้ง NCDs remission clinic ใน รพท. 1 แห่ง (100%), รพช. 11 แห่ง (100%), รพ.สต. 151 แห่ง (100%) จัดตั้ง NCDs Prevention Center ใน สสอ. 12 แห่ง (100%) จัดตั้งศูนย์คนไทยห่างไกล NCDs 153 แห่ง (100%) มีการบูรณาการร่วมกับ NCDs Clinic ในการชะลอไตเสื่อมในผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง รวมทั้งขับเคลื่อนการดำเนินงานลดการบริโภคเกลือและโซเดียม ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยความร่วมมือของภาคีเครือข่าย

ด้านการดำเนินงานตามนโยบาย “4ค ไม่คอย NCDs” ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนากฎหมายสนับสนุนเครือข่ายสุขภาพภาคประชาชน พรบ.อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อส่งเสริมงานสุขภาพเชิงรุกในชุมชนต่อสู้กับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งจังหวัดนครพนมได้ดำเนินการยกระดับ ศสมช. เป็นศูนย์ปฏิบัติการ NCDs ประจำหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน และมีศูนย์ปฏิบัติการฯ ต้นแบบ 1 หน่วยบริการ 1 ศูนย์ต้นแบบ มี อสม.ปฏิบัติงานในศูนย์ โดยผลการดำเนินงาน 163 ศูนย์ปฏิบัติการต้นแบบครบทุกหน่วยบริการ “อสม.นับคาร์บตนเอง ร้อยละ 99.97” ประชาชน อายุ 10 ปีขึ้นไป ได้รับคำแนะนำการนับคาร์บ ร้อยละ 91.16 ซึ่งการขับเคลื่อนตามนโยบายดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ทำให้ อสม. และประชาชนมีความรู้ในการปรับพฤติกรรมการกินแบบนับคาร์บ ร่วมกับการออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยให้มีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน ลดการเกิดผู้ป่วย NCDs รายใหม่ ส่วนผู้ที่ป่วยแล้วก็สามารถควบคุมโรคได้ดี ชะลอการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ ทั้งนี้ จังหวัดนครพนม มี อสม.ดีเด่นระดับชาติ 3 สาขา คือ ในปี 2567 มีสาขาโรคไม่ติดต่อ สาขาส่งเสริมสุขภาพ และในปี 2568 สาขาทันตสุขภาพ

สำหรับการดำเนินงานตามนโยบายด้านการแพทย์แผนไทย (เพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจสุขภาพ Medical & Wellness Hub) เพื่อยกระดับเพิ่มโอกาสสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนและประเทศ ผ่านการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มทางด้านการแพทย์ ทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย ภูมิปัญญาไทย สมุนไพรไทย ผลิตภัณฑ์สุขภาพ นวดสปา การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จังหวัดนครพนมมีผลงานเด่นและรางวัลแห่งความภาคภูมิใจ โดยคว้ารางวัลพื้นที่ต้นแบบดีเด่นแห่งชาติด้านการแพทย์แผนไทย ระดับเพชร ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม และโรงพยาบาลนครพนม ในปี 2567 และในปี 2568 รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ระดับเขต ประเภทโรงพยาบาลชุมชน ได้แก่ โรงพยาบาลบ้านแพง และรางวัลพื้นที่ต้นแบบบชมรมผู้สูงอายุด้านการแพทย์แผนไทย รองชนะเลิศอันดับ 1 ระดับเขต ได้แก่ ชมรมผู้สูงอายุตำบลโนนตาล อ.ท่าอุเทน

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.