ซีเคอร์แย้มแผนธุรกิจ หลังบริษัทแม่ จีลี กรุ๊ป เร่งแผนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในอาเซียน เล็งใช้ไทย-มาเลเซียเป็นฐานผลิต คาดไตรมาสสามได้ข้อสรุป เตรียมขึ้นไลน์ประกอบต้นปี 2569 มั่นใจช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน เผยค่ายรถยนต์เร่งเจรจารัฐบาลหนุนรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด จีน เก็บภาษีแบบขั้นบันได ชี้ไตรมาสสามเปิดราคาส่งมอบรถยนต์ เอสยูวี อีวีรุ่นใหม่ ZEEKR 7X ช่วยดันยอดทั้งปีขายแตะ 5,000 คัน
นายอเล็กซ์ เป่า จ้าวเฟ่ย กรรมการผู้จัดการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท ซีเคอาร์ อินเทลลิเจนท์ เทคโนโลยี จำกัด หรือซีเคอร์ (ZEEKR) เปิดเผยว่า ขณะนี้กลุ่ม Geely Holding Group ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของซีเคอร์นั้น กำลังอยู่ระหว่างเร่งศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ในประเทศไทย หรือมาเลเซีย โดยมีการเดินหน้าเจรจากับผู้ประกอบการหลาย ๆ แห่งถึงโอกาสและความเป็นไปได้ ทั้งการตั้งโรงงานประกอบ หรือจะใช้โรงงานประกอบที่มีอยู่ในปัจจุบันของมาเลเซียเพื่อใช้ในการผลิตรถยนต์
ที่สำคัญโรงงานดังกล่าวมีความเป็นไปได้ว่า Geely จะใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สำหรับการผลิตรถยนต์แบรนด์ในเครือ ซึ่งคาดว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100% (BEV) และรถยนต์เทคโนโลยีปลั๊ก-อิน ไฮบริด หรือ Extended Range Electric Vehicle (EREV) อีกหนึ่งรุ่น จากปัจจุบันรถยนต์ ZEEKR ที่จำหน่ายในประเทศไทยนั้นเป็นการนำเข้ามาจากจีน
เบื้องต้นคาดว่าความชัดเจนของโรงงานประกอบรถยนต์ในไทยหรือมาเลเซียนั้น จะชัดเจนราว ๆ ไตรมาสสาม และเริ่มผลิตได้ในปี 2569 อย่างแน่นอน
ขณะนี้ค่ายรถยนต์จีนที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย มีการรวมตัวกันในกลุ่มสมาคมการส่งเสริมการค้าและอุตสาหกรรมไทย-จีน ที่มีสมาคมเป็นค่ายรถยนต์, ผู้ผลิตชิ้นส่วน และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้มีการหารือถึงแนวคิดที่ต้องการนำเสนอรถยนต์พลังงานปลั๊ก-อิน ไฮบริด เพื่อเจรจากับภาครัฐ เพื่อดูเงื่อนไขทางด้านภาษีเป็นแบบขั้นบันได โดยดูจากอัตราการปล่อยค่าไอเสีย ตรงนี้เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในการนำเสนอกับภาครัฐต่อไป
ปัจจุบันการจัดเก็บภาษีรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด จากจีนมีอัตราค่อนข้างสูง โดยเสียภาษีสรรพสามิตในอัตรา 25% ภาษีนำเข้าอีก 50% ซึ่งถือว่าสูงมาก หากเทียบกับการนำเข้าจากโรงงานประกอบที่มาเลเซียภาษีจะเป็น 0% ตามภาษีอาฟต้า นอกจากนี้ ยังมีการหารือกันถึงแนวคิดที่จะขยายการสนับสนุนจากมาตรการอีวี 3.5 ไปเป็น 4.0 ด้วย แต่ตรงนี้ยังเป็นแค่แนวคิดเท่านั้น
นายจ้าวเฟ่ยยังกล่าวถึงภาพรวมการแข่งขันของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยนั้น ขณะนี้ปัญหาด้านการแข่งขัน โดยเฉพาะการทำสงครามราคาของผู้ประกอบการจีนนั้นจะยังคงมีต่อเนื่อง แต่ว่ามีความผ่อนคลายลงไป เนื่องจากความกดดันของสต๊อกสินค้าของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต่าง ๆ ลดลง รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการการผลิตชดเชยรถยนต์ไฟฟ้า (EV 3.0 และ 3.5) ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความผ่อนคลายมากขึ้น
โดยจะเห็นว่าในช่วงไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมา ค่ายรถยนต์ต่าง ๆ มีรถในสต๊อกค่อนข้างมาก และหลายค่ายเริ่มเคลียร์ได้ราวไตรมาสที่สองและสามที่สามารถระบายสต๊อกออกไปได้ แต่วันนี้อาจจะยังมีบางค่ายที่ไม่เข็ดและไม่สนใจกับสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งถ้ากลยุทธ์ไม่เปลี่ยนสต๊อกยังมากขึ้น สงครามราคาจะไม่จบอย่างแน่นอน แต่วันนี้ค่ายรถจีนหลาย ๆ ค่ายได้เริ่มเซตซีโร่กันไปแล้ว เชื่อว่าทุกอย่างจะเริ่มดีขึ้น
สำหรับภาพรวมของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในปีนี้ คาดว่าจะมีการเติบโตมากกว่าปีก่อนเล็กน้อย น่าจะมีความต้องการจาก 71,000 คัน เพิ่มเป็น 80,000-90,000 คัน โดยจะเห็นว่าความพิเศษของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย รถยนต์อีวีแบบเอสยูวีบางรุ่นมีราคาจำหน่ายถูกกว่ารถยนต์อีโคคาร์ และเชื่อว่าจากนี้ไปรถยนต์ไฟฟ้าจะสามารถเข้าไปสู่กลุ่มผู้บริโภคในเซ็กเมนต์ใหม่ได้กว้างขึ้น โดยค่ายรถยนต์จีนเตรียมนำรถยนต์อีวีในกลุ่มที่มีความหลากหลายมากขึ้นเพื่อทำตลาดด้วย
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 4,000-5,000 คัน จากปี 2567 ที่ผ่านมา มียอดขายที่ 1,800 คัน แบ่งเป็น รุ่น X อยู่ที่ 500 คัน และรุ่น 009 อยู่ที่ 1,300 คัน
ส่วนรถยนต์รุ่นใหม่ที่มีการรับจองล่วงหน้า อย่างรถเอสยูวี 7X พวงมาลัยขวานั้น คาดว่าจะประกาศราคาจำหน่ายอย่างเป็นทางการ และพร้อมส่งมอบให้กับลูกค้าได้ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ให้กับประเทศไทยเป็นประเทศแรกด้วย
นอกจากนี้ สาเหตุที่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าอยู่ในภาวะทรงตัวในช่วงที่ผ่านมา นอกจากปัจจัยหลักด้านความเข้มงวดของสถาบันการเงิน ไฟแนนซ์ต่าง ๆ แล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจคือ ความล่าช้าในการรออะไหล่ของรถยนต์อีวีจีนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งแตกต่างจากรถยนต์แบรนด์ญี่ปุ่นที่ทำตลาดอยู่ในปัจจุบัน แต่ทั้งนี้ คาดว่าสถานการณ์ต่าง ๆ จะเริ่มดีขึ้น เนื่องจากค่ายรถยนต์ได้รับทราบถึงปัญหาดังกล่าว และมีการปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานบริการหลังการขายอย่างต่อเนื่อง