หนองหารฟื้น! ‘แพทองธาร’ นำคณะลุยสกลนคร ขับเคลื่อนแผนบริหารจัดการน้ำยั่งยืน
วันที่ 28 เม.ย.68 นายสุริยพล นุชอนงค์ อธิบดีกรมชลประทาน พร้อทมด้วยนายสิทธิพร พฤติพิบูลธรรม เลขานุการกรม นายทรงพล สวยสม ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล นายภัคภาค คุณะเกษม ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 5 นายปริญญา คัชมาตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 7 ร่วมคณะนางสาวแพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนแผนพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่บึงหนองหารและการบริหารจัดการน้ำ ณ สวนสาธารณะดอนเกิน อ.เมือง จ.สกลนคร
บึงหนองหาร จังหวัดสกลนคร ถือเป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 76,322 ไร่ มีลำน้ำไหลเข้ารวม 21 สายรอบทิศทาง การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ดำเนินการโดยคณะทำงานบริหารจัดการน้ำในหนองหาร โดยมี กรมชลประทานและกรมประมงเป็นฝ่ายเลขานุการ ร่วมกันควบคุมระดับน้ำให้เป็นไปตามเกณฑ์ควบคุมน้ำ (Rule Curve) ของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อน้ำท่วมในเขตชุมชน โดยเฉพาะเทศบาลนครสกลนคร ทั้งนี้ หากมีปริมาณน้ำไหลเข้ามาก จะทำการตัดยอดน้ำผ่านร่องช้างเผือกในอัตรา 45 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยมีประตูระบายน้ำลำน้ำพุง–น้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นอาคารควบคุมหลัก พร้อมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขง
ในปัจจุบัน กรมชลประทานมีแผนดำเนินการปรับปรุงบริหารระดับน้ำในหนองหาร ควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในลำน้ำก่ำ รวมถึงการปรับปรุงพนังกั้นน้ำ การก่อสร้างแก้มลิง และระบบระบายน้ำป้องกันชุมชน เพื่อช่วยเหลือพื้นที่กว่า 24,000 ครัวเรือน พื้นที่ชลประทาน 109,000 ไร่ และพื้นที่ได้รับการป้องกันอีก 39,000 ไร่
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาความเหมาะสมในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำในลุ่มน้ำพุง–น้ำก่ำ จังหวัดสกลนครและจังหวัดนครพนม เพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งอย่างเป็นระบบ โดยสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ทรัพยากรน้ำของประเทศ ในด้านการบริหารน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและสร้างความมั่นคงของน้ำเพื่อการผลิต (เกษตรและอุตสาหกรรม) นอกจากนี้ยังมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเก็บกักน้ำสนับสนุนการอุปโภคบริโภคและการเพาะปลูกในพื้นที่ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเป็นประจำ รวมถึงการศึกษาการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งในลุ่มน้ำพุงและลุ่มน้ำก่ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการปริมาณน้ำและคุณภาพน้ำให้สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการระบายน้ำท้ายหนองหาร เสริมสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายอีกด้วย