หอการค้าไทย แสดงความห่วงกังวลต่อ Moody’s Investors Service ได้ประกาศปรับลดแนวโน้ม (Outlook) อันดับเครดิตของประเทศไทยเป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนว่าตลาดโลกเริ่มมีข้อกังวลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการคลังของไทยในระยะข้างหน้า
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยแสดงความห่วงกังวลต่อกรณีที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Moody’s Investors Service ได้ประกาศปรับลดแนวโน้ม (Outlook) อันดับเครดิตของประเทศไทยจากระดับ Stable เป็น “Negative” ซึ่งแม้จะยังไม่ได้เป็นการปรับลดอันดับเครดิตโดยตรง แต่ก็ถือเป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนว่าตลาดโลกเริ่มมีข้อกังวลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการคลังของไทยในระยะข้างหน้า
หอการค้าไทยเห็นว่าการปรับลดแนวโน้มดังกล่าวย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในระดับสากล โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และกำลังเร่งดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ การถูกตั้งข้อสังเกตจากสถาบันจัดอันดับชั้นนำอาจกระทบต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุน รวมถึงต้นทุนการกู้ยืมของประเทศในอนาคต
Moody’s ระบุเหตุผลหลักมาจากความไม่ชัดเจนด้าน วินัยการคลัง, แผนการบริหารหนี้สาธารณะ, และศักยภาพการจัดเก็บรายได้ของรัฐ ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของภาคเอกชนที่เห็นว่ารัฐบาลจำเป็นต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นด้วยการแสดงให้เห็นถึงแผนการบริหารจัดการด้านการคลังที่เป็นรูปธรรม โปร่งใส และสอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจัยภายนอกยังเพิ่มความเปราะบางให้กับระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะท่าทีของสหรัฐอเมริกาในการพิจารณาขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่ค้า ซึ่งไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกย่อมได้รับผลกระทบ หากนโยบายเหล่านั้นถูกนำมาใช้จริงในยุคของประธานาธิบดีทรัมป์ การเตรียมพร้อมและการกระจายความเสี่ยงจากตลาดดั้งเดิมจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน
แม้สถานการณ์ในบางด้านจะมีความเปราะบาง แต่หอการค้าไทยยังเชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่แข็งแรงหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาคการบริโภคภายในประเทศ การลงทุนจากภาคเอกชนที่เริ่มฟื้นตัว และอุตสาหกรรมศักยภาพใหม่ ๆ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า ดิจิทัล และเกษตรแปรรูป อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้จะเดินหน้าได้อย่างมั่นคงก็ต่อเมื่อมีความเชื่อมั่นจากต่างประเทศรองรับอยู่
ในด้านการค้าโลก หอการค้าฯ เห็นว่าหากโลกเข้าสู่ยุคของมาตรการกีดกันทางการค้ารอบใหม่ ภายใต้ทฤษฎีกาลักน้ำ ประเทศไทยต้องเร่งขยายตลาดส่งออกใหม่ ในกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพสูง เช่น อินเดีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง เพื่อชดเชยตลาดหลักที่เริ่มมีความผันผวน
ในภาพรวม หอการค้าไทยขอเน้นย้ำว่า การปรับลดแนวโน้มเครดิตไทยครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงประเด็นทางเทคนิคหรือการเงินระหว่างประเทศเท่านั้น แต่คือคำเตือนทางนโยบาย ที่สะท้อนว่าประเทศไทยจะไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นใจ หากขาดการบริหารจัดการที่รอบคอบ โปร่งใส และมีเป้าหมายชัดเจน
ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะของหอการค้าไทยฯ คือ การเร่งปรับตัวของภาคธุรกิจไทยให้พร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพแรงงาน การส่งเสริมนวัตกรรม และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากกรณีที่ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลก Moody’s Investors Service (มูดีส์) ได้ประกาศปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศไทยลงสู่ “เชิงลบ” (Negative) จากเดิมที่อยู่ในระดับ “มีเสถียรภาพ” (Stable) ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่เนื่องมาจากสงครามการค้า ทรัมป์ 2.0
อีกทั้งยังมีความเสี่ยงเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจไทยที่มีการขยายตัวต่ำและฟื้นตัวช้า ซึ่งตอนนี้ทุกคนก็มองว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะต่ำกว่า 2% และอาจจะมีความเสี่ยงที่โตต่ำกว่านั้นได้ ถ้าหากไทยโดนเก็บภาษีจากสหรัฐสูง มันก็จะเป็นกลไกที่ทำให้เศรษฐกิจทั้งโลกมีความเสี่ยงและไทยก็เจอความเสี่ยงนั้น
“จากเดิม Moody เขามองว่าตัวเครดิตเรตติ้งของไทย อยู่ที่เกตที่น่าลงทุน มันเป็นเกตที่นิ่งอยู่กับที่ ไม่มีแนวโน้มในการปรับเปลี่ยน แต่ตอนนี้ปัจจุบันเรามีความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจที่เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวต่ำ จึงประกาศปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศไทยลงสู่ “เชิงลบ” (Negative)”
ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศที่เป็นเศรษฐกิจเปิด มีมูลค่าการค้าขายระหว่างประเทศทั้งสินค้าบริการประมาณ 125% ของ GDP ดังนั้นไทยจึงหลีกเลี่ยงผลกระทบไม่ได้ ทาง Moody มองไทยมีความเสี่ยง และมีความเสี่ยงที่จะตกชั้น อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าเราจะตกชั้น และไม่น่าลงทุน เพราะไทยมีความเข้มแข็งทางการคลังก็คือมีหนี้สาธารณะต่ำ เศรษฐกิจไทยก็ยังมีสัญญาณโตบวก และยังมีโอกาสที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการต่าง ๆ ได้ และคิดว่าสถานการณ์ดังกล่าวไม่กระทบการลงทุน
“เรื่องเกิดขึ้นคือทุกคนมองเราด้วยความสบายใจน้อยลง ฉะนั้นมันอาจจะมีผลกระทบบ้างต่อการที่จะระดมทุนออกตราสารระหว่างประเทศ อาทิ การออกพันธบัตรรัฐบาลในต่างประเทศอาจจะมีดอกเบี้ยที่สูงขึ้น แม้ไทยอยู่ในอินเวสเมนต์เกตก็จริง แต่มีโอกาสที่จะหลุดชั้น แต่ไม่เป็นปัญหาหรืออุปสรรค ไทยก็ยังเป็นประเทศที่น่าลงทุน ฉะนั้นก็เป็นข้อที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมีมาตรการเสริมสิทธิทางเศรษฐกิจไทย”