แพทย์ชี้ ตัวร้อน ‘ไข้’ กับ ‘ฮีตสโตรก’ ไม่เหมือนกัน เผยกี่องศาร่างกายเข้าสู่เส้นตาย
GH News April 28, 2025 07:40 PM

แพทย์ชี้ ตัวร้อน ‘ไข้’ กับ ‘ฮีตสโตรก’ ไม่เหมือนกัน เผยกี่องศา ร่างกายเข้าสู่เส้นตาย

ฤดูร้อนของประเทศไทยเป็นสิ่งที่ “ไม่ควรประมาท” อย่างยิ่ง โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้ที่มีโรคประจำตัว และผู้สูงอายุ ที่ต้องเผชิญกับ “อุณหภูมิ” ที่สูงขึ้น ซึ่งบางครั้งการหลบอยู่ในร่ม งดทำกิจกรรมกลางแจ้งอาจจะไม่เพียงพอ แต่ควรจะรวมไปถึงการดูแลสุขภาพอย่างการกินน้ำให้เพียงพอ เลี่ยงการทานน้ำเย็นจัด ด้วย

ทว่า ร้อนแค่ไหนถึงกระทบต่อร่างกาย และส่งผลกระทบอย่างไรกับร่างกายบ้างนั้น

ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช แพทย์เวชปฏิบัติทางประสาทวิทยาที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษด้านสมองและความผิดปกติทางประสาทวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจผ่านเฟซบุ๊ก “สาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์” ระบุว่า

ร้อนแค่ไหน ถึงร่างกายพัง : อุณหภูมิภายนอก, อุณหภูมิกาย, และการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิต มนุษย์และสัตว์ต่างต้องต่อสู้กับสิ่งเดียวกันเสมอมา คือปรับตัว และต่อสู้ กับสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาชีวิต

อุณหภูมิ — คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงภายนอก แต่มีผลต่อการทำงานของเซลล์ ร่างกายต้แงปรับระบบ ให้คุมอุณภูมิในร่างกายได้ โดยไม่เปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม ที่ไม่เอื้อต่อการคงอยู่

ทำไม “ความร้อน” ถึงอันตราย เราต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจ 2 สิ่งสำคัญนี้ก่อน ประกอบด้วย

1. อุณหภูมิภายนอก vs อุณหภูมิร่างกาย
• อุณหภูมิภายนอก (Environmental Temperature)
คือ อุณหภูมิของสภาพแวดล้อมรอบตัว เช่น อากาศ, พื้นผิวถนน, ห้องที่เราอยู่
• อุณหภูมิร่างกาย (Core Body Temperature)
คือ อุณหภูมิภายในร่างกายมนุษย์หรือสัตว์ ซึ่งปกติของมนุษย์จะอยู่ที่ 36.5–37.5°C

ร่างกาย เซลล์ เราทำงานหนักมากเพื่อ “ตรึง” อุณหภูมิภายในให้นิ่ง ไม่ว่าภายนอกจะร้อนหรือเย็นเพียงใด เพราะแม้เบี่ยงเบนเพียงเล็กน้อย เซลล์อาจจะหยุดทำงาน อวัยวะเจ๊ง เรียกว่า หมายถึงชีวิต

2. ความร้อนอันตราย ร่างกายมีศูนย์ปรับความร้อนอุณหภูมิกาย แต่เราต้องรู้ว่า คำว่า “ตัวร้อน” อุณภูมิกายสูงขึ้น จาก Heat Stroke กับ ไข้ Fever ไม่เหมือนกัน!

Fever (ไข้)
เกิดจาก “ระบบภูมิคุ้มกัน” ของร่างกายตั้งใจ ยกระดับอุณหภูมิตนเอง เพื่อสู้กับเชื้อโรค เช่น ไวรัส แบคทีเรีย
• มีการควบคุม เช่น มีไข้ 38-39°C แต่ร่างกายยังสั่งเหงื่อออกหรือหนาวสั่นเพื่อควบคุม
• เกิดจากภายในร่างกายเอง (ระบบ hypothalamus ตั้งค่าใหม่)

ส่วน Heat Stroke (ลมแดด)
เกิดจาก สิ่งแวดล้อมร้อนจัด บวกกับร่างกายระบายความร้อนไม่ทัน
• สูญเสียการควบคุม: เหงื่อหยุดไหล, ตัวแดงแห้ง, สมองล้มเหลว
• อุณหภูมิร่างกายทะยานขึ้น เกิน 40°C แบบควบคุมไม่ได้
• เป็น ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ ต้องรีบลดอุณหภูมิทันที ไม่งั้นตายได้ในเวลาไม่นาน

3. อุณหภูมิภายนอกที่อันตรายต่อมนุษย์ 
• 30–35°C: เริ่มเหนื่อยง่าย ต้องดื่มน้ำมากขึ้น
• 35–40°C: เสี่ยงเป็นลมแดด, ตะคริวจากความร้อน
• 40–45°C: ถ้าอยู่นานๆ หรือทำงานหนัก → เสี่ยง Heat Stroke
• >45°C: อันตรายสูงถึงชีวิตในเวลาเพียงไม่กี่สิบนาที
ความชื้นสูง ทำให้การระบายเหงื่อลดลง → ร้อนยิ่งกว่าที่อุณหภูมิแสดง!

รายละเอียดคือ
1. อุณหภูมิ 30–35°C: ร่างกายเริ่มทำงานหนัก
• อาการ: เหงื่อออกง่าย เหนื่อยล้า หัวใจเต้นเร็ว
• ระบบที่กระทบ: ระบบประสาทอัตโนมัติเริ่มทำงานเต็มที่เพื่อระบายความร้อน (เช่น เหงื่อออก, หลอดเลือดขยาย)
• ความเสี่ยง: ยังไม่อันตรายถ้าไม่เสียเหงื่อมากเกินไปหรือขาดน้ำ

2. อุณหภูมิ 35–40°C: กลไกระบายความร้อนเริ่มล้า
• อาการ: คลื่นไส้ เวียนหัว เป็นตะคริวจากความร้อน (Heat Cramps)
• อวัยวะ: กล้ามเนื้อขาดน้ำและแร่ธาตุ
• ระบบที่กระทบ: สมองเริ่มตอบสนองช้าลง หัวใจทำงานหนักขึ้น
• ความเสี่ยง: เริ่มเสี่ยง Heat Exhaustion ถ้าอยู่กลางแดดหรือทำงานหนัก

3. อุณหภูมิ 40–45°C: เส้นบางๆ ระหว่าง “ล้า” กับ “ล้ม”
• อาการ: ผิวหนังร้อนจัด แดงแต่แห้ง เหงื่อหยุดไหล ตัวสั่น สับสน หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ
• อวัยวะ: สมองบวม, หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน, ไตเริ่มพังจากการขาดน้ำ
• ระบบที่กระทบ: ระบบประสาทส่วนกลางล้มเหลว (Heat Stroke)
• ความเสี่ยง: เสี่ยงต่อการเสียชีวิตในเวลา ไม่กี่ชั่วโมง ถ้าไม่รีบรักษา
เกณฑ์สำคัญ: ถ้าอุณหภูมิร่างกาย (core body temperature) เกิน 40°C ถือเป็นภาวะฉุกเฉิน (Medical Emergency)

4. อุณหภูมิ 45–50°C: เขตแดนแห่งความตาย
• อาการ: หมดสติ, ชัก, หัวใจหยุดเต้น, ตับและไตวาย
• อวัยวะ: โปรตีนในเซลล์เริ่มสลายตัว (Denaturation) เหมือนไข่ขาวสุก
• ระบบที่กระทบ: ระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
• ความเสี่ยง: การอยู่ในอุณหภูมินี้แม้เพียง 10–30 นาที ก็สามารถทำให้เสียชีวิตได้

5. มากกว่า 50°C: ร่างกายไม่สามารถอยู่รอดได้
• อาการ: ตายภายในเวลาอันสั้น
• อวัยวะ: เซลล์ทั่วร่างกายถูกทำลายอย่างรวดเร็ว
• ระบบที่กระทบ: สูญเสียความสามารถในการรักษาสมดุลทุกระบบ
• ตัวอย่าง: ในห้องซาวน่าร้อนจัด (เช่น 80–100°C) ผู้คนทนได้เพราะเวลาอยู่สั้นและมีการระบายเหงื่อ แต่ในสภาพกลางแจ้งที่ไม่มีการควบคุมความชื้นและน้ำดื่ม ความตายเกิดขึ้นได้รวดเร็วกว่า

4. ทำไมสัตว์บางชนิดทนร้อนได้ดีกว่าเรา?
โลกนี้มีสัตว์แบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ ตามวิธีจัดการอุณหภูมิร่างกาย:

4.1 สัตว์เลือดอุ่น (Warm-Blooded Animals)
• เช่น มนุษย์, นก, สุนัข, วาฬ
• รักษาอุณหภูมิร่างกายให้คงที่เองได้ ไม่ว่าสภาพแวดล้อมจะเปลี่ยน
• ใช้พลังงานมหาศาลในการสร้างความร้อนภายใน (เช่น เหงื่อออก, หอบ, สั่น)

ข้อดี: เคลื่อนไหวได้เร็วตลอดเวลา ไม่ต้องพึ่งสภาพแวดล้อม
ข้อเสีย: ต้องการอาหารและน้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาความร้อน

4.2 สัตว์เลือดเย็น (Cold-Blooded Animals)
• เช่น งู, กิ้งก่า, เต่า, ปลา
• อุณหภูมิร่างกายขึ้น-ลงตามสิ่งแวดล้อม
• แทบไม่ต้องใช้พลังงานสร้างความร้อนเอง

ข้อดี: ประหยัดพลังงาน กินอาหารน้อย อยู่ได้ในสภาพแวดล้อมสุดขั้ว
ข้อเสีย: เคลื่อนไหวช้าเมื่ออากาศเย็น และอาจตายได้เมื่อร้อนหรือเย็นเกินไป

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.