“สุริยะ - มนพร” ลงพื้นที่ “นครพนม” ประชุมร่วมภาครัฐ - เอกชน ผนึกกำลังลุยทุกโปรเจกต์ มุ่งยกระดับภาคคมนาคม และเสริมแกร่งเศรษฐกิจภาคอีสาน พร้อมเตรียมประสานความร่วมมือ สปป.ลาว ร่วมสร้างโอกาสให้ประชาชน
วันนี้ที่ 28 เมษายน 2568 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่จังหวัดนครพนม ร่วมกับ นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม และผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ว่า ด้วยคณะรัฐมนตรีกำหนดจัดประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2568 ณ จังหวัดนครพนม พร้อมทั้งได้ลงพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 (สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร) เพื่อติดตามการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคมขนส่ง โดยในวันนี้ได้รับทราบข้อมูลโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 223 ตอนอำเภอนาแก - บ้านต้อง อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ของกรมทางหลวง (ทล.) เป็นทางหลวงในแนวตะวันตก - ตะวันออก เชื่อมต่อจังหวัดสกลนคร - จังหวัดนครพนม ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปยังสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร - สะหวันนะเขต) และแห่งที่ 3 (นครพนม - คำม่วน)
ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง จึงได้มอบหมายให้ ทล. เร่งดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อให้สามารถลงนามในสัญญาและเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้โดยเร็ว รวมทั้งกำกับดูแลการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด ให้สามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2570
สำหรับโครงการก่อสร้างถนนเลียบแม่น้ำโขงนาคาวิถี ช่วงสะพานมิตรภาพไทย - ลาว (แห่งที่ 2) - พระธาตุพนม ของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ซึ่งเป็นการยกระดับถนนเพื่อการท่องเที่ยวและเส้นทางชุมวิวทิวทัศน์เลียบริมฝั่งแม่น้ำโขง ได้มอบหมายให้ ทช. กำกับดูแลการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด สามารถเปิดให้บริการในปี 2570 กรณีประสบปัญหาในการดำเนินการ ให้เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนเพื่อสร้างความเข้าใจและร่วมกันแก้ไขปัญหา ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินโครงการ
ในส่วนของโครงการก่อสร้างรถไฟสายใหม่ บ้านไผ่ - นครพนม ซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพการขนส่งทางรางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้มอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเร่งรัดจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและส่งมอบพื้นที่โดยเร็ว รวมทั้งกำกับดูแลการก่อสร้างให้เป็นไปตามแผน เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการในปี 2570
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า การพัฒนาข้างต้นจะเป็นเส้นทางสายเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือนตอนบนที่สามารถเชื่อมโยงไปยัง สปป.ลาว ประเทศเวียดนาม และภาคใต้ของประเทศจีน ที่ไม่เพียงแต่สนองนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ยังส่งเสริมการเป็นประตูการค้าสู่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่จะช่วยพัฒนาพื้นที่ในทุกมิติ สร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างโอกาส เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน
นอกจากนี้ ได้ประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ตอนบน 2 (สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร) ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด และภาคเอกชน เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะต่าง ๆ และแนวทางการดำเนินงานจากทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมในจังหวัดนครพนมและพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษให้มีความสมบูรณ์ เชื่อมโยงเส้นทางการค้าระหว่างไทยและ สปป.ลาว
สำหรับโครงการปรับปรุงเส้นทางหมายเลข 12 (R12) ช่วงเมืองท่าแขก - จุดผ่านแดนนาเพ้า สปป.ลาว (โครงการ R12) ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ สปป.ลาว แล้วนั้น โดยจากการหารือในวันนี้ได้ขอความร่วมมือให้ สปป.ลาวใช้ผู้รับเหมาไทย เพื่อให้การดำเนินงานมีความต่อเนื่องและรวดเร็ว ซึ่งโครงการดังกล่าวเมื่อเสร็จสิ้นแล้วจะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนของทั้งสองประเทศอย่างมาก
นอกจากนี้ ได้ขอความร่วมมือกับกระทรวงต่างประเทศในการหารือกับ สปป.ลาว เพื่อหาแนวทางในการสร้างโอกาสให้กับประชาชนทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะภาคคมนาคมทางอากาศ ซึ่งจะสนับสนุนให้มีสายการบินราคาประหยัด (Low cost) ร่วมเสริมสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยจะใช้ประโยชน์พื้นที่สนามบินสะหวันนะเขต เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้ง 2 ประเทศต่อไป
“กระทรวงคมนาคม ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เดินหน้าพัฒนาการคมนาคมให้ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อส่งเสริมการเดินทางและการเชื่อมโยงระหว่างประเทศ ประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้น และเมื่อโครงการต่าง ๆ แล้วเสร็จจะสร้างประโยชน์สำคัญต่อประชาชนในพื้นที่ ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในระยะยาว ทั้งการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจและการค้า ช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมจากภาคอีสานไปยังประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงสนับสนุนการท่องเที่ยวในจังหวัดนครพนมและพื้นที่ใกล้เคียง และยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน เพิ่มโอกาสการจ้างงานในภาคโลจิสติกส์ การค้าชายแดน และการพัฒนาพื้นที่จังหวัดนครพนม และภาคอีสานอย่างยั่งยืน” นายสุริยะ กล่าว